รอยเตอร์ - รัสเซียเผยปูตินมีกำหนดเยือนปักกิ่งเพื่อหารือกับผู้นำจีนในเดือนหน้า ซึ่งจะถือเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกของประมุขวังเครมลิน นับจากถูกออกหมายจับกรณีเนรเทศเด็กหลายร้อยคนหรือมากกว่านั้นจากยูเครน
นิโคไล ปาทรูเชฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงของรัสเซียและพันธมิตรใกล้ชิดของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แถลงเมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) ว่ารัสเซียและจีนควรกระชับความร่วมมือกันมากขึ้น ขณะที่ทั้งสองประเทศต่างเผชิญความพยายามในการปิดกั้นจากวอชิงตัน
สำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์รายงานโดยอ้างอิงการเปิดเผยของปาทรูเชฟ ระหว่างพบกับหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนที่มอสโกเมื่อวันอังคารว่า จะมีการหารือโดยละเอียดในปักกิ่ง
ทั้งนี้ ปูตินจะร่วมประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road) ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระหว่างการเยือนมอสโกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ได้ออกหมายจับปูตินในข้อสงสัยเนรเทศเด็กหลายร้อยคนหรือมากกว่านั้นออกจากยูเครนโดยผิดกฎหมาย
มอสโกปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และเครมลินตอบโต้ว่า การออกหมายจับของไอซีซีเป็นหลักฐานการเป็นปฏิปักษ์ของตะวันตกต่อรัสเซีย ซึ่งเปิดการสอบสวนคดีอาญาต่ออัยการและผู้พิพากษาของไอซีซีที่ออกหมายจับปูติน
การรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบเมื่อต้นปีที่แล้วของรัสเซีย ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งนองเลือดที่สุดในยุโรปนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างรัสเซียกับตะวันตกนับจากวิกฤตขีปนาวุธคิวบาในปี 1962
การค้าจีน-รัสเซียงอกงามขึ้นนับจากสงครามยูเครน โดยรัสเซียนำน้ำมันล็อตใหญ่ที่ไม่สามารถขายให้ตะวันตกได้เนื่องจากมาตรการแซงก์ชัน มาขายให้มหาอำนาจเอเชียแทนซึ่งรวมถึงจีน
ครั้งล่าสุดที่ปูตินเยือนปักกิ่งคือเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หรือไม่กี่วันก่อนการรุกรานยูเครน โดยในการเยือนครั้งนั้นผู้นำรัสเซียและจีนประกาศการเป็นหุ้นส่วน “ไม่มีขีดจำกัด” อย่างไรก็ดี มอสโกยืนยันว่า ไม่ได้หมายถึงการเป็นพันธมิตรทางการทหาร
ปูตินและสีมีมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์โลกเหมือนกันคือ มองว่าตะวันตกกำลังเสื่อมอำนาจ ขณะที่จีนท้าทายความยิ่งใหญ่ของอเมริกาในทุกสิ่งตั้งแต่เทคโนโลยีจนถึงการสอดแนมและแสนยานุภาพทางการทหาร
แม็กซิม เรเชตนิคอฟ รัฐมนตรีเศรษฐกิจรัสเซียระบุว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้การค้าระหว่างรัสเซีย-จีนเพิ่มขึ้นถึง 30% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ในปีปัจจุบัน และรัสเซียกำลังพัฒนาการลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงโครงการก๊าซและปิโตรเคมีขนาดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีของจีน
เขายังบอกอีกว่า มอสโกสนใจเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคโนโลยีเป็นความร่วมมือในการลงทุน เพื่อให้บริษัทจีนเข้าร่วมในโครงการเหล่านี้อย่างกระตือรือร้น ลงทุน และปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากโครงการเหล่านี้ต้องใช้เงินทุนมหาศาลซึ่งระบบการเงินรัสเซียไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน อเมริกามองจีนเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวที่อันตรายที่สุด และรัสเซียเป็นภัยคุกคามเฉียบพลัน
จีนนั้นละเว้นการประณามปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน และไม่ได้ระบุว่า เป็นการรุกราน สอดคล้องกับที่มอสโกเรียกว่า ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร
ต้นปีนี้ วิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางของอเมริกา (ซีไอเอ) ระบุว่า รัสเซียพึ่งพิงจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความเสี่ยงที่อาจตกเป็น “อาณานิคมเศรษฐกิจ” ของปักกิ่งในท้ายที่สุด