xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน ราชาธรรมเสตุ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ศรีชัยนาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ดาโต๊ะหรือราชาธรรมเสตุ (ประมาณพ.ศ.1285-พ.ศ.1325) ในยุคนี้สมาพันธรัฐศรีวิชัยแผ่ขยายอำนาจไปถึงอาณาจักรทะรุมะนครและกลายเป็นพันธมิตรของราชวงศ์ไศเลนทร์ (กา-ลิง) ในเกาะชวา ปัน-ปัน รักตมฤติกา ลังกาสุกะ ตามพรลิงค์และครหิ ในแหลมมลายูฝั่งตะวันตกของอ่าวไทยเพราะเมืองเหล่านี้มีการค้าข้ามแหลมมลายูดังนั้นจึงเป็นการค้าในยุคก่อนศรีวิชัย ในปีพ.ศ.1285 พระองค์ส่งทูตเข้าเฝ้าจักรพรรดิถังเสวียนจง (พ.ศ.1255-1294) ซึ่งหลังจากคณะทูตชุดนี้แล้วชื่อซยิต-ลี่-พุท-เจย (ซื่อ-ลี่-โฝ-ซื่อ) ได้หายไปจากพงศาวดารราชวงศ์ถังโดยไม่มีผู้ใดทราบสาเหตุที่แน่ชัด ซูซูกิสันนิษฐานว่าเป็นคณะทูตชุดสุดท้ายที่ไปจากปาเล็มบังในเกาะสุมาตรา เพราะหลังจากนั้นอาจมีการส่งทูตจากมะธะรัมโดยราชวงศ์ไศเลนทร์ที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ศรีชยนาศในสมาพันธรัฐศรีวิชัยจากเกาะชวาไปจีนในนามของกา-ลิง (訶陵เหอ-หลิง) เพราะมะธะรัมใกล้จีนมากกว่าปาเล็มบัง แต่มิกซิคสันนิษฐานว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยไม่มีความจำเป็นที่ส่งทูตไปจีนในช่วงนี้ มีการค้นพบเหรียญอาหรับสมัยอับบาซิยะห์ (อับบาสิด) หลายแห่งในบริเวณแหลมมลายูลงปี พ.ศ.1286 ซึ่งเป็นช่วงที่สมาพันธรัฐศรีวิชัยยังไม่ได้มีอิทธิพลบนแหลมมลายู

วอลเตอร์เชื่อว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยบุกยึดลังกาสุกะได้ในช่วงเดียวกับที่ยึดเคดาห์คือประมาณพ.ศ.1233-1242 แต่พงศาวดารทาริค ฟาตานี (Tarikh Fathani) ที่เรียกพระองค์ว่าราชา เสรี บิลายา (Raja Seri Bilaya แปลว่า ราชาศรีวิชัย) กล่าวว่าพระองค์ได้ส่งกองทัพบุกยึดลังกาสุกะได้ในปีพ.ศ.1293 และปัน-ปันในเวลาต่อมา จากนั้นพระองค์ได้แต่งงานกับพระธิดาของพระราชาสังบังสา (Raja Sang Bangsa) แล้วมีพระโอรสจึงให้ปกครองลังกาสุกะต่อไปในปีพ.ศ.1293 ปัน-ปัน รักตมฤติกาและรักษสะอาจเข้าร่วมศรีวิชัยหลังจากลังกาสุกะ ในปีพ.ศ.1298 สมาพันธรัฐศรีวิชัยยังคงยิ่งใหญ่ แต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในจีนหลายครั้งซึ่งมีผลกระทบต่อการค้าขายเช่น ในปีพ.ศ.1298-พ.ศ.1306 เกิดกบฏอันลู่ซัน ในปีพ.ศ.1301พ่อค้าชาวอาหรับและเปอร์เซียทำลายเมืองกว่างโจวแล้วหนีลงเรือไป ในปีพ.ศ.1303 ชวาย้ายเมืองหลวงไปทางตะวันออก มีเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวอาหรับและเปอร์เซียในปีพ.ศ.1306 ที่หยางโจว ในปีพ.ศ.1314-1315 เกิดความไม่สงบมีการปล้นเมืองกว่างตงมีการยึดเรือพ่อค้าต่างชาติที่สนับสนุนกบฏทำให้ในปีพ.ศ.1318 มีเรือเข้าจีนน้อย

