xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน ราชวงศ์ไศเลนทร์ตอนต้นที่มะธะรัมบนเกาะชวา (ประมาณ พ.ศ.๑๒๘๙-๑๓๙๕)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ราไคปนมกรณ
ราไคปนมกรณ (4 ตุลาคม พ.ศ.1289-1327 ในฐานะผู้ปกครองมะธะรัมตามจารึกวันนัว เต็งกะที่ 3 จารึกเมื่อ พ.ศ.1451) มีพระนามเต็มว่ามหาราชา ดยาห์ ปัญจปณ กริยาณ ปนมกรณ หรือ มหาราชา ปัญจปณปติกมกรณในช่วงนี้ราชวงศ์ไศเลนทร์ได้ย้ายไปอยู่บริเวณตอนในเกาะชวาแถวที่ราบสูงเกวูและเกดูแล้ว เรื่องเล่าปราฮยันกันของอาณาจักรซุนดากล่าวบุว่าพระองค์ให้เจ้าชายปนาราบัน (ปนุงกลัน พ.ศ.1327-1346) ยกทัพเรือรบกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยของราชาธรรมเสตุแห่งราชวงศ์ศรีชยนาศในปี พ.ศ.1303 หรือพ.ศ.1308สันนิษฐานได้ว่าหลังจากสงครามครั้งนี้ ราชวงศ์ศรีชยนาศและไศเลนทร์ซึ่งนับถือศาสนาเดียวกันจึงจับมือเป็นพันธมิตรกันในสมาพันธรัฐศรีวิชัย โดยราชาธรรมเสตุครองราชย์อยู่ที่ปาเล็มบังอยู่ เดอ คาสปาริสเชื่อว่า ราไคปนมกรณส่งบรรณาการให้ราชวงศ์ไศเลนทร์

จากจารึกกลาสาน (พ.ศ.1321) เขียนเป็นภาษาสันสกฤตใช้อักษรก่อนนาครีกล่าวว่าคุรุ สังราชาไศเลนทรวงศ์ชักชวนราไคปนมกรณ์ (เกริยานะปนมกรณ์) อัญมณีแห่งไศเลนทรวงศ์ (ดิลกไศเลนทรวงศ์) สร้างตาราภูวนัมสำหรับโพธิสัตว์เทวีตารา เทวีแห่งพุทธศาสนามหายาน พระองค์ดูและการก่อสร้างโดยพระองค์เองและใช้เงินของราชวงศ์ไศเลนทร์โดยยกหมู่บ้านกลาสะให้เป็นธรณีสงฆ์ จันฑิกลาสานเก่าแก่ที่สุดในที่ราบสูงปรัมบานัน ยอร์ดานศึกษาจันฑิกลาสานและจารึกเกลูรักที่มัญชูศรีคฤหะในบริเวณจันฑิเซวูกล่าวถึงกุมารโฆษจากเคาทิทวีป (เกาทะหรือเกาทะวิสายะ) ของอาณาจักรเบงกอล จารึกเหล่านี้เขียนตามแบบอินเดียเหนือที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างชวากับเบงกอล การค้นพบจารึกบนพระพุทธรูปสำริดจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่เซมารังในชวากลางเป็นภาษาสันสฤตที่เขียนด้วยอักษรอินเดียเหนือเนื่องจากพุทธศาสนาในเกาะชวามาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

