ไทยประกาศเวทียูเอ็น ยุติวัณโรคในปี 2578 เป็นประเทศมีภาวะวัณโรคต่ำ ชี้ระบบหลักประกันฯ ช่วยคนเข้าถึงตรวจและรักษา ครัวเรือนผู้ป่วยวัณโรคล้มละลายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก รุกใช้ AI อ่านเอกซเรย์ทรวงอก ช่วยตรวจพบเร็วแม่นยำ ปรับสูตรยาช่วยลดเวลากินยา ได้กินครบโดส ลดวัณโรคดื้อยา
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. เวลา 10.00 น. (เวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการอภิปรายของภาคส่วนที่หลากหลาย หัวข้อเร่งดำเนินการหลายภาคส่วนเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดการดูแลวัณโรคอย่างมีคุณภาพโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและอย่างเท่าเทียมกันภายใต้บริบทของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยการต่อสู้กับวัณโรค หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 โดยระบุว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง ทั้งวัณโรค วัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยและวัณโรคดื้อยาหลายขนาน โดยแนวโน้มอุบัติการณ์ของวัณโรคของไทยลดลงในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
"แต่วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย ที่ต้องเร่งจัดการและแก้ไขการแพร่ระบาด ได้ใช้วิธีการตรวจทางโมเลกุลที่รวดเร็วและมีความไวในการตรวจหาเชื้อวัณโรคและวัณโรคดื้อยา รวมถึงสนับสนุนให้มีการตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และประเมินความไวต่อยาไปพร้อมๆ กัน เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น" นพ.นิติกล่าว
นพ.นิติ กล่าวว่า เราได้ใช้ AI ในการอ่านผลเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งมีประสิทธิภาพในการระบุบุคคลที่เป็นวัณโรคจากภาพรังสีทรวงอกที่ผิดปกติ หลังจากนั้นผู้ที่ถูกตั้งค่าสถานะโดย AI จะถูกทดสอบเสมหะทันที ซึ่งช่วยให้วินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนี้ ไทยยังได้ปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยวัณโรคตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้ประเทศต่างๆ ให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคระยะสั้น 9 เดือน เพื่อให้ผู้ป่วยลดระยะเวลาในการกินยายาวนาน ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสของการรักษาครบได้มากขึ้น รวมถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานด้วยสูตรยา BPaL/BPaLM ช่วยปรับปรุงคุณภาพของการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนานอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มผลลัพธ์ที่ดีกว่า
"ครัวเรือนของผู้ป่วยวัณโรคที่ล้มละลายในไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอย่างมาก เนื่องจากทุกคนสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่คำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ไทยได้มุ่งมั่นที่จะยุติวัณโรคให้ได้ภายในปี 2578 โดยมีพัฒนาการของหลักประกันสุขภาพฯ เป็นกลไกสำคัญในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรคในไทย เรากำลังเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีภาระวัณโรคต่ำ และจะมุ่งมั่นสู่อนาคตที่ปราศจากวัณโรคเพื่อประเทศชาติและประชาคมโลกร่วมกัน” นพ.นิติ กล่าว