xs
xsm
sm
md
lg

เคียฟอย่างเซ็ง! G20 กล้าๆ กลัวๆ เลี่ยงประณามรัสเซียในสงครามยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาชิกกลุ่มจี20 อ้าแขนรับอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อปฏิญญาฉบับหนึ่ง ณ ที่ประชุมซัมมิตเมื่อวันเสาร์ (9 ก.ย.) หลีกเลี่ยงประณามรัสเซีย สำหรับการทำสงครามในยูเครน แต่เรียกร้องทุกประเทศไม่ใช้กำลังยึดดินแดนชาติอื่น

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย แถลงว่าปฏิญญาดังกล่าวได้รับฉันทานุมัติจากบรรดาผู้นำในวันแรกของการประชุมซัมมิตจี 20 ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ในนิวเดลี "ด้วยฉากหลังของการทำงานหนักของคณะทำงานทุกชุด เราได้รับความเห็นเป็นเอกฉันท์ในปฏิญญาซัมมิตผู้นำจี20 ผมขอประกาศเกี่ยวกับการรับปฏิญญานี้" โมดีบอกกับพวกผู้นำ ในนั้นรวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และเหล่าผู้นำชาติต่างๆ จากทั่วโลก

ความเห็นที่เป็นเอกฉันท์นี้นับว่าน่าประหลาดใจพอสมควร เนื่องจากจี20 มีความแตกแยกกันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับสงครามในยูเครน ด้วยก่อนหน้านี้บรรดาชาติตะวันตกพยายามผลักดันให้มีการประณามรัสเซียอย่างหนักหน่วงในปฏิญญาของพวกผู้นำ แต่ฝ่านอื่นๆ ต้องการมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเศรษฐกิจในวงกว้างมากกว่า

ปฏิญญาระบุว่า "เราทุกประเทศจะยึดมั่นในหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ ในนั้นรวมถึงอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และระบบพหุภาคี ที่ปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพ เรายินดีรับความคิดริเริ่มต่างๆ ที่ตรงประเด็นและสร้างสรรค์ทั้งหมด ที่สนับสนุนสันติภาพที่ครอบคลุมและยั่งยืนในยูเครน การใช้หรือคำขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้"

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศยูเครน กลับมองว่าปฏิญญาดังกล่าว "ไม่มีอะไรให้น่าภูมิใจ" พร้อมระบุหากมีการอนุญาตให้ตัวแทนหนึ่งของยูเครนมีส่วนร่วม จะทำให้บรรดาผู้เข้าร่วมทั้งหลายเข้าใจถึงสถานการณ์ที่แท้จริงมากยิ่งขึ้น

กระนั้น โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี บอกว่าปฏิญญาฉบับนี้ แสดงถึงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยเน้นย้ำว่าบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศต่างๆ ไม่ใช่เรื่องของความรุนแรง ในขณะที่ ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ชี้ว่าปฏิญญาใช้ภาษาที่แข็งกร้าวอย่างมากเกี่ยวกับสงครามผิดกฎหมายของรัสเซียในยูเครน "ผมคิดว่ามันเป็นผลลัพธ์ที่ดีและหนักแน่น"

ยังไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองมาจากรัสเซีย ซึ่งส่ง เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้เขาเคยบอกว่าจะขัดขวางปฏิญญาขั้นสุดท้าย จนกว่ามันจะสะท้อนจุดยืนของมอสโกในยูเครนและวิกฤตอื่นๆ

รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย เปิดเผยว่าจีน ชาติพันธมิตรหลักของรัสเซีย สนับสนุนผลลัพธ์ของการประชุม "มีมุมมองและผลประโยชน์ที่ต่างกัน แต่เราสามารถหาความตกลงร่วมกันในทุกประเด็น" เขากล่าวระหว่างแถลงข่าว

นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ มุมมองที่ต่างกันเกี่ยวกับสงครามยูเครน คืออุปสรรคขัดขวาง ทำให้ที่ประชุมระดับมนตรีต่างๆ ของกลุ่มจี20 ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้แม้แต่ฉบับเดียว ระหว่างที่อินเดียทำหน้าที่ประธานหมุนเวียน

ตัวแทนของอินเดีย ณ ที่ประชุมจี20 เปิดเผยว่าประเทศเจ้าภาพทำงานใกล้ชิดอย่างมากกับบราซิล แอฟริกาใต้ และอินโดนีเซีย เพื่อบรรลุความเห็นเป็นเอกฉันท์ในด้านภาษาเกี่ยวกับสงครามในยูเครน ในปฏิญญาของการประชุมซัมมิต

ปฏิญญาระบุด้วยว่า ทางกลุ่มเห็นพ้องหาทางจัดการกับภาวะอ่อนแอต่อหนี้สิน ในบรรดาประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ในแนวทางที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมและเป็นระบบ แต่ไม่ได้พาดพิงถึงแผนปฏิบัติการใหม่ใดๆ

เนื้อหาในปฏิญญาให้คำมั่นเสริมความเข้มแข็งและปฏิรูปบรรดาธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีทั้งหลายแหล่ พร้อมตอบรับข้อเสนอกระชับกฎระเบียบด้านคริปโตเคอร์เรนซี

แม้พบเห็นสัญญาณประนีประนอมในปฏิญญาของพวกผู้นำ แต่มันเป็นที่คาดหมายไว้อยู่แล้ว เหตุเพราะการประชุมซัมมิตครั้งนี้ถูกครอบงำโดยตะวันตกและพันธมิตร เนื่องด้วย สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วย โดยส่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง มาทำหน้าที่แทน ส่วนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก็ไม่ได้มาเช่นกัน

ผิดกับไบเดน โชลซ์ ซูแน็ก ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส มกุฎราชกุมาร มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน นายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย และนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ และคนอื่นๆ ที่ร่วมประชุมกันอย่างพร้อมหน้า

นักวิเคราะห์คาดเดาว่า จีนอาจปลีกตัวเองออกจากกลุ่มจี20 แล้วหันไปให้ความสำคัญกับกลุ่ม BRICS ที่พวกเขามีอิทธิพลมากกว่า

BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ เพิ่งเห็นพ้องรับสมาชิกเพิ่มเติมอีก 6 ชาติ ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน เอธิโอเปีย อียิปต์ อาร์เจนตินา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวลานี้กำลังเร่งความพยายามผลักดันปรับเปลี่ยนระเบียบโลกปัจจุบันที่พวกเขามองว่าล้าสมัยไปแล้ว

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น