xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน ข้อถกเถียงในเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับสมาพันธรัฐศรีวิชัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

สมาพันธรัฐศรีวิชัยต่างจากอาณาจักรอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะมีหลักฐานทางสถาปัตยกรรมน้อย มีศิลาจารึกกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนน้อย การที่มีหลักฐานทางวัตถุน้อยทำให้นักวิชาการประสบปัญหาในการเข้าใจอารยธรรมศรีวิชัย หลังจากที่สมาพันธรัฐศรีวิชัยจบสิ้นลงในปี พ.ศ.1940 แทบจะไม่มีหลักฐานทางกายภาพเหลืออยู่เลยจึงไม่มีใครได้ยินชื่อนี้ไม่ว่าจะเป็นชาวอินโดนีเซีย หรือแม้แต่คนที่อยู่แถวปาเล็มบัง

เนื่องจากความแตกต่างระหว่างหลักฐานเอกสารและโบราณคดีและความรู้สึกชาตินิยมในหมู่นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้เกิดความเห็นไม่ลงรอยกันในหมู่นักวิชาการเหล่านี้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องศรีวิชัย การเรียกชื่อในภาษาจีนเป็นปัญหาใหญ่ในการศึกษาเรื่องศรีวิชัย เพราะนักวิชาการเหล่านี้ไม่ใช้สำเนียงจีนยุคกลาง (中古汉语 จงกู่ฮั่นหยู พ.ศ.1144-1768) ในการเรียกชื่อ ประวัติศาสตร์สมาพันธรัฐศรีวิชัยเขียนขึ้นจากศิลาจารึกต่างๆในภาษามลายูโบราณ เช่นเกดูกัน บูกิต (พ.ศ.๑๒๒๕) ตาลัง ตุโว (พ.ศ.1227) โกตา กะปูร์ (พ.ศ.1229) สมาพันธรัฐศรีวิชัยเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสำคัญของสุมาตราในการคานกับอาณาจักรมัชปาหิตในชวา ปัญญาชนในขบวนการกู้ชาติอินโดนีเซียชาตินิยมมักอ้างว่าอาณาจักรทั้งสองว่าเป็นรัฐอินโดนีเซียที่มีอยู่ก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ชนชาติต่างๆเรียกสมาพันธรัฐนี้ในชื่อที่ต่างกัน เช่น ภาษาจีนสมัยกลางเรียกว่าซยิต-ลี่-พุท-เจย (室利佛逝) และ สัม-พุท-เชย (三佛齐) ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ยาวเทศ ภาษาบาลีเรียกว่า ชวาเตห์ ชาวอาหรับเรียกว่า ซาบาก หรือ ศรีบูซ่า ชาวเขมรเรียกว่า เมลายู ชาวชวาเรียกว่า สุวรรณภูมิ สุวรรณทวีป หรือมลายู ทำให้การหาหลักฐานเกี่ยวกับศรีวิชัยนั้นยาก บางชื่ออาจหมายถึงชวาแต่อาจอ้างถึงสุมาตรา จากจารึกเกดูกัน บูกิต (พ.ศ.1225) กล่าวว่าฑปุนดา หิยัม ศรีชยนาศยกทัพมาจากมินังกะตัมวัน มาตั้งสมาพันธรัฐศรีวิชัยที่ริมแม่น้ำมูสิใกล้เมืองปาเล็มปังบนเกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซียศาสตราจารย์จอร์จ เซเดซ์และปิแอร์-อีฟ แมงกินนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเชื่อว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยตั้งขึ้นที่ปาเล็มบัง แต่ซุกโมโนนักประวัติศาสตร์ชาวอินโดนีเซียเชื่อว่ามินังกะตัมวันอยู่ที่วัดมัวรา ตากุสริมแม่น้ำกัมปาร์ในจังหวัดเรียวและยกทัพเข้ามายึดปาเล็มบังที่ไม่ใช่เมืองหลวง นักประวัติศาสตร์ไทยเช่น มจ.จันทร์จิรายุ รัชนีและนักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่นทาเคชิ ซูซุกิเชื่อว่าคำว่า “ไชยา” มาจากคำว่า “ศรีวิชัย” แต่นักประวัติศาสตร์มาเลเซียและอินโดนีเซียบอกว่า “ไชยา” มาจากคำภาษามลายู “คฮายา” แปลว่า แสงสว่าง ช่วงแรกมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีน้อย อาจเป็นเพราะปาเล็มบังเป็นที่ต่ำถูกแม่น้ำมูสิท่วมถึงต่อมามีการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีมากขึ้นจึงทำให้มั่นใจว่าปาเล็มบังเคยเป็นศูนย์กลางของสมาพันธรัฐศรีวิชัย ชาวปาเล็มบังโบราณน่าจะสร้างบ้านเป็นเรือนแพทำจากไม้ ไม้ไผ่และหลังคามุงแฝก ในหนังสือ จูฟ่านจื้อ(诸蕃志) ของจ้าวรู่กัวหรือเตียวหนิวกวท (赵汝适) ปีพ.ศ.1768 ยืนยันว่าชาวสัม-พุท-เชย (ศรีวิชัย) อาศัยอยู่กระจัดกระจายนอกเมืองบนแพลอยน้ำที่มุงด้วยต้นกก เป็นไปได้ที่พระราชวังและศาสนสถานจะอยู่บนบกแต่ประชาชนอาศัยอยู่บนแพในแม่น้ำ