พระองค์เป็นกษัตริย์ของราชวงศ์ไศเลนทร์และปกครองเมืองมะธะรัมอยู่เกาะชวาตอนกลางครองราชย์เป็นราไคปนมกรณสืบราชสมบัติจากราไคศรีสัญชัยผู้ก่อตั้งราชวงศ์สัญชัยในจารึกกลาสาน (พ.ศ.1321) และพระองค์มีชื่ออยู่ในจารึกมันธยาสิหรือเกดู (พ.ศ.1450) และจารึกวันนัว เต็งกะที่ 3 (พ.ศ.1451) เป็นพระนามลำดับที่ 2 ที่สลักโดยราไคบาลิตุงแห่งราชวงศ์สัญชัยที่ปกครองอาณาจักรเมดังบนที่ราบสูงเคดูใช้ลำดับการสืบสันตติวงศ์กษัตริย์ก่อนราไคบาลิตุง โดยเรียกราไคปนมกรณว่าเป็นผู้สร้างกราตอนคือวังแบบชวา เรื่องเล่าปราฮยันกันกล่าวว่าพระองค์เป็นบุตรของราไคสัญชัยกับเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์เนื่องจากเรื่องเล่าปราฮยันกันเขียนขึ้นหลังจากเหตุการณ์นับศตวรรษจึงไม่อาจตัดการสันนิษฐานได้ว่าราไคปนมกรณ์อาจเป็นพี่น้อง หรือลูกพี่ลูกน้อง หรือลูก หรือหลานของราไคสัญชัยได้

เพื่อขยายอิทธิพลของศรีวิชัยราไคปนมกรณ์และธรณินทราชาอาจจะร่วมกันทำสงครามหลังจากราชวงศ์ไศเลนทร์เป็นพันธมิตรกับศรีวิชัยตั้งแต่ปีพ.ศ.1303 หรือ 1308 ในปีพ.ศ.1310 ศรีวิชัยมอบหมายให้พระองค์และเจ้าชายธรณินทราชาเป็นแม่ทัพเรือศรีวิชัยบุกโจมตีอ่าวตังเกี๋ยหรือมณฑลอันนัม ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ถังบริเวณเมืองเจียวจื่อ ใกล้กรุงฮานอยในปัจจุบัน แต่ผู้ว่าอันนัมที่ชื่อว่า จางป๋ออี้ (张伯仪) สามารถขับไล่กองทัพเรือนี้ออกไปได้ในบริเวณแถวซอนเทและสร้างป้อมปราการโลทันห์จารึกว่าพ.ศ.1310 กองทัพคุน-หลุนหรือต้า-ปา บุกปากแม่น้ำงานอัน (ใกล้ฮานอย) จากนั้นพ.ศ. 1311-1312 ศรีวิชัยส่งทูตไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิถังไต้จงที่จีนในนามของกา-ลิง(诃陵เหอ-หลิง) หลังจากยกทัพบุกมณฑลอันนัมในปีพ.ศ.1310 พระองค์มีอีกพระนามว่ามหาราชาปัญจปณปนมกรณและได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่และแม่ทัพเรือตัวแทนราชวงศ์ไศเลนทร์ พระองค์อาจส่งทูตไปจีนในนามของกา-ลิง ในปี พ.ศ.1311-1312 ในสมัยจักรพรรดิถังไต้จง (พ.ศ.1305-1322) ในสมัยพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมันปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปาณทุรังค์อาณาจักรจามปาย้ายศูนย์กลางไปอยู่ที่บริเวณปาณทุรังค์และเกาธาระ สร้างวังอยู่บริเวณวิหารโพนครที่สร้างให้เทวีแห่งธรณีชื่อว่ายันโพนครใกล้กับเมืองญาจางในปัจจุบัน จากพ.ศ.1301-1402 เอกสารจีนจะเรียกจามปาว่าฮวน-ฮวง (環王ฮวน-หวัง) และจามปาอาจขัดขวางการค้าระหว่างศรีวิชัยกับจีน

