ไทยร่วมแลกเปลี่ยนสมัชชาสหประชาชาติ ย้ำ "ระบบสุขภาพปฐมภูมิ" รูปแบบใหม่ เน้นประชาชนศูนย์กลาง ช่วยบรรลุหลักประกันสุขภาพฯ ไทยพัฒนาทั้งเทเลเมดิซีน รับยาใกล้บ้าน เจาะเลือด-ตรวจแล็บนอก รพ. อสม.ดูแลในชุมชน ผู้ป่วยที่บ้าน หนุนตั้งกองทุนไปที่ท้องถิ่น ช่วยจัดการปัญหาสุขภาพตอบสนองคนแต่ละชุมชน
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. เวลา 11.00 น. (เวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการอภิปรายของภาคส่วนที่หลากหลาย หัวข้อ "ความสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิและแนวทางในการสนับสนุน" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 เพื่อทบทวนความคืบหน้าในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573
นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโควิด นำไทยไปสู่การมีนวัตกรรมทางสังคมและบริการรูปแบบใหม่ของระบบสุขภาพปฐมภูมิ เช่น telemedicine การดูแลสุขภาพคนในชุมชนด้วย อสม. รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน เจาะเลือด-ตรวจแล็บที่ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่และคลินิกเทคนิคการแพทย์นอกหน่วยบริการ รวมไปถึงระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (homeward) คือนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ (New Normal) ที่นำเราไปสู่มิติใหม่ของการให้บริการระบบสุขภาพปฐมภูมิ การจะบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัจจัยสำคัญคือต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องลงทุนอย่างเพียงพอในระบบสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน กลไกทางการเงินการคลังด้านสาธารณสุขต้องได้รับการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นใจในศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่จะสามารถดูแลสุขภาพของผู้คนได้ในระยะยาว โดยเฉพาะการมีระบบสุขภาพปฐมภูมิรูปแบบใหม่ เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือความสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิที่จะช่วยให้แต่ละประเทศบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพฯ
วันเดียวกัน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เข้าร่วมการอภิปรายฯ หัวข้อพัฒนาและปรับการลงทุนของเราเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในโลกหลังโควิด ว่า ไทยบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพฯ เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รายจ่ายสุขภาพที่ประชาชนต้องจ่ายด้วยตนเองลดลงน้อยกว่า 10% ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด มีครัวเรือนเพียง 1.5% ที่ประสบปัญหาล้มละลายทางการเงินจากค่ารักษาพยาบาล สำคัญที่สุดคือ ส่งเสริมกลไกความโปร่งใสและความรับผิดรับชอบในการตัดสินใจในการระดมและจัดสรรทรัพยากร ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพฯ ของไทยมีบอร์ด สปสช. ที่มีตัวแทนจากผู้มีส่วนได้เสีย 30 คน มาจากภาคประชาสังคม 5 คน ขับเคลื่อนและพัฒนาระบบ ตัดสินใจนโยบายโดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อจัดสรรอย่างยุติธรรมและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า นวัตกรรมทางการเงินการคลังด้านสาธารณสุข เพื่อหลักประกันสุขภาพฯ เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญที่ควรอภิปราย ตัวอย่างผลสำเร็จของไทย คือ จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เป็นการสมทบกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกองทุนหลักประกันฯ เพื่อกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและหน่วยบริการสาธารณสุขระดับชุมชน ตัดสินใจร่วมกันว่าจะใช้เงินกองทุนเพื่อพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขในแต่ละท้องถิ่นอย่างไร ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น ความสำเร็จที่ผ่านมาพบว่า ช่วยให้แต่ละท้องถิ่นจัดการสาธารณสุขที่ตอบสนองประชาชนในท้องถิ่นได้ ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ไทยจึงขอสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ พัฒนาและปรับการลงทุนด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น เพื่อระดมทรัพยากรภายในของตน