xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งเศสกำลังถูกขับจากแอฟริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


เอ็มมานูเอล มาครง
ฝรั่งเศสจำใจต้องให้ทูตของฝรั่งเศสประจำประเทศไนเจอร์ออกจากประเทศอดีตเมืองขึ้นนี้ หลังจาก 2 เดือนเต็มๆ ที่คณะรัฐประหารได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากปธน.บาซูม (Bazoum) (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทำเนียบบ้านพักเป็นเวลา 2 เดือนเต็มเช่นกัน

คณะรัฐประหารได้ออกคำสั่งให้ทูตฝรั่งเศสประจำไนจอร์ออกจากประเทศ หลังการทำรัฐประหาร (26 กรกฎาคม ปีนี้) และเหตุผลของการยึดอำนาจก็เพราะความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลบาซูม รวมทั้งการแทรกแซงการเมืองภายในของฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม

มีการเน้นถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในอำนาจของอดีตเจ้าอาณานิคม ซึ่งคณะรัฐประหารต้องการให้อำนาจของฝรั่งเศสต้องหมดไปจากการครอบงำ

ปธน.มาครง ยังไม่ยอมให้ทูตฝรั่งเศสเดินทางกลับฝรั่งเศสทันที ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคณะรัฐประหารได้ปิดน่านฟ้าห้ามเครื่องบินขึ้นลง; แต่อีกส่วนหนึ่งคือ ฝรั่งเศสพยายามเดินกลยุทธ์เรียกร้องให้องค์กรทั้ง ECOWAS ซึ่งมีอิทธิพลทางตะวันตกของแอฟริกา และ African Union ให้ส่งกองทัพเข้าจัดการโค่นคณะรัฐประหาร และให้นำปธน.บาซูม กลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง

ฝูงประชาชนไนเจอร์ได้เข้าชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส

และมีข่าวออกมาว่าทูตฝรั่งเศสนอกจากจะถูกตัดไฟแล้ว ยังไม่ให้มีการลำเลียงอาหารไปส่งในสถานทูตด้วย

ขณะเดียวกัน มาครงก็ออกข่าวว่าประเทศฝรั่งเศสสั่งถอนทูตของตนประจำไนเจอร์ ทั้งๆ ที่ทางฝ่ายคณะรัฐประหารได้ออกคำสั่งขับทูตฝรั่งเศสออกจากไนเจอร์

ด้านกองทัพฝรั่งเศสจำนวนประมาณ 1,500 คน ทางปธน.มาครงก็ได้เปลี่ยนชื่อภารกิจเป็นกองกำลังเพื่อให้การศึกษาแก่กองทัพของไนเจอร์หลังการทำรัฐประหาร ทั้งๆ ที่กองกำลังของฝรั่งเศสนี้ ได้เข้ามาปักหลักตั้งแต่ปีที่ฝ่ายกองกำลังไอซิสได้เริ่มปฏิบัติการในบริเวณประเทศในทะเลทรายซาฮารา เพื่อขยายขอบเขตการตั้งรัฐคาลิเฟสเมื่อปี ค.ศ. 2014 โดยภารกิจของกองกำลังฝรั่งเศสไม่ประสบผลสำเร็จในการลดจำนวนการปฏิบัติการของฝ่ายไอซิส แต่กลับปักหลักเพื่อปกป้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของธุรกิจฝรั่งเศสในประเทศไนเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองยูเรเนียม รวมทั้งเหมืองแร่ธาตุสำคัญๆ อื่นๆ อีก ซึ่งประชาชนไนเจอร์ส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า ทรัพยากรมีค่าของพวกเขาถูกจัดส่งไปเลี้ยงโรงไฟฟ้าปรมาณูของฝรั่งเศส ตั้งแต่ก่อนการประกาศเอกราชในปี 1960 เสียด้วยซ้ำ และการปล้นทรัพยากรเหล่านี้ ทำให้ประชาชนที่ไนเจอร์ยากจนมากที่สุดในโลกทีเดียว

กองกำลังของ ECOWAS และ African Union ก็ไม่เป็นเอกภาพ จนไม่สามารถออกมติให้เคลื่อนกำลังเข้ามาจัดการกับคณะรัฐประหารที่ไนเจอร์

