กสม.จี้ "วัดปากบ่อ" ยกเลิกบังคับตรวจเอชไอวีก่อนบวชหมู่ ชี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ย้ำขัดกฎหมาย มส.มีข้อห้ามบวชแค่วัณโรคระยะอันตราย ประสาน พศ.แจ้งทุกวันห้ามบังคับตรวจเอชไอวีผู้ประสงค์บวชพระ
เมื่อวันที่ 28 ก.ย. นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวกรณีการบังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนบวชเป็นพระภิกษุ ว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์เมื่อ พ.ค.2566 ว่าได้รับแจ้งพบเห็นเหตุการณ์กรณีวัดปากบ่อ เขตสวนหลวง ประกาศรับสมัครโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา กำหนดให้ผู้สมัครต้องแสดงผลตรวจสุขภาพ และต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีเพื่อใช้เป็นหลักฐาน หากติดเชื้อไม่สามารถบรรพชาอุปสมบทได้ กสม.ได้สอบถามไปยังวัดปากบ่อได้รับการยืนยันว่า การตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจัดระเบียบให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและปกติสุข แม้กำหนดให้ต้องแสดงผลการตรวจสุขภาพ แต่มิได้นำมาเป็นเหตุในการพิจารณา มิได้เหมารวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกรายห้ามเข้ารับการอุปสมบท หากเป็นผู้ติดเชื้อก็เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพระอุปัชฌาย์ ซึ่ง กสม. เห็นว่ายังมิได้มีแนวทางที่จะยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีของผู้ประสงค์จะเข้ารับการบรรพชา และอาจมีประเด็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสุขภาพ จึงรับคำร้องเพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายวสันต์กล่าวว่า กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ให้การรับรองและคุ้มครองว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกาย หรือสุขภาพ ความพิการ อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ นอกจากนี้ มาตรา 31 ยังให้การรับรองว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน และข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า เชื้อเอชไอวีไม่ติดต่อจากการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไป ไม่ติดต่อผ่านทางระบบหายใจ หากกินยาต้านไวรัสต่อเนื่องทำให้มีสุขภาพแข็งแรง ดำรงชีวิตได้เช่นคนทั่วไป ประกอบกับกฎมหาเถรสมาคม (มส.) กำหนดเพียงว่าผู้ประสงค์จะบรรพชาต้องเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์ มีเพียงข้อห้ามที่ไม่อนุญาตให้บรรพชาแก่คนที่มีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตรายเท่านั้น โดยให้เป็นดุลยพินิจของพระอุปัชฌาย์ แต่การใช้ดุลยพินิจต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามบริบทสังคมและข้อมูลทางการแพทย์ โดยต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลด้วย
"การที่ให้ผู้ประสงค์บรรพชาต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่มีผลการตรวจเชื้อเอชไอวี โดยอ้างถึงความจำเป็นเพื่อให้สงฆ์หมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างมีสุขอนามัย ทั้งที่การปฏิบัติธรรมตามปกติไม่มีกิจกรรมใดที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเอชไอวี จึงเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่เกินสมควร กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ที่ประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังวัดปากบ่อ ให้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีของผู้ประสงค์จะเข้ารับการอุปสมบท และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แจ้งเวียนไปยังวัดในสังกัดทุกวัดไม่ให้บังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวี เพื่อมิให้มีการเลือกปฏิบัติ เอาการติดเชื้อเอชไอวีมาเป็นข้อจำกัด โดยให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ให้ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีให้กับหน่วยงานศาสนาต่างๆ และให้ พศ. ประสาน สธ.ถวายความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีแด่พระอุปัชฌาย์" นายวสันต์กล่าว