xs
xsm
sm
md
lg

คำแถลงจี20 เลี่ยงวิจารณ์รัสเซียรุกรานยูเครน ด้านอเมริกาดันข้อตกลงเชื่อมอินเดีย-ยุโรป-ตะวันออกกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย (กลาง) พร้อมด้วยผู้นำคนอื่นๆ ของกลุ่ม จี20 เดินทางไปยังสถานรำลึกมหาตมะ คานธี ในกรุงนิวเดลี เมื่อวันอาทิตย์ (10 ก.ย.)
การประชุมซัมมิตกลุ่ม จี20 ที่กรุงนิวเดลี วันเสาร์-อาทิตย์ (9-10 ก.ย.) ที่ผ่านมา ออกคำแถลงร่วมประณามการใช้กำลังเพื่อให้ได้ดินแดนเพิ่ม ทว่าไม่เอ่ยวิพากษ์วิจารณ์โดยตรงเรื่องรัสเซียรุกรานยูเครน ขณะที่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็ได้ฉันทมติด้วยการประนีประนอมกัน สำหรับเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับความสนใจกัน คือการตกลงรับสหภาพแอฟริกาเป็นอีก 1 สมาชิกของกลุ่มนี้ นอกจากนั้น ผู้นำอเมริกา อียู อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอีกหลายประเทศได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป ซึ่งวอชิงตันเล็งใช้เป็นเครื่องมือคานอำนาจอิทธิพลแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน

บรรดาผู้นำของจี20 ที่ประกอบด้วย 19 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกบวกด้วยสหภาพยุโรป มีฉันทมติออกปฏิญญาคณะผู้นำเมื่อวันเสาร์ (9) ซึ่งมีเนื้อหาหลีกเลี่ยงการประณามรัสเซียในสงครามยูเครน แต่เน้นย้ำความทุกข์ทรมานที่ผู้คนต้องเผชิญจากการสู้รบขัดแย้งกันนี้ รวมทั้งเรียกร้องให้ทุกประเทศงดใช้กำลังเพื่อเข้ายึดดินแดนของชาติอื่น

การบรรลุฉันทมติเช่นนี้เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ เนื่องจากในหลายๆ สัปดาห์ก่อนหน้าซัมมิตคราวนี้ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับสงครามยูเครนทำท่าคุกกคามให้การประชุมต้องประสบความล้มเหลว โดยที่พวกชาติตะวันตกเรียกร้องให้จี20 ระบุชื่อรัสเซียตรงๆ ว่าเป็นผู้รุกราน ส่วนมอสโกก็บอกว่าจะสกัดกั้นญัตติใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้สะท้อนจุดยืนของตน

รัฐมนตรีต่างประเทศเซียร์เก ลาฟรอฟ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของรัสเซีย แทนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ไม่ได้เดินทางรวมทั้งไม่ได้เข้าร่วมประชุมแบบออนไลน์ด้วย แถลงในวันอาทิตย์ (10) ว่าซัมมิตคราวนี้เป็นความสำเร็จของอินดียตลอดจน “กลุ่มซีกโลกใต้” (Global South) ซึ่งหมายถึงบรรดาประเทศกำลังพัฒนาของโลก โดยเขาแจกแจงว่า จุดยืนของกลุ่มซีกโลกใต้ในการประชุมคราวนี้ช่วยป้องกันไม่ให้วาระของจี20 ต้องถูกบดบังจากเรื่องยูเครน

“อินเดียได้รวมศูนย์เหล่าสมาชิกจี20 ที่มาจากกลุ่มซีกโลกใต้ได้อย่างแท้จริง” เขากล่าวในการประชุมแถลงข่าว

ด้านเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ก็บอกว่า ปญิญญาของที่ประชุมซัมมิต “ทำได้ดีมากๆ ในการยืนหยัดรักษาหลักการที่ว่ารัฐต่างๆ ไม่สามารถใช้กำลังเพื่อเข้ายึดดินแดน หรือเพื่อละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดน และอธิปไตย หรือความเป็นเอกราชทางการเมืองของรัฐอื่นๆ”

เยอรมนีและอังกฤษยกย่องคำแถลงนี้เช่นกัน แต่ยูเครนแสดงความผิดหวังโดยกล่าวว่า “มันไม่มีอะไรที่น่าภาคภูมิใจเลย”

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสหภาพยุโรป เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (10) ว่า สงครามยูเครนเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากที่สุด ซึ่งอาจไม่ได้ข้อสรุปหากไม่มีอินเดียเป็นผู้นำ ก่อนสำทับว่า บราซิลและแอฟริกามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขความขัดแย้ง

