xs
xsm
sm
md
lg

ชาวไทยเชื้อสายมอญ สังขละบุรี ร่วมพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์สุดคึกคัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ประชาชน และนักท่องเที่ยวแห่ร่วมพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ประเพณีงานบุญชาวไทยเชื้อสายมอญ สังขละบุรี เพื่อเป็นการบูชาเทวดาที่อยู่ในน้ำ ในป่า และบนบก อีกทั้งเพื่อสืบสานประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชน ตลอดทั้งเป็นการเผยแพร่ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ให้แก่ชุมชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้

วันนี้ (30 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานพิธีหน้าเจดีย์พุทธคยา วัดวังก์วิเวการาม หมู่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี นายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี ได้เดินทางมาร่วมพิธีงานลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของงาน โดยมีประชาชน และนักท่องเที่ยวกว่า 3,000 คนมาร่วมพิธีกันอย่างคึกคัก

โดยในช่วงเช้าได้เริ่มลากเรือสำเภาจำลองที่ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งภายในบรรจุอาหารคาวหวาน จำนวนทั้งหมด 9 อย่าง อย่างละ 1,000 ชิ้น ตามคติความเชื่อที่ทำสืบทอดกันมาแต่ครั้งอดีต ภายในเรือยังประดับตกแต่งด้วยตุง ธง หลากสีหลายขนาด เพื่อประดับประดาให้เรือมีความสวยงาม ก่อนจะช่วยกันลากจูงเรือออกจากลานพิธี ไปบริเวณสามประสบ (ด้านหลังเจดีย์พุทธคยา) ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสำคัญทั้ง 3 สายของอำเภอสังขละบุรีไหลมาบรรจบกัน ซึ่งประกอบไปด้วย แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำรันตี และแม่น้ำบี่คลี่ ซึ่งเป็นอันเสร็จสิ้นงานบุญลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ของชาวชาวไทยเชื้อสายมอญสังขละบุรีในปีนี้

น.ส.อรัญญา เจริญหงษา รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวังกะ กล่าวว่า สำหรับประวัติความเป็นมาของประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของคนมอญ บ้านวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เกิดขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้าธรรมเจดีย์ กษัตริย์มอญขึ้นครองราชย์ปกครองอาณาจักรมอญ เมืองหงสาวดี พระองค์ทรงเห็นพระภิกษุสามเณรในเมืองมอญหงสาวดี มีความประพฤติย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย พระพุทธศาสนาในเมืองมอญเกิดมลทินด่างพร้อยมากมาย จึงมีพระราชประสงค์จะสังคายนาพระพุทธศาสนาในเมืองมอญเสียใหม่ เพื่อชำระหมู่พระภิกษุสงฆ์ให้มีความบริสุทธิ์

พระองค์จึงมีพระราชโองการรับสั่งให้พระภิกษุสามเณรในเมืองมอญลาสิกขาเสียทั้งหมด แล้วทรงส่งปะขาวถือศีล 8 คณะหนึ่งคือ อดีตพระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก ทรงความรู้ตั้งมั่นในศีล ที่พระองค์มีคำสั่งให้ลาสิกขามาถือศีล 8 เป็นปะขาว และให้ออกเดินทางไปประเทศศรีลังกา เพื่อให้ไปถือการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมาใหม่จากคณะสงฆ์ในประเทศศรีลังกา เสร็จแล้วให้เดินทางกลับมาเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ บวชให้แก่คนมอญในเมืองมอญเสียใหม่

คณะของปะขาวนี้เมื่อเดินทางถึงประเทศศรีลังกา จึงได้รับการอุปสมบทเป็นที่เรียบร้อยตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าธรรมเจดีย์ หลังจากนั้นจึงได้เดินทางกลับเมืองหงสาวดีโดยเรือสำเภา ระหว่างที่เดินทางกลับนั้น เรือสำเภาหนึ่งในจำนวนสองลำโดนพายุที่รุนแรงพัดจนหลงทิศไป จึงมีเพียงเรือสำเภาลำเดียวเท่านั้นที่เดินทางมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย เมื่อทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าธรรมเจดีย์ พระองค์จึงรับสั่งให้ทำเรือจำลองขึ้นมา ข้างในบรรจุด้วยของเซ่นไหว้บูชาเหล่าเทวดาทุกหมู่เหล่าทั้งหลายที่ดูแลพื้นดินก็ดี ที่ดูแลพื้นน้ำก็ดี ที่ดูแลพื้นอากาศก็ดี ได้มาช่วยปัดเป่าให้เรือสำเภาที่หลงทิศไปได้เดินทางกลับมากรุงหงสาวดีโดยปลอดภัย หลังจากที่พระองค์ทรงทำพิธีสะเดาะเคราะห์แล้วไม่กี่วัน เรือที่หลงทิศนั้นเดินทางกลับมาถึงเมืองหงสาวดีอย่างปลอดภัย