รูป 13.เรื่องเล่าปราฮยันกัน (Carita Parahyangan) แหล่งที่มา: hystoryana.blogspot.com/2018/03/naskah-carita-parahayangan.html
นักประวัติศาสตร์ชาวอินโดนีเซียบางคนเชื่อว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยอาจจะทำสงครามกับราชวงศ์ไศเลนทร์ในช่วงปีพ.ศ.1303 หรือ 1308 โดยราไคปนมกรณสั่งให้เจ้าชายปนาราบันหรือปนุงกาลันยกกองทัพเรือไศเลนทร์บุกปาเล็มบัง-จัมบิบนเกาะสุมาตรา ทำสงครามกับราชาธรรมเสตุแห่งศรีวิชัยตามเรื่องเล่าปราฮยันกันของอาณาจักรซุนดา หลังจากสงครามครั้งนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่ราชวงศ์ไศเลนทร์กลายมาเป็นพันธมิตรกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยราชาธรรมเสตุยังครองราชย์อยู่จากจารึกหลักที่ 23 ด้านหน้า (พ.ศ.1318) หลังจากบุกยึดลังกาสุกะราชาธรรมเสตุอาจจะไม่มีเรือรบเพียงพอที่จะยึดเมืองรอบบริเวณอ่าวไทย หลังจากทั้ง 2 ฝ่ายต่อสู้กันต่างก็ตระหนักถึงความเข้มแข็งของอีกฝ่ายจึงตัดสินใจจับมือเป็นพันธมิตรกันและส่งราชวงศ์ไศเลนทร์ไปยึดเมืองบนแหลมมลายูฝั่งอ่าวไทยเช่น สทิงพระ พัทลุง ตามพรลิงค์และไชยาส่วนพระองค์คงกองเรือไว้คุมช่องแคบมะละกาหลังจากบุกยึดลังกาสุกะราชาธรรมเสตุอาจจะไม่มีเรือรบเพียงพอที่จะยึดเมืองรอบบริเวณอ่าวไทย เพราะตามหลักฐานจีนหลังจากพ.ศ.1285 ก็ไม่มีทูตจากซื่อ-ลี่-โฝ-ซื่อ (ซยิต-ลี่-พุท-เจย) อีกเลย หลังจากปีพ.ศ.1303 หรือ 1308 ราชาธรรมเสตุอาจมอบหมายให้ราไคปนมกรณหรือเจ้าชายธรณินทราชา (ที่อาจเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องกัน) แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ที่เป็นพันธมิตรทำสงครามขยายอิทธิพลสมาพันธรัฐศรีวิชัยขึ้นมาบนแหลมมลายูและการยกกองทัพเรือไปตีชายฝั่งอินโดจีนหลายครั้งในรัชสมัยของพระองค์ได้อาศัยราไคปนมกรณและเจ้าชายธรณินทราชาแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์มาเป็นแม่ทัพ เพราะตามหลักฐานจีนหลังจากพ.ศ.1285 ก็ไม่มีทูตจากซยิต-ลี่-พุท-เจย อีกเลย เนื่องจากกบฏอันลู่ซันในปีพ.ศ.1298-พ.ศ.1306 ทำให้เกิดโจรสลัดและจามปาสามารถรบกวนการค้าระหว่างศรีวิชัย ชวาและจีนได้ ราชาธรรมเสตุจึงมอบหมายให้ราไคปนมกรณ์และเจ้าชายธรณินทราชาเป็นแม่ทัพบุกชายฝั่งอินโดจีน เมื่อสถานการณ์ในจีนเริ่มสงบ เหอ-หลิงหรือกา-ลิงที่มะธะรัมของราชวงศ์ไศเลนทร์เริ่มส่งทูตไปจีนในปีพ.ศ.1311 หลังจากโจมตีเจียวจื่อ (交趾) ใกล้กับฮานอยที่ขึ้นกับจีนในปี พ.ศ.1310 โดยแทนที่ทูตจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยที่ส่งทูตเป็นคณะสุดท้ายจากปาเล็มบังเมื่อปีพ.ศ.1285

