xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมไบเดนจึงกลับลำ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


โจ ไบเดน
ตะลึงกันไปทั่วโลก เมื่อปธน.ไบเดนออกมาประกาศข้อเสนอ 3 ข้อต่อฝ่ายฮามาสและอิสราเอล เพื่อให้หยุดยิงชั่วคราวและนำไปสู่การหยุดยิงถาวร พร้อมการบูรณะฟื้นฟูกาซา

ที่ประหลาดใจกับข้อเสนอนี้ที่ออกมาจากปากของปธน.ไบเดน เพราะตลอด 8 เดือนที่ชาวกาซาถูกยิงถล่มอย่างย่อยยับไม่เหลือชิ้นดี และต้องสูญเสียชีวิตพลเรือนชาวกาซา พร้อมผู้บาดเจ็บเสียแข้งเสียขา เสียดวงตารวมทั้งสิ้นเกือบ 1.5 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กๆ ชาวปาเลสไตน์...ตลอดเวลาแห่งการสูญเสียที่ศาลโลกกำลังพิจารณาคดีว่า อิสราเอลกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ที่กาซา...ปธน.ไบเดนได้ออกมายืนกระต่ายขาเดียวว่า เป็นความชอบธรรมของอิสราเอลที่สามารถบุกตามล่าจับตายทำลายกลุ่มนักรบฮามาสในฉนวนกาซา... ซึ่งไม่ต้องมีการหยุดยิงทั้งสิ้น...โดยสหรัฐฯ ถึงกับวีโตข้อมติที่ยื่นเข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคงเป็นจำนวนหลายฉบับ...ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม (ปีที่แล้ว) ที่นำเสนอให้มีการหยุด (ชั่วคราว) ทันทีที่กาซา โดยรัสเซียเป็นผู้นำเสนอ...ตามด้วยหลายข้อมติที่หลายประเทศต่างผลัดกันเสนอให้หยุดยิงในคณะมนตรีความมั่นคง...แต่ก็ถูกตีตกด้วยการวีโตของสหรัฐฯ โดยอ้างว่า ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้ประณามฮามาสว่าเป็นฝ่ายผิด เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอของไบเดนครั้งนี้ ก็แทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับข้อเสนอจากฝ่ายฮามาส ในการเจรจาเพื่อหยุดยิงเพื่อแลกเปลี่ยนเชลยศึก โดยเฉพาะในข้อเสนอ 2 ครั้งล่าสุด โดยครั้งสุดท้ายก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 3 อาทิตย์มานี้เอง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายฮามาส และจากฝ่ายอิสราเอล... เพราะในการเจรจากว่าร่างข้อตกลงนี้จะออกมา ต้องใช้ตัวแทนถึง 4 ฝ่ายที่เจรจาอย่างเคร่งเครียด จริงจังคือ จากฝ่ายกาตาร์ (ที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานปีกการเมืองของฮามาส) อียิปต์ (ที่รับศึกหนักเพราะเป็นที่พักพิงของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกทหารอิสราเอลยิงไล่กวาดต้อนจากตอนเหนือของฉนวนกาซามารวมกันอย่างแออัดที่นี่ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของด่านราฟาห์ซึ่งเป็นด่านเดียวที่เปิดให้สิ่งของช่วยเหลือปะทังชีวิตจากยูเอ็นจะเข้าไปช่วยชาวกาซา); ฝ่ายอิสราเอล-ได้แก่ ตัวแทนระดับผบ.ของหน่วยมอสซาดซึ่งเทียบเท่ากับหน่วยซีไอเอของสหรัฐฯ และผอ.ซีไอเอของสหรัฐฯ ได้แก่ Bill Burns (ได้เข้าร่วมประชุมในทุกร่างข้อตกลงหยุดยิงที่ผ่านมา)

ร่างข้อตกลงสุดท้ายเมื่อ 3 อาทิตย์ก่อน ปรากฏว่า ขณะที่อียิปต์นำไปให้แก่ฝ่ายนำของฮามาสเพื่อพิจารณา ก็มีข่าวรายงานโดยซีเอ็นเอ็นว่า ผอ.ซีไอเอเดือดดาลมาก บอกว่ามีการเติม (โดยพลการ) ข้อความที่ไปเสนอต่อฮามาสว่า ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวนี้จะปูทางไปสู่การหยุดยิงถาวร...โดยทางอิสราเอลไม่ยอมให้มีข้อความว่า จะมีการหยุดยิงถาวร... เพราะอิสราเอลต้องการให้มีประโยคว่า อิสราเอลจะไม่ยอมให้มีการหยุดยิงถาวรจนกว่าจะต้องทำลายกลุ่มฮามาสให้หมดสิ้น