ประเด็นอื่นๆ ที่เป็นปัญหาในซัมมิตจี20 คราวนี้ ยังรวมถึงข้อเสนอของชาติตะวันตกที่ให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่าตัวภายในปี 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60% ภายในปี 2035 ซึ่งรัสเซีย จีน ซาอุดีอาระเบีย และอินเดียคัดค้านระหว่างการประชุมระดับนักการทูต

ปรากฏว่าปฏิญญาของผู้นำจี20 เพียงแค่เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ในช่วงกลางศตวรรษนี้ และระบุว่า ชาติสมาชิกจะส่งเสริมความพยายามในการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน 3 เท่าตัวทั่วโลกภายในปี 2030 โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ รวมทั้งยอมรับว่า จำเป็นต้องลดการใช้พลังงานถ่านหินอย่างเป็นขั้นตอนซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละประเทศเช่นเดียวกัน แต่ไม่เอ่ยถึงการลดการใช้น้ำมันดิบ

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งจากที่ประชุมซัมมิตครั้งนี้คือ จี20 ตกลงรับสหภาพแอฟริกา ที่เป็นตัวแทนของ 55 ชาติในกาฬทวีป เข้าเป็นสมาชิกถาวรของกลุ่ม มีสถานะเช่นเดียวกับอียู

ระหว่างการประชุมกลุ่มย่อยเมื่อวันเสาร์ (9) ผู้นำอียู อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อเมริกา และอีกหลายประเทศได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป (India-Middle East-Europe Economic Corridor หรือ IMEC) เพื่อเชื่อมโยงยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ผ่านเส้นทางรถไฟและท่าเรือ

ผู้นำสหรัฐฯ ที่ต้องการคานอิทธิพลของแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน และผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกโดยเสนอให้วอชิงตันเป็นหุ้นส่วนและนักลงทุนตัวเลือกสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มจี20 นั้น กล่าวว่า นี่เป็นข้อตกลงขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมต่อท่าเรือระหว่างสองทวีปและนำความมั่นคงและความมั่งคั่งไปสู่ตะวันออกกลาง ปลดล็อกโอกาสที่ไม่มีที่สิ้นสุดสำหรับพลังงานสะอาด และช่วยให้พลังงานและการค้าไหลเวียนจากตะวันออกกลางไปยังยุโรป ด้วยการลดเวลา ต้นทุน และการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่ง

ไอเอ็มอีซีจะประกอบด้วยระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกที่เชื่อมต่ออินเดียกับอ่าวอาหรับ และระเบียงเศรษฐกิจเหนือเชื่อมอ่าวอาหรับกับยุโรป โดยนอกจากทางรถไฟแล้ว ประเทศที่เข้าร่วมยังมีแผนวางสายเคเบิลพลังงานและสายเคเบิลข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนท่อส่งไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เกิดขึ้นมาท่ามกลางความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะให้มีการตกลงกันทางการทูตในวงกว้างขวางยิ่งขึ้นในตะวันออกกลาง นั่นก็คือให้ซาอุดีอาระเบียรับรองอิสราเอล

จอน ไฟเนอร์ รองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในการประชุมซัมมิตกลุ่มจี20 ว่า ข้อตกลงนี้จะเป็นประโยชน์แก่พวกประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางในภูมิภาค และสามารถที่จะแสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งยวดให้แก่ตะวันออกกลางในการพาณิชย์ของโลก

เขาบอกว่า เมื่อมองจากจุดยืนและทัศนะของสหรัฐฯ แล้ว ข้อตกลงนี้จะช่วย “ลดอุณหภูมิตลอดทั่วภูมิภาคนี้ให้ต่ำลงมา” และแก้ไขคลี่คลายความขัดแย้งอย่างที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้

อนึ่ง เมื่อวันอาทิตย์ ผู้นำจี20 ที่รวมถึงไบเดน นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี นายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษ ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ได้เดินทางไปยังสถานที่ฌาปนกิจศพมหาตมะ คานธี วีรบุรุษของอินเดียที่ถูกลอบสังหารโดยชาวฮินดูหัวรุนแรงเมื่อปี 1948 โดยที่ผู้นำหลายๆ คนเดินเท้าเปล่า เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีโมดี แต่ผู้นำบางคน เช่น ไบเดน เลือกที่จะสวมรองเท้าแตะ

( ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น