ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจจีนกำลังจะเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีแห่งการสถาปนาโครงการแห่งศตวรรษ ซึ่งจะเชื่อมทวีปเอเชียกับยุโรป และน่าจะเลื้อยไปสู่ทวีปแอฟริกา ซึ่งจะมีงานช้างในโอกาสยิ่งใหญ่นี้ในเดือนตุลาคมที่ประเทศจีน โดยมีข่าวออกมาอย่างอึกทึกครึกโครมว่า มีถึงราวกว่า 150 ประเทศทั่วโลกที่เชื่อมโยงกับโครงการยักษ์เชื่อมโลกจะมาร่วมเฉลิมฉลองกัน
ซึ่งโครงการแห่งศตวรรษนี้ เกิดจากความคิดริเริ่มของท่านปธน.สี ที่นำเอาเส้นทางสายไหม (Silk Road) เดิมตั้งแต่สมัยพระถังซัมจั๋ง และ Marcopolo มาปัดฝุ่นให้ฟื้นคืนชีวิตชีวา โดยจะเชื่อมประเทศต่างๆ ในเอเชีย-ผ่านทางตะวันออกกลาง-ไปสุดปลายทางที่ยุโรป
ซึ่งเป็นโครงการเพื่อความรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจร่วมกัน อันจะนำสันติภาพมายังดินแดนต่างๆ ที่โครงการนี้ผ่าน แทนที่จะรบราฆ่าฟันกันอย่างที่เราเคยได้ยินสมัยรัฐบาลชาติชายที่เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า (จาก War Zone เป็น Trade Zone) ในดินแดนสุวรรณภูมิสมัยหลังสงครามเวียดนามนั่นเอง
โครงการ New Silk Road นี้มีชื่อเป็นทางการว่า BRI (Belt and Road Initiative) ซึ่งมีทั้งทางรถไฟ (อย่างเส้นที่สาวเชื่อมไปถึงยูนนานและต่อไปถึงปักกิ่ง) ชนิดรถไฟด่วนจี๋ (แบบ Buller Train) และชนิดด่วนกว่าธรรมดาหน่อย และเส้นทางน้ำที่จะเชื่อมท่าเรือต่างๆ
รวมทั้งเมืองอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมที่จะขยายรับกับการค้าขายที่เพิ่มปริมาณอย่างมหาศาล; และแน่นอน ก็จะมีทั้งสนามบินใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นการขยายตามการขยายตัวของเมืองที่เชื่อมกันนี้; รวมถึงถนนหนทาง Free Ways เชื่อมเมืองต่างๆ เหล่านี้
New Silk Road นี้ มีธนาคาร AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) เป็นผู้ปล่อยกู้กับโครงการเชื่อมแห่งศตวรรษนี้ ซึ่งมีการร่วมลงทุนถือหุ้นในธนาคารมากกว่า 150 ประเทศ โดยมีจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่สุด...ซึ่งทางตะวันตกกล่าวหาว่าเป็น “กับดักหนี้” ที่จีนทำทีเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการเชื่อมเมือง ซึ่งเมื่อโครงการเหล่านี้มีการปล่อยกู้แบบ “ไม่มีธรรมาภิบาล” ก็จะกลายเป็นโครงการยักษ์ที่ไม่สามารถคืนทุนได้ตามกำหนด และทำให้จีนได้เข้าเป็นเจ้าของโครงการโดยปริยาย จากตัวอย่างที่พูดกันมากขณะนี้คือ เมืองยักษ์ที่ท่าเรือประเทศศรีลังกา หรือที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วงโครงการรถไฟสายด่วนลาว-จีน ที่เพิ่งเปิดดำเนินการมาเร็วๆ นี้
ฝ่ายตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ มองว่าโครงการเส้นทางสายไหมใหม่นี้ เป็นโครงการบังหน้าของจีน ที่ต้องการแผ่อิทธิพลไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก ในนามของการเชื่อมโลกเพื่อขยายเพิ่มพูนการค้า การลงทุน...ซึ่งจีนก็ย้ำในหลักการ Win-Win ที่ทุกฝ่ายชนะไม่ใช่จีนเป็นฝ่ายชนะฝ่ายเดียว (แบบที่ตะวันตกไปล่าเมืองขึ้นทั่วโลก ทั้งในอดีตและในปัจจุบันที่ยุแยงให้เกิดสงครามขึ้นในภูมิภาคต่างๆ เพื่อตนจะได้ขายอาวุธ และเป็น “ตาอยู่” ที่เข้าปล้นกอบโกยทรัพยากรมีค่าของประเทศต่างๆ)
