xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน การเข้ามาของพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์และศาสนาอิสลาม การเข้ามาของพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ริคเลฟส และคณะเชื่อว่าหลังจากพ.ศ.1543 (ค.ศ.1000) ลังกากลายเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พุทธศาสนาแบบเถรวาทแทนอินเดีย รัฐฮินดู-มหายานในแหลมมลายูเริ่มรับเถรวาทแบบลังกามาประมาณ พ.ศ.1643 (ค.ศ.1100) และรับทั้งหมดประมาณพ.ศ.1943 (ค.ศ.1400) [Ricklefs et al. 2010] ในปีพ.ศ.1613 พระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 สามารถขับไล่พวกโจฬะออกไปจากศรีลังกา และเริ่มทำการปฏิรูปพระพุทธศาสนาและเริ่มส่งพระภิกษุไปเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเถรวาทในอุษาคเนย์รวมทั้งศรีวิชัยที่เพิ่งขับไล่โจฬะออกไปเช่นกัน ต่อมาขัดแย้งกับพวกมอญเลยส่งกองทัพเรือบุกปัพพาละที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน [Culavamsa 60: 5-8; Gal Vihara Inscription EZ vol. 2] จารึกของพระนางสุนทรามหาเทวีพระมเหสีของพระเจ้าวิกรมพาหุที่ 1 (พ.ศ.1654-1675) แห่งอาณาจักรสิงหลในลังกากล่าวว่าได้ส่งพระภิกษุอานนท์ไปเมืองตามพรลิงค์เพื่อชำระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ [Sirisena 1978] ต่อมาพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 (พ.ศ.1696-1729) ได้เริ่มฟื้นฟูพุทธศาสนานิกายเถรวาทลดความสำคัญของพุทธศาสนามหายานและฮินดูลงและให้พระภิกษุมหายานในศรีลังกาบวชใหม่เป็นพระเถรวาท [Culavamsa 73: 12-22] และเอกสารปุจฉาวลีของศรีลังกากล่าวว่าพระองค์นิมนต์พระเถระธัมมกิตติจากตามพรลิงค์มาศึกษานิกายเถรวาทที่ศรีลังกา [Munro-Hay 2001; Sirisena 1978] ซึ่งหลักฐานฝ่ายลังกามีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าชาวตามพรลิงค์ได้เปลี่ยนจากการนับถือฮินดูและพุทธศาสนามหายานมาเป็นพุทธศาสนาเถรวาท

ซึ่งความจริงพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาไปถึงพัทลุงไม่ใช่แค่นครศรีธรรมราช ในปีพ.ศ.1799 (ค.ศ.1256) พระร่วงแห่งสุโขทัยและสิริธรรมนครส่งทูตไปศรีลังกาไปขอพระราชทานพระพุทธรูป กษัตริย์ศรีลังกาก็ประทานมาให้แต่เรือล่มน่าอัศจรรย์ที่พระพุทธรูปยังอยู่ พระร่วงจึงอัญเชิญพระพุทธรูปกลับสุโขทัยแต่หลักฐานฝ่ายลังกาไม่ยืนยัน แม้ไม่มีหลักฐานจารึกภาษาสิงหลใน จ.นครศรีธรรมราช แต่มีหลักฐานยืนยันว่าชาวลังกาได้มาอยู่ที่นครศรีธรรมราชจากการขุดพบพระพุทธรูปลังกาทำด้วยหินสีเขียวคล้ายมรกต 1 องค์ในปี พ.ศ.2475 ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝีมือของชาวลังกาสมัยนั้นที่บริเวณพระพุทธบาทจำลองในวัดพระมหาธาตุฯ ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ได้เก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนั้นประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 16 พุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์น่าจะเข้ามาสู่ตามพรลิงค์ในสมัยที่ราชวงศ์เมาลิแห่งศรีวิชัยและศรีลังกาขับไล่โจฬะออกไป การที่โจฬะหมดอิทธิพลในมหาสมุทรอินเดียทำให้การเดินทางติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างศรีลังกากับแหลมมลายูสะดวกขึ้นโดยไม่มีกองเรือทมิฬรบกวน พระจากศรีลังกาสามารถเดินทางมาที่ตะกั่วป่าหรือเคดาห์แล้วเดินทางบกข้ามมาตามพรลิงค์หรือไม่ก็เดินเรืออ้อมสิงคโปร์มาตามพรลิงค์ การเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์น่าจะเกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนผ่านจากตามพรลิงค์สู่นครศรีธรรมราช ศรีลังกาส่งบรรณาการให้ศรีวิชัยตามบันทึกจูฟ่านจื้อและต้าเต๋อหนานไห่จื้อ

