กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) แถลงแพกเกจความช่วยเหลือด้านความมั่นคงรอบใหม่แก่ยูเครน มูลค่าสูงสุด 175 ล้านดอลลาร์ ในนั้นรวมถึงกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะสำหรับรถถังเอบรามส์ ถือเป็นครั้งแรกที่อเมริกาส่งกระสุนเจาะเกราะอันเป็นที่ถกเถียงแก่เคียฟ
สำนักข่าวรอยเตอร์เป็นสื่อมวลชนแห่งแรกที่รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า กระสุนดังกล่าว ซึ่งสามารถช่วยทำลายรถถังรัสเซีย จะเป็นส่วนหนึ่งของแพกเกจความช่วยเหลือด้านการทหารรอบใหม่ที่มอบแก่ยูเครน ซึ่งถูกกองกำลังรัสเซียรุกรานมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022
ในวันพุธ (6 ก.ย.) เพนตากอนระบุว่าความช่วยเหลือด้านการทหารรอบใหม่ จะรวมไปถึงระบบต่อต้านเกราะ ระบบนำทางทางอากาศทางยุทธวิธี และจัดหากระสุนเพิ่มเติมสำหรับระบบยิงจรวดหลายลำกล้องเคลื่อนที่เร็ว (High Mobility Artillery Rocket System - HIMARS)
ถ้อยแถลงดังกล่าวประจวบเหมาะกับที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนกรุงเคียฟ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนยูเครน ในขณะที่ปฏิบัติการโจมตีตอบโต้รัสเซียของยูเครน เข้าสู่เดือนที่ 4 แล้ว แต่กลับรุกคืบได้เพียงแค่เล็กน้อย
แพกเกจ 175 ล้านดอลลาร์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือโดยรวมรอบใหม่มูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ บลิงเคน แถลงในเมืองหลวงของยูเครน โดยในนั้นยังรวมไปถึงความช่วยเหลือด้านการทหารและความมั่นคงทางพลเรือนรอบใหม่ 665 ล้านดอลลาร์ และอีกหลายล้านดอลลาร์สำหรับสนับสนุนการป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนและขอบเขตอื่นๆ
แม้สหราชอาณาจักรได้ส่งกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะแก่ยูเครนไปแล้วก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางปี แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเพนตากอน ถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ จัดหากระสุนดังกล่าวแก่เคียฟ และมีความเป็นไปได้ว่ามันจะโหมกระพือประเด็นถกเถียงในวงกว้าง
ความเคลื่อนไหวนี้ยังมีขึ้นตามหลังการตัดสินใจของวอชิงตันก่อนหน้านี้ ในการจัดหากระสุนคลัสเตอร์แก่ยูเครน แม้มีความกังวลเกี่ยวกับภัยอันตรายของอาวุธดังกล่าวที่มีต่อพลเรือน
มีการโต้เถียงกันอย่างดุเดือดเกี่ยวกับการใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ โดยฝ่ายคัดค้าน อย่างเช่นแนวร่วมนานาชาติเพื่อการแบนอาวุธยูเรเนียม (International Coalition to Ban Uranium Weapons หรือ ICBUW) บอกว่ามันอันตรายก่อความเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ จากการเข้าสู่ร่างกายทางปาก หรือสูดฝุ่นยูเรเนียมด้อยสมรรถนะเข้าไป ในนั้นรวมถึงมะเร็งและพิการแต่กำเนิด
ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะถูกนำมาใช้ในกระสุน เพราะความหนาแน่นสุดขั้วของมันช่วยให้กระสุนมีความสามารถในการเจาะทะลวงโลหะเกราะได้ง่ายกว่าเดิมและสามารถลุกติดไฟในอากาศได้เอง
(ที่มา : รอยเตอร์)