xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน การศึกษาเรื่องสมาพันธรัฐตามพรลิงค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

มีผู้ทำการศึกษาเรื่องตามพรลิงค์หลายท่าน เช่นมิเชล ฌาคก์-เอกวลช์ ฟูกามิ ซูมิโอะ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ปรีชา นุ่นสุข ดร.วัณณสาสน์ นุ่นสุข พอล วีทลีย์ โอ ดับบลิว วอลเตอร์ ดีเร็ค เฮงเทียม สูน วาดะ ฮิซะโมริ ทาเคชิ ซูซูกิ เดวิด ไวแอต สจ็วต มุนโร-เฮย์ โดยทำการศึกษาจากหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารตำนานในแหลมมลายูทั้งในไทยและมาเลเซีย เช่น ฮิกายัต ปาตานี (Hikaya Patani = The Patani Annals) อิกายัต มะโรงมหาวงศ์ (Hikayat Marong Mahawangsa = The Annals of Marong Mahawangsa) ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช (Tamnan Muang Nakorn Si Thammarat = The Chronicle of Nakorn Si Thammarat) ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช (Tamnan Phraborommathat Muang Nakorn Si Thammarat = The Chronicle of the Great Reliquary of Nakorn Si Thammarat) และเพลานางเลือดขาว (Phela Nang Lueat Khao) ตำนานท้องถิ่นทางภาคใต้ของไทยและมาเลเซียเน้นอภินิหารไม่ระบุศักราชชัดเจนและไม่อ้างความเชื่อมโยงของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์และศาสนาอิสลามกับศาสนาฮินดูและพุทธศาสนามหายานก่อนหน้านี้และมักจะขัดกับเอกสารจีน ลังกาและหลักฐานทางโบราณคดีพอสมควร เพราะเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นในยุคหลังจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นมาก

อย่างไรก็ตามนักวิชาการส่วนใหญ่จะศึกษาเมืองตามพรลิงค์เพียงเมืองเดียวไม่ได้ศึกษาเมืองในตามพรลิงค์ทั้งหมดไม่ว่าจะตั้งอยู่ในไทยหรือมาเลเซียในปัจจุบันตามเอกสารจีนต้าเต๋อหนานไห่จื้อหรือตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและไม่ศึกษาความเชื่อมโยงของตามพรลิงค์กับเมืองอื่นๆอย่างชัดเจน นักวิชาการไทยมักจะละเลยเมืองขึ้นตามพรลิงค์ที่อยู่ในมาเลเซียและไม่พูดถึงการเข้ามาของศาสนาอิสลามในสมาพันธรัฐ ส่วนนักวิชาการมาเลเซียมักจะละเลยเมืองขึ้นที่อยู่ในไทยและไม่พูดถึงการเข้ามาของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ในสมาพันธรัฐจึงทำให้การศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างตามพรลิงค์กับเมืองขึ้นเป็นไปได้ยาก ดร.วัณณสาสน์ นุ่นสุข (พ.ศ.2559) กล่าวว่าแหลมมลายูเป็นบริเวณที่มีปฏิสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นประตูการค้าระหว่างทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรอินเดียตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล คูลเค่เสนอว่าอาณาจักรที่ได้รับอิทธิพลอินเดียอย่างซับซ้อนในแถบนี้มีมาก่อนพ.ศ.500 และกล่ายเป็นอาณาจักรรวมศูนย์ประมาณปีพ.ศ.1000 หลังจากได้รับอารยธรรมอินเดียเข้ามา [Kulke 1990] เช่นแนวคิดเทวราชา ศาสนาพุทธและฮินดู วีทลีย์กล่าวว่าตามพรลิงค์เป็นหนึ่งในอาณาจักรรวมศูนย์ที่ถูกกล่าวถึงในวรรณคดีอินเดียตั้งแต่ราวพ.ศ.600 [Wheatley 1961: 9] นักวิชาการรุ่นเก่าเชื่อว่าตามพรลิงค์อยู่บริเวณนครศรีธรรมราชตามจารึกหลักที่ 28 ที่พบที่วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เขียนด้วยอักษรปัลลวะในภาษาสันสกฤตย้อนไปถึงพุทธศตวรรษที่ 10-11 [วัณณสาสน์ นุ่นสุข พ.ศ.2556; 2559]

