xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน พันธมิตรระหว่างสมาพันธรัฐศรีวิชัยและราชวงศ์ไศเลนทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ราชวงศ์ศรีชยนาศและราชวงศ์ไศเลนทร์นับถือพุทธศาสนามหายานเหมือนกัน หลังจากราชาธรรมเสตุยึดลังกาสุกะก็ไม่มีกำลังพอที่จะยึดเมืองอื่น ๆ ในอ่าวไทย หลังจากทั้ง สองฝ่ายตระหนักในความเข้มแข็งของกันและกันเลยจับมือเป็นพันธมิตรกันและสมาพันธรัฐมอบหมายให้ราชวงศ์ไศเลนทร์บุกทางเหนือยึดตามพรลิงค์และไชยา (ครหิ) ทำให้พระองค์คงกองเรือในช่องแคบมะละกาเอาไว้ได้

ราไคปนมกรณ์และเจ้าชายธรณินทราชาอาจเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องกันนำกองทัพเรือขยายอิทธิพล หลังจากยึดเมืองมอญทวารวดีอย่างครหิและตามพรลิงค์แล้ว พวกเขาอาจจะสลักจารึกที่ 23 ด้านหน้าเอาไว้เป็นที่ระลึกซึ่งอยู่ที่วัดเสมาเมือง จ.นครศรีธรรมราชในปีพ.ศ.1318 ไม่ใช่ไชยาจากจากการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนแล้วโดย ดร.ปรีชา นุ่นสุขเพื่ออุทิศให้ราชาธรรมเสตุ ในความเป็นจริงแล้วมีจารึกหลายหลักที่ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) เซเดซ์อ่านจารึกทั้งสองด้านสรุปว่าพูดถึงราชาที่ระบุพระสมัญญานามของพระองค์ว่าเสาวริมะทวิมัธนะซึ่งหมายถึงมหาราชาสมรกวิระแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ซึ่งจารึกด้านหลังประกบติดด้านหน้า ต่อมามาชุมดาร์ กรอม และบอสเห็นว่าบุคคลในจารึกหลักที่ 23หน้าแรกและหน้าหลังเป็นคนละคนกัน

เซเดส์ คูลเก้และยอร์ดานก็เชื่อตามนี้เพราะว่าราชาธิราชในหน้าหลังน่าจะเป็นพวกราชวงศ์ไศเลนทร์เพราะคำว่ามหาราชาและราชาธิราชในด้านหลังนั้นน่าจะเป็นธรณินทราชา ส่วนคำว่าราชาด้านหน้านั้นใกล้เคียงกับคำว่าดาโต๊ะ และราชาธิราชในหน้าหลังนั้นคูลเก้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นปนมกรณ

ต่อมาศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูรได้อ่านหลักศิลาจารึกนี้ใหม่เมื่อปีพ.ศ.2511 และยังระบุพระนามกษัตริย์ในจารึกว่า ศรีวิชเยนทราชาและศรีวิชเยนทรวรบดีซึ่งมีคำนำหน้าราชา ต่อด้วยอินทรา 2 ครั้ง ศรีวิชัย+ราชา+อินทรา น่าจะเป็นราชาอินทราแห่งศรีวิชัยที่หมายถึงพระองค์แต่คูลเก้เชื่อว่าจารึกด้านหน้ากล่าวถึงกษัตริย์ศรีวิชัยแค่ว่าเป็นราชา ภูบดี (Bhupati) นฤบดี (Nrpati) แต่ไม่บอกว่าเป็นราชวงศ์ไศเลนทร์ น่าจะเป็นกษัตริย์ศรีวิชัยแห่งเกาะสุมาตราซึ่งเทียบได้กับดาโต๊ะแต่การอ่านนี้ไม่ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ

จารึกหลักที่ 23 (พ.ศ.1318) ด้านหน้า (Ligor A) ตอนแรกเซเดซ์เชื่อว่าเป็นศรีสงครามธนัญชัย แต่ซาคารอฟและซูซูกิเชื่อว่าเป็นราไคปนมกรณในจารึกกลาสาน (พ.ศ.1321) แต่ไม่รู้ว่าราชวงศ์ไศเลนทร์ยึดสมาพันธรัฐศรีวิชัยได้ยังไง ในจารึกด้านหน้ากล่าวว่าพระองค์ได้สั่งให้สร้างปราสาทที่ทำด้วยอิฐ 3 แห่งหรือจันฑิอุทิศให้พระพุทธเจ้าพระโพธิสัตว์ปัทมปาณีและวัชรปาณีที่ภาคใต้ของไทยในคาบสมุทรมลายูอาจเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการทำสงครามยึดเมืองตามพรลิงค์ก็เป็นได้ ซึ่งอาจจะเป็นเจดีย์วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชองค์เก่าที่อยู่บริเวณเจดีย์พระบรมธาตุทรงลังกาที่อาจถูกรื้อทิ้งไปแล้วก็เป็นได้ กับเจดีย์อีก 2 องค์ และอาจทรงสร้างพระบรมธาตุไชยาไว้เป็นที่ระลึกในการยึดเมืองไชยา จารึกหลักที่ 23 ด้านหน้า (Ligor A) ใช้คำว่าศรีวิชาเยนทราชา (ราชาอินทราแห่งศรีวิชัย) ศรีวิชาเยนทรวรภูบดีและศรีวิชาเยนฤบดี ที่ความหมายใกล้เคียงกับคำว่าดาโต๊ะศรีวิชัย (Datu Srivijaya) ซึ่งเป็นผู้ปกครองสูงสุดของสมาพันธรัฐและมีคำว่าธรฺมสฺถิรตา (สะพานแห่งธรรม) ที่แปลว่า ”ธรรมเสตุ”ดังนั้นด้านหน้าหมายถึงราชา (ดาโต๊ะ) ธรรมเสตุ