เนื่องจากตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช เขียนขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงขัดกับเอกสารจีนและศรีลังกาและศิลาจารึกท้องถิ่นพอสมควร หลังจากอ่านตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราชแล้ว มีนักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าอาณาจักรสิงหลในลังกาเคยปกครองตามพรลิงค์ในระหว่างปีพ.ศ.1673-1719 [Munro-Hay 2001; Rajani 1976; Jacq-Hergoual’ch 2002; 2004] แต่ไม่มีหลักฐานจากทางลังกาว่าศรีลังกาเคยโจมตีเมืองตามพรลิงค์นอกจากโจมตีอาณาจักรพุกามโดยโจมตีอดีตเมืองศรีวิชัยริมชายฝั่งอันดามันอย่างปับพาละในสมัยพระเจ้าวิขัยพาหุที่ 1

การเข้ามาของศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลามจากตะวันออกกลางและเมืองท่าชายฝั่งอินเดียเผยแผ่เข้ามาในเกาะสุมาตราก่อนแหลมมลายู พ่อค้าอินเดียจากคุชราตภายใต้อิทธิพลของสุลต่านแห่งเดลีเป็นคนเผยแพร่ศาสนาอิสลามในสุมาตรา และมีลัทธิฮานาฟิยะห์จากโจฬะมณฑลเข้ามาด้วยเพราะคุมเส้นทางการค้า [Desai 2013] กษัตริย์อาเจะห์ ปาไซ บารุสตามชายฝั่งเกาะสุมาตรา ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเพื่อขยายการค้ากับโลกมุสลิมในอินเดีย เปอร์เซียและตะวันออกกลางเพื่อความมั่งคั่งและผลประโยชน์ทางการค้า แต่ประชากรตอนในยังนับถือผี พุทธและพราหมณ์อยู่ เมืองชายฝั่งทะเลเจริญกว่าแต่ยังต้องหาของป่าเป็นสินค้าจากตอนในเกาะมาค้าขาย กษัตริย์นี้อาศัยศาสนาพราหมณ์ พุทธและอิสลามมาสร้างเกียรติให้กับตน เมืองเหล่านี้สามารถสร้างเครือข่ายทางการค้าที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางเผยแผ่ศาสนาอิสลามที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองปาไซก่อตั้งราวปีพ.ศ.1793 และสารานุกรมสือหลินกว๊างจี๊ (事林廣記) ในหมวดเต้าอี้จาจื้อ (島夷杂志) ซึ่งต่อไปจะเรียกว่าเต้าอี้จาจื้อในปีพ.ศ.1813 ได้บันทึกชื่อเมืองอารูนที่อยู่ใกล้ปาไซออกจากสมาพันธรัฐศรีวิชัย และผู้ปกครองหันไปนับถืออิสลามหลังจากที่มาร์โค โปโลมาแวะที่นี่ได้ไม่นาน อีบึน บัตตูตาบอกว่ากษัตริย์ที่นี่นับถืออิสลามอย่างเคร่งครัดตามคำสอนของชะฟีอะห์ อุลามัส (Shafi’ite ulamas) จากชิราซ (Shirāz) และอิสฟาฮาน (Isfahān) และมีความใกล้ชิดกับสุลต่านแห่งเดลีที่ยังไม่ขึ้นกับจักรวรรดิมองโกล [Hirosue 2017] หลักฐานของการเข้ามาของศาสนาอิสลามได้แก่ที่ ลามูรีมีป้ายหลุมศพของสุลต่าน สุไลมาน บิน อับดุลเลาะห์ บิน อัล-บาซีร์สิ้นพระชนม์ที่ลามูรีเมื่อพ.ศ.1754 (ค.ศ.1211) ก่อนมองโกลทำลายราชวงศ์อับบาซิยะห์ และทิ้งช่วงมาจนถึงสุลต่านมาลิค อัล-ซาลีห์แห่งสมุทราสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.1840 (ค.ศ.1297) ที่สมุทราซึ่งอาจจะเป็นคนเดียวกับสุลต่านปาไซในพงศาวดารทั้ง 2 ฉบับเพราะห้วงเวลาใกล้เคียงกันซึ่งนับเป็นเวลาเกือบร้อยปีหลังจากป้ายหลุมศพของสุลต่านลามูรีที่สิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ.1745 ซึ่งคำสอนของชะฟิอะห์ได้แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาต่อมา และในปีพ.ศ.1847 บันทึกต้าเต๋อหนานไห่จื้อบันทึกว่าสมุทราขึ้นกับศรีวิชัยอีก ริคเลฟส์ และคณะกล่าวว่า ถ้าศาสนาอิสลามเข้ามาทางเครือข่ายการค้าทำไมคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามในหลายร้อยปีให้หลัง ศาสตราจารย์ เอ เอช จอห์น เสนอว่าหลังจากพวกมองโกลทำลายแบกแดดในปีพ.ศ.1801 (ค.ศ.1258) แล้ว ลัทธิซุฟิยะห์จึงแพร่หลายและเข้ากับอิทธิปาฏิหารย์ในศาสนาฮินดูในหมู่เกาะทะเลใต้ได้ดี [Ricklefs et al. 2010]