โอ ดับบลิว วอลเตอร์สและพอล วีทลีย์ ทำการศึกษานครรัฐต่างๆในแหลมมลายูจากเอกสารจีน อาหรับและมลายูโดยแยกไปแต่ละเมืองแต่ไม่ได้ศึกษาสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ในภาพรวม วอลเตอร์สศึกษาแต่การสิ้นสุดของสมาพันธรัฐศรีวิชัยในเอกสารของมาเลเซียส่วนฌาคก์ เอกวลช์และฟูกามิ ซูมิโอะจะศึกษาเรื่องตามพรลิงค์และเมืองในแหลมมลายูอย่างคร่าวๆ นักวิชาการเหล่านี้ไม่ได้สรุบว่าตามพรลิงค์เกิดขึ้นมาอย่างไร แยกตัวจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยอย่างไร แยกไปนับถือพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์และศาสนาอิสลามอย่างไร และรวมกับกรุงศรีอยุธยาได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้จึงพยายามค้นหาและสรุปประเด็นในเรื่องเหล่านี้โดยแยกหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารไปแต่ละเมืองหลังจากดูภาพรวมแล้ว อย่างไรก็ตามการศึกษาเรื่องสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ได้รับความนิยมน้อยกว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัย

1.3 การเปลี่ยนผ่านจากตามพรลิงค์สู่นครศรีธรรมราช

นักวิชาการไทยและต่างประเทศมีความเห็นเกี่ยวกับอาณาจักรตามพรลิงค์แตกต่างกันออกไป นักวิชาการไทยส่วนใหญ่เช่น มจ.จันทร์จิรายุ รัชนี รองศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม เป็นต้นและนักวิชาการตะวันตกบางท่าน เข่น เดวิด ไวแอ็ต (David Wyatt) ในหนังสือหาดทรายแก้ว (The Crystal Sand) หรือสจ๊วต มุนโร-เฮย์ (Stuart Munro-Hay) ก็ยึดเอาหลักฐานทางโบราณคดี ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราชเป็นหลัก ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชจะเริ่มจากเพชรบุรีแต่ไม่กล่าวถึงการเข้ามาของศาสนาอิสลาม พระพนมทะเลมาตั้งหลักแหล่งที่เพชรบุรี มีเมือง 12 นักษัตร แต่ในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชพวกชวาโจมตีนครศรีธรรมราชก่อนการมาของพระพนมวงมี เมืองทางใต้ในภาษามลายูได้แก่ ลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) สิงกอรา (สงขลา) อุจุงสะลางหรือจังซีลอน (ภูเก็ต) เดวิด ไวแอ็ตเน้นความจำเป็นที่ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ตามพรลิงค์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ถึงความขัดแย้งของคนหลายกลุ่มในแหลมมลายู แต่ในยุคนั้นตามพรลิงค์ขึ้นกับศรีวิชัย แต่ไม่พูดถึงจารึกหลักแรกที่อาจหมายถึงการก่อตั้งสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ของมหาราชาจันทรภาณุในปีพ.ศ.1773 ในจารึกที่ 24 และการที่พุกามโจมตีตามพรลิงค์พ.ศ.1743-1745 ตามพรลิงค์ส่งบรรณาการไปจีนเป็นครั้งสุดท้ายในปีพ.ศ.1739 ก่อนการแยกตัวในปีพ.ศ.1773 เพื่อขอความคุ้มครองจากจีนในช่วงที่พุกามและอาณาจักรพระนครรุกราน เพราะศรีวิชัยที่เกาะสุมาตราคุ้มครองไม่ได้ แต่ก็กลับไปส่งบรรณาการให้ศรีวิชัยตามบันทึกจูฟ่านจื้อ (諸蕃志)

