xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจพ่นพิษคนทำบุญวันสำคัญน้อยลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ข้าวยากหมากแพง กระทบถึงการทำบุญวาระสำคัญต่างๆ ลดปริมาณลง แต่การทำบุญตักบาตร ประชาชนยังมีศรัทธาที่เหนียวแน่นที่จะสืบทอดรักษาพระพุทธศาสนาไว้อย่างมั่นคง
อุบลราชธานี - พิษเศรษฐกิจขยายวงกว้างสู่รั้ววัด คนเมินทำบุญที่ฟุ่มเฟือย ทั้งขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญวันเกิด หรือการส่งลูกหลานเข้าบวชเรียน เหตุสังคมเปลี่ยนแปลงและประชาชนเผชิญพิษค่าครองชีพ ต้องรัดเข็มขัดให้แน่นขึ้น แต่อย่างไรชาวพุทธก็ยังศรัทธาในเรื่องการตักบาตรภิกษุสงฆ์-สามเณรอยู่

พระครูสารกิจโกศล รองอธิการบดีวิทยาลัยสงฆ์วิทยาเขตอุบลราชธานี กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจกับการทำบุญของพุทธศาสนิกชนว่า การทำบุญตักบาตรแด่ภิกษุสงฆ์สามเณร โดยฆราวาสจังหวัดอุบลราชธานี มักจะประสบปัญหาในช่วงเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องถึงเดือนมิถุนายน เพราะผู้ปกครองมีรายจ่ายเรื่องค่าเล่าเรียนศึกษาของบุตรหลาน

สำหรับในปีนี้ที่ภาวะค่าครองชีพสูงสินค้ามีราคาแพงขึ้น ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก การทำบุญตักบาตรตอนเช้า ภิกษุสงฆ์สามเณรยังคงได้รับบาตรเท่าเดิม แต่มีผลกระทบด้านการทำบุญที่นอกเหนือจากการทำบุญตักบาตร คือ ประชาชนลดการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญวันเกิด รวมทั้งการบวชลูกหลาน

สาเหตุที่ทำให้คนทำบุญเหล่านี้น้อยลงเพราะสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงและประสบปัญหาครอบครัวขาดความอบอุ่น จึงเริ่มเหินห่างประเพณีการทำบุญในวาระสำคัญต่างๆ ประกอบสถานการณ์เศรษฐกิจฝืดเคือง ค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นมาก และการถวายปัจจัยที่เคยทำมากก็ลดลงเหลือเพียง 100-200 บาท

“ขณะนี้ตามวัดในชนบท มีแต่พระชราจำวัดอยู่วัดละ 1-2 รูป และบางวัดก็ไม่มีพระจำพรรษาอยู่เลย ส่วนพระรุ่นใหม่แทบไม่มี เพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านสังคมที่มีสิ่งยั่วมาก จึงมีผู้นิยมบวชน้อย และผู้บวชส่วนใหญ่ก็เดินทางเข้ามาศึกษาในเมือง ทำให้วัดตามชนบทถูกทิ้งร้างอยู่บางส่วน”

ด้าน ดร.พระมหาศิริวัฒน์สิริวฑุฒโน พระนักเทศน์วัดมหาวนาราม กล่าวว่า ตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกันอยู่ ความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่สืบต่อกันมาก็ยังเหนียวแน่น แม้การทำบุญทุกวันนี้ ผู้ทำบุญอาจคิดหนักในเรื่องการบริจาคทาน เพราะค่าครองชีพคือมีรายได้เท่าเดิม แต่ซื้อสินค้าได้น้อยลง ประชาชนก็เลยต้องคิดมากในการทำบุญแต่ละครั้ง ชาวบ้านก็ยังศรัทธาออกมาตักบาตร ยังเชื่อในเรื่องของผลบุญผลกรรมที่ทำอยู่

โดยเฉพาะตามชนบทชาวบ้านยังคงถือปิ่นโตไปร่วมถวายเพลแด่ภิกษุสงฆ์สามเณร ดังนั้นถึงแม้เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ชาวพุทธก็ยังมีความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาอยู่ต่อไป

ด้าน นางจิตรา สงวนทอง วัย 67 ปีกล่าวในเรื่องเดียวกันว่า จะตักบาตรสัปดาห์ละ 4-5 วัน โดยเฉพาะวันพระ การใส่บาตรส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียว หรือช่วงที่พิเศษก็จะมีกับเพิ่มให้อีก 1 อย่าง หรือเป็นขนมใช้ขบเขี้ยว ไม่ได้ลดปริมาณของใส่บาตร แต่จำกัดปริมาณการตักบาตรเช่นเคยตัก 20 รูป ก็เหลือ 10 รูปตามจำนวนของที่เตรียมไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น