ดูเหมือนฝ่ายตะวันตกจะมะงุมมะงาหราอยู่ 10 ปีกว่าจะรังสรรค์โครงการเชื่อมโลกมาต่อกรกับเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน
นั่นคือ การประกาศโครงการเส้นทางสายเครื่องเทศใหม่ (New Spice Road) ที่เมืองนิวเดลี ข้างๆ การประชุม G20 ซึ่งโต้โผก็คือ สหรัฐฯ และอินเดีย
ทั้งสองประเทศไม่ได้เข้าร่วมโครงการ BRI ของจีนอย่างเด็ดขาด และในบรรดาเหล่าประเทศใน G7 ก็ดูจะมีแต่อิตาลีที่ได้ร่วมสมทบใน BRI…แม้มีบางประเทศที่เข้าถือหุ้นใน AIIB เช่น แคนาดา แต่ส่วนใหญ่ใน G7 จะละล้าละลังในการเข้า BRI ด้วยเกรงจะถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ นั่นเอง
ล่าสุด อิตาลีออกมาแสดงทีท่าจะไม่ลงนามเข้าร่วมถาวรกับโครงการ BRI หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นนายกฯ คนใหม่ Meloni หลังจากรัฐบาลเก่าได้แสดงเจตจำนงเข้าร่วม ซึ่งจะมีเวลา 1 ปีหลังการแสดงเจตจำนงว่าจะเข้าร่วมอย่างถาวรหรือไม่
เป็นการเกทับจากตะวันตกที่จะใช้โครงการเชื่อมโลกของตะวันตกมาแข่งกับโครงการของจีน โดยจะมีธนาคารโลกเป็นถุงเงิน พร้อมๆ กับการร่วมลงทุนจากสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ที่เห็นผลประโยชน์จากการค้าการลงทุนร่วมในครั้งนี้ โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า IMEC (อ่านว่า ไอ-เหม็ก) ย่อมาจาก India-Middle East-Economic Corridor ซึ่งความหมายคือ เป็นระเบียงเศรษฐกิจที่จะทำความมั่งคั่งรุ่งเรืองมาสู่ 3 ภูมิภาคคือ เอเชียใต้, ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งมีการลงนามข้อตกลงกันข้างๆ การประชุม G20 โดยมีโต้โผใหญ่คือ อินเดีย, สหรัฐฯ ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งมีการลงนามระหว่างผู้นำโมดี, ไบเดน, MBS, Ursula von der Leyen และมีแผนเชื่อมประเทศต่างๆ ทั้งทางบก และทางน้ำจากเอเชียใต้ ผ่านไปซาอุฯ และยูเออีผ่านอิสราเอลและจอร์แดน ผ่านไปยุโรปจนถึงอิตาลี
แผนละเอียดกำลังจะคลอดออกมาในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ในอีก 2 อาทิตย์หลังการประชุม G20
ไม่ใช่แค่เชื่อมเมือง, เชื่อมประเทศ, เชื่อมทวีป แต่จะมีการค้าการลงทุนในแทบทุกด้านที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งความรุ่งเรืองในอนาคต ทั้งดิจิทัล, การผลิตไฟฟ้า, พลังงาน ฯลฯ รอบด้าน
ต้องให้เครดิตสำหรับการไปเฟ้นสรรหาคำมาเกทับ “เส้นทางสายไหมใหม่” เพราะจริงๆ สมัยโบราณเส้นทางสายไหมที่ลำเลียงภูษาแพรภัณฑ์, เครื่องประดับ, เครื่องเคลือบ Blue and White น่าจะเป็นเส้นทางเดียวกันนั่นแหละกับเส้นทางลำเลียงเครื่องเทศ, เครื่องหอม, ชา และเส้นก๋วยเตี๋ยว จากเอเชียไปสู่ยุโรป ไม่ใช่จะมีเส้นทางต่างหากออกไป
เจ้าชาย MBS ดูยิ้มระรื่นที่สามารถทำให้ซาอุฯ เป็นเมืองสำคัญของทั้งสองโครงการ โดยไม่ถูกมองว่าเอาใจออกห่างจากตะวันตกเท่านั้น
ส่วนเจ้าภาพ G20 คือ อินเดีย ขณะนี้กลายเป็นตัวอย่างให้หลายประเทศเดินตามนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นตุรเคีย, แอฟริกาใต้, บราซิล รวมทั้งล่าสุดคือ ซาอุดิอาระเบีย