ซิต-ลี่-พุท-เจย ไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นชื่อที่มีมาก่อนสัม-พุท-เจยในเอกสารจีน เบนเน็ต บรอนสันและรอย ยอร์ดานไม่พบวัตถุโบราณสำคัญที่สำคัญก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ในช่วงปีพ.ศ.2513-2523 ดังนั้นความเชื่อที่ว่าปาเล็มบังเป็นเมืองหลวงของศรีวิชัยจึงยังเป็นที่ถกเถียงจนกระทั่งถึงช่วงปีพ.ศ.2523-2533 ในปีพ.ศ.2536 ปิแอร์-อีฟ มองแกงนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสระบุว่าศูนย์กลางของสมาพันธรัฐศรีวิชัยอยู่ริมแม่น้ำมุสิระหว่างบูกิต เซกุนตังและซาบ็อกกิงกิง ชาวจีนโบราณเรียกปาเล็มบังว่าจู้กังหรือหรือสมัยราชวงศ์ถังอ่านว่าเกี๋ยกัง(巨港) หรือท่าเรือใหญ่ แสดงว่าเคยเป็นท่าเรือใหญ่มาก่อนในอดีต มีการขุดเจอวัดที่สร้างระหว่างพ.ศ.1550-1842 ที่จัมบิมากกว่าปาเล็มบังจึงสันนิษฐานได้ว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยไม่ใช่รัฐรวมศูนย์ หลังจากที่ในปีพ.ศ.2556 คณะนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซียขุดค้นพบศาสนสถานและสถานที่อยู่ขนาดใหญ่ที่มัวร่า จัมบิ จึงสันนิษฐานใหม่ว่าศูนย์กลางเริ่มต้นของสมาพันธรัฐศรีวิชัยตั้งอยู่บริเวณโบราณสถานมัวร่า จัมบิบนฝั่งแม่น้ำบาตัง ฮารีไม่ใช่แม่น้ำมุสิ บริเวณนี้ขุดค้นพบซากวัดในอาณาบริเวณ 12 ตารางกิโลเมตร ยาว 7.5 กิโลเมตรตามริมฝั่งแม่น้ำบาตังฮารี มีซากวัดหรือเมนาโปส 80 กองที่ยังไม่ได้ขุดค้น ซึ่งบริเวณนี้เป็นพุทธสถานนิกายมหายาน-วัชรยานและเป็นที่ศึกษาธรรมะที่ใหญ่ที่พระภิกษุอี้จิงหรือสมัยราชวงศ์ถังอ่านว่าเง่ยเจี๋ยง (义净) มาเรียนคัมภีร์หัสดาศาสตรากับพระศากยกีรตี และเป็นที่ๆท่านอธิศาพระภิกษุชาวอินเดียมาเรียนคัมภีร์กับท่านธรรมะกีรติศิริ และหลวงจีนฝาอยู่มาพบกับพระภิกษุวิมลศรีชาวอินเดีย เอกสารของจีนกล่าวว่าศรีวิชัยมีพระภิกษุนับพันทำให้ หลักฐานนี้หักล้างกับทฤษฎีที่ว่าฑปุนดา หิยัม ศรีชยนาศยกทัพมาจากคาบสมุทรมลายูและไชยาเป็นศูนย์กลางของสมาพันธรัฐศรีวิชัยของมจ.จันทร์จิรายุ รัชนีและซูซุกิซึ่งอ่านบันทึกของพระภิกษุอี้จิงเพียง 2 เล่ม แม้ว่าโบราณสถานที่ไชยาและนครศรีธรรมราชค่อนข้างสมบูรณ์แต่โบราณสถานเหล่านี้มีอาณาบริเวณที่เล็กกว่าโบราณสถานที่อยู่ในเกาะสุมาตราและชวาทำให้นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าศูนย์กลางน่าจะเป็นบริเวณช่องแคบมะละกาและช่องแคบซุนดา เพราะเป็นแหล่งที่ทำรายได้จากการค้าต่างประเทศโดยเฉพาะเรือสินค้าจากอินเดียและตะวันออกกลางที่ผ่านไปทำการค้าขายกับจีนในสมัยนั้นดังนั้นฑปุนดา หิยัม ศรีชยนาศยกทัพมาจากที่อื่นเข้ามายึดปาเล็มบังแล้วเอาเป็นเมืองหลวงของสมาพันธรัฐใหม่ที่เพิ่งก่อตั้ง