เพราะก่อนหน้าการยึดอำนาจที่ไนเจอร์ ได้มีการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากประเทศ Mali, Burkina Faso, Guinea แล้ว ซึ่งล้วนเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสทั้งหมด และทาง ECOWAS ก็ได้เคยมีมติตัดสมาชิกภาพของ 3 ประเทศออกจาก ECOWAS เมื่อมีการทำรัฐประหาร; แต่ปรากฏว่า กระแสการทำรัฐประหารในอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสกลับขยายวงกว้างขวางขึ้น... ล่าสุด ประเทศกาบองก็เกิดรัฐประหารตามหลังไนเจอร์เพียงไม่กี่อาทิตย์ และความรู้สึกของประชาชนใน 5 ประเทศที่เกิดรัฐประหารคือ กระแสต้องการปลดแอกด้านเศรษฐกิจและการเมืองออกจากการครอบงำของอดีตเจ้าอาณานิคมเก่าคือฝรั่งเศส ที่แม้ได้จำยอมให้เอกราชแก่ประเทศเหล่านี้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ที่อำนาจของกองทัพฝรั่งเศสไม่สามารถจะรักษาประเทศอาณานิคมเหล่านี้ไว้ได้อีกต่อไป ด้วยไม่มีกองกำลังทหารที่เพียงพอ) ...แต่ยังครอบงำเศรษฐกิจอยู่อย่างเต็มที่ ด้วยความร่วมมือกับชนชั้นนำและนักการเมืองที่เป็นตัวกลางประสานผลประโยชน์กับฝ่ายอดีตเจ้าอาณานิคม-เช่น กรณีของปธน.บาซูมของไนเจอร์นั่นเอง

อิทธิพลของฝรั่งเศสกำลังลดถอยลงอย่างเห็นได้ชัดจากรัฐประหารใน 5-6 ประเทศอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส (จากทั้งหมด 14 ประเทศในแอฟริกา) ขณะที่อิทธิพลของจีนและรัสเซียกำลังเข้ามาแทนที่ ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ และทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างฝรั่งเศสที่ตักตวงโดยตรงมาเป็นเวลาเกือบศตวรรษ โดยละทิ้งประชาชนเจ้าของประเทศให้ยากจน และไม่มีการพัฒนาในแทบทุกด้าน ขณะที่ทั้งจีนและรัสเซียต่างก็จัดประชุมสุดยอดกับ 54 ประเทศในแอฟริกา พร้อมการลงทุนในด้านเศรษฐกิจและการศึกษาวัฒนธรรมอย่างเต็มที่

ฝรั่งเศสภายใต้มาครง จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของอดีตเมืองขึ้นในแอฟริกา ที่กำลังหันหลังให้กับฝรั่งเศส เพื่อคบค้ากับผู้มีอิทธิพลรายใหม่ นำโดยจีนและรัสเซีย ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็กำลังเห็นช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการม้วนเสื่อกลับบ้านของฝรั่งเศส โดยพยายามดำรงกองกำลังสหรัฐฯ ไว้ในประเทศเหล่านี้ ด้วยเหตุผลบังหน้าคือ เพื่อพิทักษ์ประเทศเหล่านี้จากปฏิบัติการของไอซิสหรือโบโก ฮาราม... แต่แท้จริงคือ ทรัพยากรอันล้ำค่าของประเทศเหล่านี้ ทั้งยูเรเนียม, ทองคำ, เพชร, ลิเทียม, แร่หายาก ฯลฯ

ก็หวังว่า ประเทศแอฟริกาเหล่านี้จะไม่หนีเสือปะจระเข้ในการเข้าปล้นทรัพยากรอย่างในอดีต เพราะการเข้าครอบงำทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน จะมาในรูปแบบที่ไม่ปล้นซึ่งๆ หน้าแบบฝรั่งเศส แต่จะมีการพัฒนาด้านต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย

คงมีแต่คำโอดครวญอย่างเจ็บปวดของปธน.มาครง ที่กล่าวหาว่า ถูกสหรัฐฯ หักหลังที่ไนเจอร์โดยปากก็ว่า สหรัฐฯ จะไม่คบค้ากับฝ่ายทำรัฐประหาร แต่ในทางปฏิบัติกลับไปเจรจากับฝ่ายรัฐประหาร จะคบค้าด้วย แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องให้กองกำลังพลของสหรัฐฯ ดำรงอยู่ต่อไป เพื่อพิทักษ์ประเทศจากปฏิบัติการของฝ่ายก่อการร้าย!


กำลังโหลดความคิดเห็น