ด้านหลัง (Ligor B) กล่าวถึงมหาราชาแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ว่าเป็นวิษณุองค์ที่ 2 ด้วยคำว่าไศเลนทราวงศาดิลกและไศเลนทราวงศาปรภู (Sailendravamsaprabhu) เป็นราชาธิราช (Rajadhiraja) เซเดซ์เชื่อว่าเป็นศรีสงครามธนัญชัยแห่งจารึกเกรูลัค (พ.ศ.1325) คูลเก้เชื่อว่าไม่มีกษัตริย์ไศเลนทร์องค์ใดใช้พระนามว่าวิษณุ วิษณุน่าจะเป็นคำยกย่องมากกว่าพระนามและน่าจะเป็นตำแหน่งมหาราชาเพื่อเป็นการแข่งกับเขมรในแหลมมลายูจารึกนี้น่าจะกล่าวถึงศรีสงครามธนัญชัยมากกว่าปนมกรณตามที่คูลเก้สันนิษฐานซึ่งอาจจะสลักขึ้นหลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นมหาราชาแห่งศรีวิชัยแล้ว ซึ่งพระองค์อาจได้รับพระราชโองการจากราชาธรรมเสตุให้ทำสงครามขยายอิทธิพลไปทางเหนือ อย่างไรก็ตามจารึกนี้เป็นหลักฐานแสดงความเกี่ยวข้องกันระหว่างสมาพันธรัฐศรีวิชัยและราชวงศ์ไศเลนทร์ การขยายตัวเข้าสู่เกาะชวาและแหลมมลายูนี้ทำให้สมาพันธรัฐศรีวิชัยควบคุมช่องแคบมะละกาและช่องแคบซุนดาที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ มีการค้นพบซากโบราณสถานของสมาพันธรัฐศรีวิชัยทั้งในไทยและมาเลเซีย จารึกด้านหน้ายกย่องธรรมเสตุแต่ด้านหลังยกย่องธรณินทราชา ท้ายที่สุดธรณินทราชาได้สืบราชสมบัติต่อจากธรรมเสตุในปีพ.ศ.1325 ทำให้เมืองพันธมิตรล่าสุดกลายเป็นผู้นำสมาพันธ์ ผู้ก่อตั้งสมาพันธรัฐศรีวิชัยและราชวงศ์ไศเลนทร์มีตำแหน่งฑปุนดาเหมือนกัน หมายความว่าฑปุนดาไศเลนทร์เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่ทำพิธีทางศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวะแต่เป็นสามัญชนก่อนตั้งราชวงศ์ ที่อาจจะอพยพจากเมืองใดเมืองหนึ่งในแหลมมลายูหรือเกาะสุมาตรา ต่อมายกกองทัพมาทำสงครามกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยจนกลายเป็นพันธมิตรกันในที่สุด คูลเก้ไม่รู้ว่าทั้งสองราชวงศ์รวมตัวกันอย่างไรแต่กรอมและบอสเชื่อว่าเป็นพันธมิตรกันจากการที่เอาจารึกหลักที่ 23 ด้านหน้าด้านหลังประกบกันเป็นสัญลักษณ์พันธมิตรระหว่างสมาพันธรัฐศรีวิชัยแห่งเกาะสุมาตรากับราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งเกาะชวา

รูป 1.จารึกหลักที่ ๒๓ ที่แสดงความเป็นพันธมิตรระหว่างราชวงศ์ศรีชยนาศกับราชวงศ์ไศเลนทร์ แหล่งที่มา ฐานข้อมูลศิลาจารึก  www.sac.or.th ได้รับอนุญาตจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรแล้ว
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. พ.ศ.๒๕๒๙. กรุงเทพ: กระทรวงวัฒนธรรม.
ศ.มานิต วัลลิโภดม. พ.ศ.๒๕๓๖. ทักษิณรัฐ. กรุงเทพ: กรมศิลปากร.
Kulke, Hermann. 2016. "Srivijaya Revisited: Reflection on State Formation of Southeast Asian Thalassocracy." Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient 102: 45-95.
Wannasarn Noonsuk. 2017. Peninsular Siam and its Neigborhoods: Essay in Memory of Dr Preecha Noonsuk. Nakorn Si Thammarat: Cultural Council of Nakorn Si Thammarat Province.



กำลังโหลดความคิดเห็น