ในปีพ.ศ.1318 พระองค์และเจ้าชายธรณินทราชาได้รับมอบหมายให้โจมตีเมืองมอญอย่างครหิและตามพรลิงค์นอกเหนือจากสลักจารึกหลักที่ 23 ด้านหน้าเพื่อยกย่องราชาธรรมเสตุแล้วและสร้างวัด 3 แห่งที่ตามพรลิงค์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในชัยชนะ ราไคปนมกรณ์อาจเป็นผู้สร้างจันฑิที่วัดแก้วและวัดหลงในอ.ไชยาเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือครหิ เพราะรูปแบบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับจันฑิกลาสานที่ชี้ให้เห็นว่าคนสร้างน่าจะเป็นคนๆเดียวกัน สถูปที่วัดแก้วและวัดหลงน่าจะสร้างในระหว่างปีพ.ศ.1318-1321 พระองค์เริ่มสร้างวัดเซวูก่อนที่กษัตริย์องค์ต่อๆมาจะขยายออกไป จารึกอภัยคีรี (พ.ศ.1375) ที่ค้นพบที่โบราณสถานระตูบากากล่าวถึงเตชะปูรณปาเนะปนมกรณ และเรียกวิหารบนภูเขาว่า อภัยคีรีวิหารที่แปลว่า วิหารบนภูเขาที่ปราศจากภัย จากจารึกนี้สรุปได้ว่าพระองค์ในช่วงหลังต้องการความสงบทางใจจึงสร้างวิหารนี้เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรม พระองค์เป็นผู้ที่ยึดมั่นในพุทธศาสนามหายาน ในบริเวณนี้ค้นพบพระพุทธรูปปางต่างๆ แต่ก็มีเทวรูปฮินดู เช่น เจ้าแม่ทุรคา พระคเณศและโยนีปนอยู่ด้วย จารึกกลาสานและจารึกอภัยคีรีระบุว่าราไคปนมกรณทรงมีพระราชานุญาติให้กูรูของกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์สร้างพระพุทธรูป วิหารและวัดอุทิศแด่พระเทวีตารา โดยพระองค์ดูแลการก่อสร้างโดยใช้เงินของราชวงศ์ไศเลนทร์และพระราชทานให้หมู่บ้านกลาสานที่อยู่รอบๆวิหารให้กับชาวพุทธหลังจากที่ราชวงศ์ไศเลนทร์ได้เป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ศรีชยนาศในสมาพันธรัฐศรีวิชัยแล้ว พระองค์อาจจะสร้างระตู บากาและจันฑิซารีใกล้ยอกยาร์กาต้าประมาณปีพ.ศ.1323 พระองค์อาจจะถอยจากการสงครามก่อนที่จะสิ้นสุดรัชสมัยในปีพ.ศ.1327

รูป 19. เจดีย์หรือจันฑิวัดแก้ว ภาพถ่ายโดยคุณเกสร มีขนอน
โครงสร้างสถาปัตยกรรมของเจดีย์หรือจันฑิวัดแก้วที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานีประเทศไทยกับจันฑิกลาสานที่เกาะชวาภาคกลางในเกาะชวามีความคล้ายคลึงกัน แต่วัสดุในการสร้างต่างกัน ในประเทศไทยใช้หินศิลาแลงเนื่องจากไม่มีหินภูเขาไฟเหมือนในอินโดนีเซีย และจะต้องนำช่างจากชวามาสร้างที่ภาคใต้ของไทย เพราะคนในพื้นที่ไม่สามารถสร้างตามแบบชวาในยุคราชวงศ์ไศเลนทร์ตอนต้นได้