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เชื่อว่านครศรีธรรมราชสืบทอดมาจากนครรัฐโบราณตามพรลิงค์และเป็นสมาพันธรัฐที่เป็นอิสระก่อนการเข้ามามีอำนาจของอยุธยา โดยดูจากหลักฐานทางโบราณคดีและจารึกรวมทั้งเอกสารต่างๆจากนอกภูมิภาค เช่นลังกา อินเดียและจีน นักวิชาการอินโดนีเซียบางท่าน เช่น เบอร์ฮานุดดินและสุพันกัตเชื่อว่าตามพรลิงค์เป็นศูนย์กลางการค้าในแหลมมลายูและสุลิติโยโนเชื่อว่าสมาพันธรัฐตามพรลิงค์เคยมีอำนาจตลอดแหลมมลายู [Burhanuddin and Supangat 2003; Sulistiyono 2011] ตำนานทั้ง 2 เล่มน่าจะเขียนขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณค.ศ.1553-1654 ซึ่งห่างจากเหตุการณ์จริงเป็นร้อยๆปี แต่ไม่โยงไปกับนครรัฐตามพรลิงค์โบราณ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ระบุว่าสุโขทัยมีอำนาจจรดชายฝั่งสมุทรอาจจะเป็นแค่เพชรบุรี อ่าวบ้านดอนหรือนครศรีธรรมราช เดวิด ไวแอ็ต เชื่อในตำนานนครศรีธรรมราชมากซึ่งเป็นวรรณกรรมที่มีข้อน่าสงสัยโดยเฉพาะเมือง 12 นักษัตรโดยเชื่อว่าตามพรลิงค์สร้างความสัมพันธ์กับจีนและศรีวิชัยเพื่อต้านทานเขมรที่พระนคร แต่ความจริงไม่ใช่น่าจะเป็นเพราะการส่งสินค้าไปจีนและขึ้นกับศรีวิชัยเป็นครั้งคราว และทั้ง 12 เมืองนี้ไม่ตรงกับบันทึกต้าเต๋อหนานไห่จื้อ (大德南海志) ที่ระบุว่าตามพรลิงค์มีอิทธิพลเหนือเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายู 12 เมือง เท่านั้นอาจเป็นเพราะพ่อค้าจีนในสมัยราชวงศ์หยวนค้าขายกับเฉพาะเมืองชายฝั่งตะวันออกตามหลักฐานโบราณคดีที่ค้นพบ ตามพรลิงค์ ลังกาสุกะ พัทลุง เคดาห์และปาหังมีมานานก่อนตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนสงขลาตั้งไล่เลี่ยกัน ส่วนตรังตั้งที่หลัง

แม้ว่าต้าเต๋อหนานไห่จื้อจะมี 12 เมืองเท่ากับเมืองสิบสองนักษัตรซึ่งเป็นตราประจำเมืองที่ขึ้นกับนครศรีธรรมราชในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราชแต่ชื่อเมืองไม่ตรงกันทุกเมือง ตำนาน 2 ฉบับกล่าวว่ามี 12 เมืองได้แก่ สายบุรี (ชวด) ปัตตานี (ฉลู) กลันตัน (ขาล) ปาหัง (เถาะ) ไทรบุรีหรือเคดาห์ (มะโรง) พัทลุง (มะเส็ง) ตรัง (มะเมีย) ชุมพร(มะแม) บันทายสมอ (วอก) สงขลา (ระกา) ตะกั่วป่า (จอ) และครหิหรือไชยา (กุน) นักวิชาการบางท่าน เช่น มจ.จันทร์จิรายุ รัชนี สันนิษฐานว่าเมืองบันทายสมอคือที่มาของชื่อเมืองกระบี่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามความแม่นยำของตำนานทั้ง 2 ฉบับนี้ยังเป็นปัญหาอยู่เพราะเขียนขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นภาษาไทยและในยุคนั้นยังไม่มีเมืองปัตตานีเพราะเมืองปัตตานีเกิดขึ้นจากการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชาชนจากลังกาสุกะในยุคหลังจากนั้น ดังนั้นการแบ่งเขตแดนระหว่างท้าวอู่ทองกับพญาศรีธรรมโศกราชตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ ชุลีพร วิรุณหะ (พ.ศ.2560) กล่าวว่าหลังพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณแหลมมลายูเปลี่ยนจากชุมชนโบราณอย่างลังกาสุกะและตามพรลิงค์เป็นศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง เช่น นครศรีธรรมราช (ลิกอร์) ปาตานี เคดาห์และสงขลาซึ่งไม่ถูกต้องเพราะพัทลุงและเคดาห์มีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 โดยปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกจูฟ่านจื้อ พ.ศ.1768 (ค.ศ.1225)