จนกระทั่งปีพ.ศ.1324 อันเป็นปีสุดท้ายในรัชสมัยของพระองค์สมาพันธรัฐศรีวิชัยมอบหมายให้เจ้าชายธรณินทราชาที่เป็นยอดนักรบเป็นแม่ทัพเรือรวมตัวที่เกาะปูโลคอนดอร์ใกล้กับปากแม่น้ำโขงแล้วบุกเข้าตีอนินทิตะปุระเมืองหลวงของอาณาจักรเจนละน้ำของพระเจ้ามหิปาฏิวรมันกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรเจนละน้ำบริเวณปากแม่น้ำโขงในกัมพูชาและและมีอิทธิพลเหนือกัมพูชาไปจนถึงปีพ.ศ.1345 ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ลุกฮือขับไล่สมาพันธรัฐศรีวิชัยออกไปจากกัมพูชาและก่อตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นมาเป็นยุคพระนครที่พนมกูเลน การรุกรานครั้งนี้ทำให้สิ้นสุดอาณาจักรเจนละน้ำ พระเจ้ามหิทธวรมันอาจถูกตัดพระเศียรจากตำนานซาบากหรือสิ้นพระชนม์ในสงคราม ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือเรื่องเล่าของเขมรกล่าวถึงบทอวสานของเจนละน้ำ หลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตในปีพ.ศ.1325 จึงถือว่าสิ้นสุดราชวงศ์ศรีชยนาศเพราะเจ้าชายธรณินทราชาแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ที่เข้ามาเป็นอุปราชของพระองค์ก็ขึ้นครองราชย์เป็นมหาราชาศรีสงครามธนัญชัยแห่งศรีวิชัยตามจารึกเกลูรัคที่ปาเล็มบังต่อจากพระองค์ เมื่อสมาพันธรัฐศรีวิชัยขยายอิทธิพลขึ้นมาบนแหลมมลายู จะมีอิทธิพลของชวามากกว่ามลายู อาจเป็นเพราะว่าราชวงศ์ไศเลนทร์เป็นหัวหอกในการขยายอิทธิพล โดยดูได้จากสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่ได้รับอิทธิพลศิลปะชวา พระองค์อาจจะมอบหมายให้ราไคปนมกรณหรือเจ้าชายธรณินทราชาเป็นแม่ทัพเรือ แต่พระราชธิดาของพระองค์ที่มีพระนามว่าเทวีตาราต่อมาได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายสมรตุงคะที่เป็นพระโอรสของเจ้าชายธรณินทราชา เป็นการรวมตัวของราชวงศ์ศรีชยนาศและราชวงศ์ไศเลนทร์ หลังจากนั้นราชบุตรเขยของพระองค์ก็ขึ้นครองราชย์ในปีพ.ศ.1335ราชวงศ์ไศเลนทร์ที่เป็นเมืองพันธมิตรกับศรีวิชัยได้รับการยกย่องเป็นมหาราชาในเมืองผู้นำเพราะความทุ่มเทของราไคปนมกรณ์และเจ้าชายธรณินทราชาในการขยายตัวของศรีวิชัย


เอกสารอ้างอิง
เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล. พ.ศ.๒๕๕๙. อินโดนีเซีย หมู่เกาะเครื่องเทศ สงครามและการประกาศเอกราช. กรุงเทพ: เพชรประกาย.

ศ.ดร.ครองชัย หัตถา. พ.ศ.๒๕๕๒. อาณาจักรลังกาสุกะ ประวัติศาสตร์ยุคต้นของชายแดนใต้. ปัตตานี: ภูริปริ๊นช๊อบ.

สุนัติ จุฑามาศ. พ.ศ.๒๕๖๑. เอกสารประกอบโบราณคดีอิสลาม การค้าทางทะเล:สู่อิสลามนุวัตรในยุคโบราณ ทวารวดี-ศรีวิชัย สู่รัฐสุลต่านมลายูปาตานี.

Miksic, John Norman, and Geok Yian Goh. 2017. Ancient Southeast Asia. London: Routledge World Archeology.

Suzuki Takashi 铃木峻. 2012. The History of Srivijaya under the Tributary Trade System of China. Tokyo: Mekong.

Wang Gongwu (Wang Gengwu 王賡武). 1998. The Nanhai Trade: The Early History of Chinese Trade in South China Ocean. Singapore: Time Academic Research.

Wolters, Oliver Williams. 1967. Early Indonesian Commerce: A Study of the Origins of Srivijaya. Ithaca, NY: Cornell University Press.



กำลังโหลดความคิดเห็น