รูป 20. จันฑิกลาสาน แหล่งที่มา https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=180 ได้รับอนุญาตจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรแล้ว
ในปี พ.ศ.1327 พระองค์และเจ้าชายธรณินทราชาได้รับมอบหมายให้โจมตีเกาธาระใกล้เมืองญาจางในเวียดนามในปัจจุบัน บุกเผาและทำลายวิหารโพนครและปล้นเอามุขลึงค์ของอาณาจักรจามปาในสมัยพระเจ้าสัตยวรมันในปีพ.ศ.1317 จนพระเจ้าสัตยวรมันหรืออิศวรโลกแห่งจามปายกกองทัพเรือไล่ตามและรบชนะกองทัพเรือศรีวิชัยในทะเลตามที่กล่าวไว้ในแผ่นจารึกที่โพนคร (พ.ศ.1327) ในวิหารที่สร้างขึ้นมาใหม่เป็นภาษาสันสกฤตประกาศว่าได้ขับไล่ศัตรูออกไปและบูรณปฏิสังขรณ์วิหารนี้ดังเดิมในปีพ.ศ.1324 จารึกนี้กล่าวถึงผู้รุกรานว่า “เป็นนักเดินเรือชาวต่างชาติ กินอาหารชั้นต่ำน่ากลัวกว่าซากศพ รูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ดำมากและผอม ดุร้ายขาดความเมตตา” ยกทัพข้ามทะเลมาทางเรือ ได้ปล้นเอาเอามุขลึงค์ไปแล้วจึงเผาวิหารชาวจามปาเรียกกองทัพเรือศรีวิชัยว่า คุนลุน ซึ่งสาเหตุที่สมาพันธรัฐศรีวิชัยยกกองทัพเรือบุกอาณาจักรจามปานั้นมาจากการแข่งขันทางการค้าในตลาดจีนระหว่างศรีวิชัยและจามปา ซึ่งนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพวกชวาที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและวัฒนธรรมกับจามปาอยู่ก่อนแม้ว่าพระองค์จะพ่ายแพ้กลับมาแต่สามารถทำลายท่าเรือจามปาได้ทำให้การค้าของจามปาซบเซาในช่วงปีพ.ศ.1317-1330 เพราะสมาพันธรัฐศรีวิชัยใช้ทหารเรือชวาเป็นหัวหอกในการโจมตี

เอกสารอ้างอิง
เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล พ.ศ.๒๕๕๙ อินโดนีเซีย หมู่เกาะเครื่องเทศ สงครามและการประกาศเอกราช. กรุงเทพ: เพชรประกาย.

ศจ.มานิต วัลลิโภดม พ.ศ.๒๕๓๖ ทักษิณรัฐ หน้า ๑๔๓กรุงเทพ: กรมศิลปากร.

ศ.มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล พ.ศ.๒๕๖๐ ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ.๒๐๐๐. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์.

Boechari. 2012. Melacak Sejarah Kuma Indonesia Lewet Prasasti (Tracing Ancient Indonesian History through Inscription). Jakarta: Kepustakaan Populer Gramedi.

Cœdès, Georges. 1968. The Indianized States of Southeast Asia. Edited by Walter F. Vella. Translated by Susan Brown Cowing. Honolulu, Hawaii: University of Hawaii Press.

Griffiths, Arlo, Nicolas Revire, and Rajat Sanya. 2013. "An Inscribed Bronze Sculpture of a Buddha in bhadrāsana at Museum Ranggawarsita in Semarang (Central Java, Indonesia)." Arts Asiatiques 68 (1): 3-26.

Iguchi Masatoshi 井口正俊. 2015. Java essay: The History and Culture of a South Country. Leicestershire, UK: Matador.

Jordaan, Roy E. 1998. "The Tara Temple of Kalasan in Central Java." Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient 85: 163-183.

Kulke, Hermann. 2016. "Srivijaya Revisited: Reflection on State Formation of Southeast Asian Thalassocracy." Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient 102: 45-95.

Miksic, John Norman, and Geok Yian Goh. 2017. Ancient Southeast Asia. London: Routledge World Archeology.

Munoz, Paul Michel. 2006. Early Kingdoms of the Indonesian Archipelago and the Malay Peninsula. Singapore: Editions Didier Millet.

Suzuki Takashi 铃木峻. 2012. The History of Srivijaya under the Tributary Trade System of China. Tokyo: Mekong.

Zakharov, Anton O. 2012. The Shailendra Reconsidered. Singapore: ISEAS.



กำลังโหลดความคิดเห็น