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นชาวมอญจึงถือเอาเหตุการณ์นี้ทำพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ในช่วงกลางเดือน 10 ของทุกๆ ปี สืบต่อกันมาตราบจนถึงปัจจุบันนี้

สำหรับประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ชาวไทยรามัญอำเภอสังขละบุรี จัดรวม 3 วัน ในวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบูชาเทวดาที่อยู่ในน้ำ ในป่า และบนบก อีกทั้งเพื่อสืบสานประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชน ตลอดทั้งเป็นการเผยแพร่ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ให้แก่ชุมชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้

ก่อนถึงวันพิธี ชาวบ้านจะร่วมกันเตรียมทำธง ร่ม และจัดเครื่องบูชาเรือต่างๆ เพื่อถวายวัด โดยมีการแบ่งงานให้หัวหน้าคุ้มต่างๆ ในหมู่บ้านรับไปให้ลูกบ้านช่วยกันทำแล้วนำมาส่งที่วัด ผู้ชายส่วนหนึ่งจะมารวมกันที่วัดวังก์วิเวการาม เพื่อสร้างเรือจากไม้ไผ่ ประดับตกแต่งด้วยกระดาษหลากสี ในยามหัวค่ำจนถึงเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะทยอยพากันนำธงหลากสี ตุง ร่มกระดาษมาประดับตกแต่งเรือ และบริเวณปะรำพิธีอย่างเนืองแน่น พร้อมนำเครื่องเซ่นไหว้ เช่น กล้วย อ้อย ขนม ข้าวสุก ดอกไม้ ไปวางไว้ในลำเรือ ก่อนจะจุดเทียนอธิษฐานให้สิ่งไม่ดี และเคราะห์ร้ายต่างๆ ไปให้พ้นจากชีวิตตน และรับฟังบทสวดอิติปิโส 108 จบ และบทสวดสะเดาะเคราะห์จากภิกษุสงฆ์

เมื่อถึงเช้าวันแรม 1 ค่ำ ชาวบ้านมารวมตัวกันตั้งเป็นขบวนแห่ มีปล่อยโคมลอยเล็กใหญ่ที่ช่วยกันทำขึ้นมา ประกอบการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน จากนั้นชาวบ้านทั้งหมดจะช่วยกันลากเรือไปปล่อยกลางน้ำบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำสามสาย ได้แก่ ซองกาเลีย รันตี และบิคลี่ ที่เรียกกันว่า “สามสบ” หรือ “สามประสบ” นั่นเอง

นายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี เปิดเผยว่า ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่อีกงานของชาวไทยเชื้อสายมอญที่อยู่อาศัยในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี นอกจากประเพณีสงกรานต์ ซึ่งชาวมอญมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

ดังนั้นเมื่อมีงานบุญต่างๆ จะเห็นว่าชาวบ้านมีความรัก ความสามัคคี ร่วมแรง ร่วมใจในการจัดงาน โดยมีพระราชอุดมมงคล (หลวงพ่ออุตตมะ) อดีตเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการามเป็นศูนย์รวมจิตใจ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ตนได้มาร่วมงาน จึงอยากถือโอกาสนี้เชิญชวนนักท่องเที่ยว ประชาชนที่ยังไม่เคยมาร่วมงานให้หาโอกาสเดินทางมาร่วมงาน เชื่อว่าทุกคนที่มาร่วมงานบุญลอยเรือสะเดาะเคราะห์จะได้ทั้งความสุข และความอิ่มเอมในบุญกลับไป








กำลังโหลดความคิดเห็น