ปรากฏว่า การประกาศของไบเดนครั้งนี้ ได้เปิดทางให้มีการหยุดยิงถาวรโดยในขั้นตอนที่ 3 ก็คือ การส่งมองร่างของเชลยศึก พร้อมกับการฟื้นฟูกาซา (Reconstruction)

น่าสงสัยว่า ทำไมไบเดนเกิดกินยาผิดอะไรขึ้นมา จึงมาเสนอหยุดยิงชั่วคราว...แลกเปลี่ยนเชลยศึกจนถึงหยุดยิงถาวร

ก็เพราะการกดดันจากประชาชนอเมริกันเอง โดยเฉพาะนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยดังๆ ได้ทำการประท้วงอย่างหนักข้อ...ล่าสุดในพิธีประสาทปริญญาของม.ฮาร์วาร์ด ก็มีการรวมตัวประท้วงด้วยการเดินออกจากพิธีประสาทปริญญา ทั้งตัวนักศึกษาและอาจารย์จำนวนมากเนื่องเพราะมหาวิทยาลัยได้ปฏิเสธจะให้ปริญญากับนักศึกษา 13 คนที่ประท้วงให้ปลดแอกปาเลสไตน์ (ก่อนหน้านี้) รวมทั้งได้พักการเรียนแก่นักศึกษาถึง 50 คน และได้ทำทัณฑ์บนขั้นหนักที่จะไล่ออกนักศึกษาที่กดดันมหาวิทยาลัย (ให้ถอนการลงทุนจากบริษัทที่ผลิตหรือค้าอาวุธกับประเทศอิสราเอล)

ขบวนการนักศึกษาต่อต้านนโยบายโอบอุ้มการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของรัฐบาลไบเดน ที่ค้ำจุนรัฐบาลอิสราเอล และคณะกรรมการมหาวิทยาลัยกำลังขยายตัวไม่เพียงในสหรัฐฯ แต่ไปยังยุโรป และทวีปอื่นๆ

พวกนักศึกษาและประชาชนอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลไบเดน กำลังจะกลับมารวมตัวประท้วงใหญ่ในการประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคเดโมแครตที่เมืองชิคาโก ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งน่าจะทำให้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนปั่นป่วนแบบที่เกิดขึ้นในการประชุมใหญ่ของพรรคในปี 1968 ที่ชิคาโกนั่นแหละ

ตอนนั้น เป็นการต่อต้านนโยบายรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ส่งทหารอเมริกันไปรบในสงครามเวียดนาม... การประท้วงรุนแรงระหว่างตำรวจปราบจลาจลกับกลุ่มนักศึกษา ประชาชน จนมีคนตายและได้รับบาดเจ็บ... ในที่สุดพรรครีพับลิกันโดยริชาร์ด นิกสัน ก็คว้าชัยชนะไป

และในกลางเดือนกันยายนนี้ ก็จะเป็นฤดูเปิดเทอมตามแคมปัสต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่นักศึกษาตามแคมปัสต่างๆ จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง... และน่าจะเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ต่อนโยบายของรัฐบาลไบเดน (ที่สนับสนุนรัฐบาลอิสราเอลด้านอาวุธและเงินช่วยเหลือ...ไปฆ่าประชาชนชาวปาเลสไตน์) รวมทั้งนโยบายการลงทุนของคณะกรรมการมหาวิทยาลัยนั้นด้วย

และยังมีการกดดันจาก 3 ประเทศในยุโรป ไอร์แลนด์, นอร์เวย์, สเปน ล่าสุดก็มีประเทศสโลเวเนียเป็นประเทศที่ 4 ในยุโรปที่สภาลงมติยอมรับประเทศปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ

รวมทั้งคะแนนนิยมของไบเดนเอง ในรัฐแถบมิดเวสต์ที่มีชาวอาหรับอเมริกันพำนักอยู่หนาแน่น ก็แสดงอย่างชัดเจนว่า จะไม่ไปลงคะแนนเสียงให้ไบเดน ซึ่งไบเดนอาจจะแพ้คะแนนให้แก่ทรัมป์ในแต่ละรัฐ บางทีแพ้แค่ 1 พันคะแนนจากคะแนนเสียงเหยียบล้านเสียง ก็สามารถทำให้ไบเดนแพ้แก่ทรัมป์ในรัฐ Battle Ground เหล่านี้

เหนือสิ่งอื่นใด เสียงกดดันจากสารพัดทิศชี้เป้าไปที่ไบเดน ในบทบาทเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลโลก (ICT)

และร่วมเป็นอาชญากรสงครามในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กำลังออกหมายจับจาก ICC อยู่ขณะนี้

นี่อาจเป็นเหตุผลที่ไบเดนเกิดอาการกลับลำ ก่อนจะสายเกินไปคือ Better Late Than Never ก็เป็นไปได้ทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น