นอกจากนี้ในสมัยราชวงศ์หยวนพวกมองโกลนิยมใช้ทูตมุสลิมติดต่อกับต่างประเทศ ขุนนางที่คุมเมืองท่าฉวนโจวมาตั้งแต่ปลายราชวงศ์ซ่งก็เป็นชาวเอเชียกลาง เปอร์เซียที่เป็นมุสลิม และมีกลุ่มการค้ามุสลิมมีอิทธิพลอยู่ตามเมืองท่าของจีน [Kuwabara 1928; Fukami 2004b; Heng 2005] ในสมัยจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ ขันทีเจิ้งเหอและหม่าหวนที่เดินทางมากับกองเรือมหาสมบัติก็เป็นชาวจีนมุสลิม ทำให้จีนติดต่อการค้ากับอาณาจักรมุสลิมทางอินเดียและตะวันออกกลางได้ง่าย ทำให้ศาสนาอิสลามเผยแพร่ไปตามเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับมหาสมุทรอินเดียไปจนถึงหมู่เกาะทะเลใต้ จามปาและแหลมมลายูตั้งแต่ปลายราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หยวนจนถึงต้นราชวงศ์หมิงซึ่งเป็นช่วงที่เมืองแถบนี้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาอิสลามได้เข้ามาในแหลมมลายูเป็นครั้งแรกตามจารึกที่ค้นพบที่เมืองตรังกานูลงวันที่22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.1846 [Jacq-Hergoualc’h 2004] และมีการพัฒนาอักขระภาษายะวีขึ้นในยุคนี้ ซึ่งไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเผยแพร่มาจากอาเจะห์และสมุทรา-ปาไซซึ่งเป็นต้นแบบของลัทธิซูฟิยะห์ในมะละกาและปัตตานีหรือไม่

