xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน มหาราชาธรณินทราชาแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ตอนต้นที่มะธะรัมบนเกาะชวา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

มหาราชาธรณินทราชาหรือศรีสงครามธนัญชัย (ประมาณพ.ศ.1325-1343) ได้สืบราชสมบัติสมาพันธรัฐศรีวิชัยต่อจากราชาธรรมเสตุในปี พ.ศ.1325 แต่ไม่ได้สืบราชสมบัติต่อจากราไคปนมกรณแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ที่มะธะรัมเพราะพระองค์ไม่มีชื่อในจารึกมันทยาสิ (พ.ศ.1450) และจารึกวันนัว เต็งกะที่ 3 (พ.ศ.1451) ที่ระบุชื่อกษัตริย์มะธะรัมและปนมกรณ์ที่ เป็นอัญมณีแห่งไศเลนทรวงศ์อีกท่านหนึ่งคือราไคปนมกรณ์ ราไคปนมกรณ์อาจจะส่งพระองค์ไปเป็นมหาราชาแห่งศรีวิชัยในขณะที่ปนุงกลันปกครองมะธะรัม เนื่องจากวันที่ในจารึกเกลูรักไม่อยู่ในรัชสมัยของราไคปนาราบัน จารึกเกลูรักอาจจะแสดงถึงการที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ที่ศรีวิชัยและพระองค์เป็นคนละคนกับราไคปนมกรณแต่อาจเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องกับราไคปนมกรณ

เนื่องจากพงศาวดารชินถังชู้เล่มที่ 222 ระบุว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยแบ่งการปกครองเป็น 2 ส่วนซึ่งอาจแบ่งเป็นกลุ่มเมืองใต้อิทธิพลเดิมของราชวงศ์ศรีชยนาศบนแหลมมลายู เกาะสุมาตราและทางตะวันตกของเกาะชวาและกลุ่มเมืองทางตอนกลางของเกาะชวา อย่างไรก็ตามทั้ง 2 พระองค์มีส่วนช่วยทำสงครามขยายอิทธิพลของสมาพันธรัฐศรีวิชัยมหาราชาธรณินทราชา เรียกกันสั้นๆว่ามหาราชาอินทรา จากจารึกเกรูลัคในเกาะชวา (พ.ศ.1325) ระบุว่าพระองค์เป็นอัญมณีแห่งไศเลนทรวงศ์ (ดิลกไศเลนทรวงศ์) ได้สร้างเทวรูปมัญชูศรีโพธิสัตว์และระบุพระนามของพระองค์อย่างเป็นทางการว่าศรีสงครามธนัญชัยและยกย่องเป็นไวรีวาระวิระมัธนะ (ผู้พิฆาตศัตรูที่กล้าหาญ) แสดงว่าพระองค์มีบทบาทในการทำศึกสงครามมากเป็นยอดนักรบในการช่วยราชาธรรมเสตุขยายสมาพันธรัฐศรีวิชัยแผ่แสนยานุภาพในช่วงหลังแทนที่ราไคปนมกรณที่ต้องกลับไปใช้ชีวิตในบั้นปลายปกครองมะธะรัมในเกาะชวา

ในประมาณปีพ.ศ.1318 ในขณะที่เป็นเจ้าชายพระองค์ทำสงครามเข้ายึดตามพรลิงค์และไชยาซึ่งเป็นชุมชนมอญมาก่อน ในปีพ.ศ.1325 หลังจากพระองค์ครองราชย์ที่ศรีวิชัย พระองค์ได้มอบหมายให้สถาปนิกนามว่า “คุณะธรรมะ (Gunadharma)” ออกแบบและเริ่มสร้างบรมพุทโธ จันฑิเซวูและจันฑิเมนดุทในชวาและเจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุไชยาและนครศรีธรรมราช ซึ่งสร้างแบบชวาโดยนำช่างและคนงานโดยนำช่างและคนงานก่อสร้างมาจากเกาะชวามาโดยใช้อิฐศิลาแลงสร้างเนื่องจากไม่มีหินภูเขาไฟเหมือนที่เกาะชวา กองทัพเรือที่ขยายอิทธิพลขึ้นมาบนแหลมมลายูนั้นน่าจะเป็นชาวชวามากกว่าชาวมลายูที่มาจากเกาะสุมาตรา แต่ราชวงศ์ไศเลนทร์ไม่สร้างสถาปัตยกรรมแบบนี้ที่อื่นในแหลามมลายู ราชวงศ์ไศเลนทร์อาจตั้งเจ้าเมืองใหม่ปกครองครหิและตามพรลิงค์หลังจากชนะสงคราม โบราณสถานเหล่านี้ยกย่องพระองค์ว่าเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ พระองค์อาจสั่งให้สลักจารึกเกลูรัคในชวากลางและจารึกหลักที่ 23 ด้านหลังในแหลมมลายูเพื่อฉลองการขึ้นครองราชย์ที่ศรีวิชัย ส่วนเจดีย์วัดพระบรมธาตุไชยาก็ยังคงรักษาโครงสร้างของจันฑิแบบชวาอยู่ แม้ว่าจะมีการต่อยอดด้วยศิลปะไทยหลายจุดก็ตาม