ประวัติศาสตร์สมาพันธรัฐศรีวิชัยรวบรวมจากหลักฐาน 2 แหล่งเป็นหลักคือ หลักฐานที่เป็นบันทึกและหลักฐานทางโบราณคดี หลักฐานที่เป็นบันทึกได้แก่เอกสารที่ทางจีนบันทึกเกี่ยวกับการส่งราชบรรณาการและการติดต่อค้าขายกับสมาพันธรัฐศรีวิชัย บันทึกของนักจาริกแสวงบุญชาวจีนและอินเดียและบันทึกของพ่อค้าชาวอาหรับที่เคยเดินทางมาที่สมาพันธรัฐศรีวิชัย หลักฐานทางโบราณคดีได้แก่ การอ่านจารึกที่ค้นพบตามที่ต่างๆในจีน เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บันทึกแรกสุดที่กล่าวถึงสมาพันธรัฐศรีวิชัยเขียนโดยพระภิกษุสมัยราชวงศ์ถัง พระภิกษุจีนอี้จิงในปีพ.ศ.1214 ที่มาอยู่ที่ศรีวิชัยประมาณ 6 เดือนซึ่งได้อธิบายชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมาพันธรัฐศรีวิชัย ส่วนศิลาจารึกหลักแรกที่กล่าวถึงสมาพันธรัฐนี้คือจารึกเกดูกันบูกิตที่พบใกล้ปาเล็มบังลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.1225 จารึกสิทธิยาตราในช่วงเดียวกันที่ปาเล็มบังและเกาะบังกาปากแม่น้ำมูสิก็เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ หลักฐานอื่นในภูมิภาคเช่นตำนานมหาราชาแห่งซาบากและกษัตริย์เขมรภายหลังยืนยันด้วยศิลาจารึกที่ปราสาทสด๊อกก๊อกธมในจังหวัดสระแก้ว จารึกซับบาก ที่นครราชสีมาประเทศไทย ก็บอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับอาณาจักรนี้ ชาวอินเดียและอาหรับบันทึกถึงกษัตริย์ซาบากอย่างคร่าวๆว่าร่ำรวยมาก

เอกสารอ้างอิง

มจ.จันทร์จิรายุ รัชนี พ.ศ.2530. อาณาจักรศรีวิชัยที่ไชยา. กรุงเทพ: อรุณวิทยา.

Bronson, Bennett. 1979. The Archeology of Sumatra and the Problem of Srivijaya: Early Southeast Asia. Oxford: Oxford University Press.

Fukami Sumio 深见纯生. 1981. "Recent Trends in Srivijayan Studies: Discrepancies between Documents and Archeological Data." Toyoshi Kenkyu 东洋史研究 (Journal of Oriental Studies) 40 (3): 138-151.

Glover, Ian C. 2003. "National and Political Uses of Archeology in Southeast Asia." Indonesia and the Malay World 31 (89): 16-30.

Hellwig, Tineka & Eric Fagliacozz. 2009. The Indonesia Reader: History, Culture, Politics. Durham, NC: Duke University Press

Iwamoto Sayuri 岩本小百合. 1992. "Recent Archeological Result Relating to Srivijayan Studies." Shiso 思想 29: 87-98.

Kulke, Hermann. 2016. "Srivijaya Revisited: Reflection on State Formation of Southeast Asian Thalassocracy." Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient 102: 45-95.

Manguin, Pierre-Yves. 2009. "Southeast Sumatra in Prehistoric and Srivijaya Times: Upstream-Downstream Relations and the Settlement of the Paneplain." In From Distant Tales: Archeology and Ethnohistory in the Highland of Sumatra, by Dominik Bonatz, John Norman Miksic, J David Neidel and Mai Lin Tjoa-Bonatz, 434-481. New Castle, UK: Cambridge Scholar Publishing.

Manguin, Pierre-Yves. 2017. "At the Origin of Srivijaya: The Emergence of State and City in Southeast Sumatra." In State Formation and Social Integration in Pre-Islamic South and Southeast Asia: A Compararive Study of Asian Society, by Noburu Karashima and Hirosue Masashi, 89-114. Tokyo: Toyo Bunko.



กำลังโหลดความคิดเห็น