การแบ่งเขตทางศาสนาในแหลมมลายูจะเป็นแนวเขตกว้างระหว่างกรุงศรีอยุธยา (พุทธ) กับมัชปาหิต (ฮินดูที่ต่อมากลายเป็นอิสลาม) มณฑล (Mandala) เป็นความสัมพันธ์ที่มีลักษณะหลวมๆและลื่นไหล (loose and fluid) ระหว่างรัฐใหญ่กับรัฐบริวาร แต่ทั้งพงศาวดารมลายูและฮิกายัต ปาตานีไม่สามารถระบุเวลาที่แท้จริงในการเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามได้ พงศาวดารมลายูกล่าวว่าเคดาห์และปัตตานีส่งบรรณาการให้สุลต่านมาห์มูด ชาห์แห่งมะละกา เอกสารมลายูพวกนี้คัดลอกต่อๆกันมาและไม่ได้อ้างความต่อเนื่องจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยและอาณาจักรมัชปาหิต อย่างไรก็ตามการเข้ามาของศาสนาอิสลามในยุคแรกเป็นแบบผสมผสานที่ยังมีสัญลักษณ์เขาพระสุเมรุของพุทธศาสนาปนกับอักขระอารบิคของศาสนาอิสลาม เป็นการเปลี่ยนศาสนาแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าการบังคับ [สุนิติ จุฑามาศ พ.ศ.2554] ทำให้ยาคอบ คอร์เนลิส ฟาน เลอร์ นักวิชาการชาวดัตช์กล่าวว่าศาสนาอิสลามในแถบนี้ฉาบหน้าความเชื่อดั้งเดิมแบบฮินดูและพุทธมหายานเท่านั้น [Van Leur 1955] อย่างไรก็ตามศาสนาอิสลามเข้ามาในศรีวิชัยก่อนตามพรลิงค์

เอกสารอ้างอิง

สุนิติ จุฑามาศ. พ.ศ. 2554. “การศึกษาหินปักหลุมศพแบบบาตุอาเจะห์ในบริเวณเมืองโบราณริมอ่าวปัตตานี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาตรี, ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

D. R. Sar Desai. 2013. Southeast Asia: Past and Present. 7th. Boulder, CO: Westview.

Fukami Sumio, 深見純生. 2004. “Passage of Emporium: The Malacca Straits during the Yuan Period 元代のマラッカ海峡-通路か拠点か.” Southeast Asia: History and Culture 33:100–118.

Heng, Derek Thiam Soon. 2005. Economic Interaction between China and the Malacca Straits Region: Tenth to Fourteenth A.D. Doctoral Thesis, Hull, UK: University of Hull.

Hirosue Masashi 弘末雅士. 2017. “The Rise of Muslim Coastal States in North Sumatra: Coastal Rulers and Power over Hinterland Fertility.” In State Formation and Social Integration in Pre-Islamic South and Southeast Asia: A Comparative Study of Asian Society, by Noburu Karashima and Masashi Hirosue, 263-284. Tokyo: Toyo Bunko.

Jacq-Hergoualc'h, Michel 2002. The Malay Peninsula: Crossroads of the Maritime Silkroad: 100BC-1300AD. Leiden: E.J.Brill.
Jacq-Hergoualc'h, Michel 2004. “La Péninsule malaise au Lournant du XIIIe siècle.” Aséanie, Sciences humaines en Asie du Sud-Est 14: 11-27.

Sirisena W.M.. 1978. Sri Lanka and Southeast Asia to 1500. Leiden: E. J. Brill.

Kuwabara Jitsuzo 桑原隲藏. 1928. “P'u Shou-keng, a Man of the Western Regions, who was Superintendent of the Trading Ships Office in Ch'uan-chou towards the end of the Sung Dynasty.” Memoirs of the Research Department of the Toyo Bunko 2(7): 1-79.

Mom Chao Chand Chirayu Rajani. 1976a. “Review Articles: Background to Sri Vijaya Story Part IV.” Journal of the Siam Society 64 (1): 275-325.

Munro-Hay, Stuart 2001. Nakhon Sri Thammarat: The Archeology, History and Legends of a Southern Thai Town. Banglok: White Lotus.

Ricklefs, Merle Calvin, Bounce Lockhart, Albert Lau, Portia Reyes, และ Maitrii Aung-Thwin. 2010. A New History of Southeast Asia. New York: PalgraveMacmillan.

Rickmers, C. M. 1929. Cūlavaṃsa: Being the More Recent Part of the Mahāvaṃsa: Oxford: Oxford University Press

Van Leur, Jacob Cornelis. 1955. Indonesian Trade and Society: Essays in Asian Social and Economic History. Den Haag: W van Hoeve.



กำลังโหลดความคิดเห็น