รูป 1. เจดีย์หรือจันฑิวัดพระบรมธาตุไชยา ภาพถ่ายโดยคุณเกสร มีขนอน
ในปี พ.ศ.1324 สมาพันธรัฐศรีวิชัยมอบหมายให้พระองค์ยกกองทัพเรือบุกไปตีอนินทิตะปุระยึดอาณาจักรเจนละน้ำบริเวณปากแม่น้ำโขงในกัมพูชาจนล่มสลายไปตามที่ตำนานแห่งซาบากกล่าวไว้ซึ่งไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือนิยายปรัมปราของกัมพูชากล่าวถึงการล่มสลายของอาณาจักรเจนละเลยผลงานการทำสงครามทำให้เกียรติภูมิของพระองค์โดดเด่นจนอาจได้รับการยกย่องจากเมืองต่าง ๆ จนพระองค์อาจได้รับการสนับสนุนให้เป็นมหาราชาแห่งสมาพันธรัฐศรีวิชัยหลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นมหาราชาแห่งสมาพันธรัฐศรีวิชัยในปีพ.ศ.1325 ต่อจากราชาธรรมเสตุต่อมาในปีพ.ศ.1330 พระองค์อาจยกกองทัพเรือศรีวิชัยบุกเผาทำลายวิหารภัทรธิปติศวรที่จิระปุระใกล้กับเมืองปาณทุรังค์หรือเมืองพังรงในปัจจุบันในสมัยพระเจ้าอินทราวรมันพระอนุชาของพระเจ้าสัตยวรมันซึ่งได้สร้างแผ่นจารึกที่ยัง ติกูฮ์ (พ.ศ.1342) กล่าวถึงกองทัพเรือศรีวิชัยว่าชวพละ สังคไหร์นาวากไตร์ ได้บุกโจมตีเมืองทางชายฝั่งหลายเมืองในอาณาจักรจามปาอีกครั้งหลังจากที่เคยบุกมาในปีพ.ศ.1317 พระเจ้าอินทราวรมันต้องสร้างวิหารและเทวรูปขึ้นมาใหม่ชื่อว่า “อินทรภัทเรศวร” ในปีพ.ศ.1342 เพื่อทดแทนของเก่าที่ถูกสมาพันธรัฐศรีวิชัยทำลายไป พระองค์สร้างวิหารมัญชูศรีคฤหะต่อจากกษัตริย์ไศเลนทร์องค์ก่อนจนเสร็จซึ่งอาจเป็นราไคปณมกรณ (จารึกวิหารมัญชูศรีคฤหะ พ.ศ.1335) โดยอัญเชิญอาจารย์กุมารโฆษจากประเทศเคาทิซึ่งน่าจะเป็นแถวอ่าวเบงกอลมาทำพิธี มีจารึกในอินเดียกล่าวว่ามีกษัตริย์ศรีวิชัยพระนามว่าธรณินทราวรมัน (Dharanindravarman) เป็นลูกศิษย์ของพระภิกษุจากเบงกอลชื่อกุมารโฆษ (Kumaraghosa) ซึ่งหมายถึงพระองค์นั่นเอง

ในปี พ.ศ.1335 จักรพรรดิถังเต๋อจง (พ.ศ.1322-1348) ย้ายเมืองท่าไป เจียวจื่อ ใกล้ฮานอยและในจารึกกะรัง เต็งกะ (พ.ศ.1367) มหาราชาสมรตุงคะพระราชโอรสของพระองค์ให้เจ้าหญิงประโมทวรรธนีพระราชนัดดาของพระองค์ให้ช่วยสร้างวิหารเวนุวนะไว้เป็นที่เก็บพระอัฐิของพระองค์ซึ่งอาจเป็นจันฑิปาวนในปัจจุบันก็เป็นได้ราชวงศ์ไศเลนทร์ที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยได้รับการยกย่องจากการที่ราไคปนมกรณและมหาราชาธรณินทราชาเป็นยอดนักรบทำศึกสงครามชนะไปทั่วจึงสามารถขึ้นครองราชย์ได้ที่ศูนย์กลางซึ่งเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ศรีชยนาศแห่งสุมาตรากับราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งชวานี้ พระองค์อาจเสด็จสวรรคตในราวปีพ.ศ.1343

เอกสารอ้างอิง

ศจ.มานิต วัลลิโภดม พ.ศ.2536 ทักษิณรัฐ กรุงเทพ: กรมศิลปากร.
Miksic, John Norman, and Geok Yian Goh. 2017. Ancient Southeast Asia. London: Routledge World Archeology.

Munoz, Paul Michel. 2006. Early Kingdoms of the Indonesian Archipelago and the Malay Peninsula. Singapore: Editions Didier Millet.

Sen, Tansen. 2009. "The Military Campaign of Rajendra Chola I and the China-Chola-Srivijaya Triangle." In Nagapattinam to Suvarnadwipa: Reflection on Chola Naval Expeditions to Southeast Asia, by Hermann Kulke, K. Kesavapany and Vijay Sakhuja, 61-75. Singapore: ISEAS.

Wang Gongwu (Wang Gengwu 王賡武). 1998. The Nanhai Trade: The Early History of Chinese Trade in South China Ocean. Singapore: Time Academic Research.



กำลังโหลดความคิดเห็น