แต่นักวิชาการต่างประเทศอีกหลายท่านมักจะอ้างอิงจากเอกสารจีน ลังกาและอินเดีย อย่างไรก็ตามนักวิชาการไทยและต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล่าวถึงการแยกตัวของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์จากสมาพันธรัฐศรีวิชัยแล้วรับเอาพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์เข้ามาเข้ามาแทนที่นิกายมหายานแบบศรีวิชัย การพัฒนาการจากตามพรลิงค์ไปสู่นครศรีธรรมราช การเสื่อมอำนาจของนครศรีธรรมราชในแหลมมลายูเนื่องจากการขยายอิทธิพลของรัฐละโว้-อโยธยาต่อเนื่องมาจนถึงกรุงศรีอยุธยาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและอาณาจักรมัชปาหิตจากเกาะชวา และการเข้ามาของศาสนาอิสลามในนครรัฐต่างๆที่ขึ้นกับนครศรีธรรมราชในยุคสุดท้ายก่อนที่จะถูกผนวกรวมเข้ากับกรุงศรีอยุธยา นักวิชาการส่วนใหญ่จะมุ่งศึกษาเฉพาะเมืองตามพรลิงค์กับนครศรีธรรมราชเท่านั้นไม่ได้ศึกษาเรื่องเมืองบริวารอื่นๆของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ [Jacq-Hergoual’ch 2002; 2004] เช่น การเปลี่ยนผ่านจากลังกาสุกะไปสู่ปัตตานีโดยไม่ได้อ้างถึงความเชื่อมโยงกับตามพรลิงค์ อารยธรรมรอบๆทะเลสาบสงขลา โอ ดับบลิว วอลเตอร์ไม่พูดถึงตามพรลิงค์ในประวัติศาสตร์มลายู [Wolters 1970] และไม่พูดถึงว่าทำไมเมืองทางชายฝั่งอันดามัน เช่น ตักโกละแถวตะกั่วป่าซบเซาลงไปเพราะเรือไม่แวะ เพราะพ่อค้าจีนในสมัยราชวงศ์หยวนอาจเลือกใช้เส้นทางเดินเรือไปแวะตามท่าเรือทางชายฝั่งเหนือของเกาะสุมาตรามากกว่า

บรรณานุกรม

ชุลีพร, วิรุณหะ. 2560. “มิติมุมมองทางประวัติศาสตร์ของอัตลักษณ์ท้องถิ่นในคาบสมุทรตอนบน.” ไทยใต้ มลายูเหนือ ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, 49–81. นครศรีธรรมราช: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

วัณณสาสน์ นุ่นสุข. พ.ศ.2556. “ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการกำเนิดอาณาจักรนครศรีธรรมราช.” วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 6 (6): 219-263.
วัณณสาสน์ นุ่นสุข. พ.ศ.2559. พัฒนาการของบ้านเมืองบนหาดทรายแก้วนครศรีธรรมราชจากหลักฐานทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช: มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ไทม์พริ้นติ้ง.

Burhanuddin, Safri, and Agus Supangat. 2003. Sejarah Maritim Indonesia: Menelusuri Jiwa Bahari Bangsa Indonesia Dalam Proses Integrasi Bangsa (Sejak Jaman Prasejarah Hingga Abad XVII). Semarang, Indonesia: Lembaga Penelitian Universitas Diponegoro.

Jacq-Hergoualc'h, Michel 2002. The Malay Peninsula: Crossroads of the Maritime Silkroad: 100BC-1300AD. Leiden: E.J.Brill.

Jacq-Hergoualc'h, Michel 2004. “La Péninsule malaise au Lournant du XIIIe siècle.” Aséanie, Sciences humaines en Asie du Sud-Est 14: 11-27.

Kulke, Hermann. 1990. A History of India. London: Routledge.

Sulistiyono, Singgih Tri. 2011. “Kejayaan Budaya Maritim Di Pantai Utara Jawa Dan Refleksi Membangun Indonesia Sebagai Negara Bahari: Menyambung Mata Rantai
Yang Putus.” Jurnal IKAHIMSI. Ikatan Himpunan Mahasiswa Sejarah Se-Indonesia 1 (2): 7.

Wheatley, Paul. 1961. The Golden Khersonese: Studies in the Historical Geography of Malay Peninsula before AD1500. Kuala Lampur: University of Malaya Press.

Wolter, Olivers Williams. 1970. The Fall of Srivijaya in Malay History. Ithaca, NY: Cornell University Press.



กำลังโหลดความคิดเห็น