xs
xsm
sm
md
lg

สี จิ้นผิงกับก้าวย่างสู่อนาคตผ่าน BRICS 2023

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยด้านความมั่นคงและวัฒนธรรมสัมพันธ์เอเชีย, ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การประชุมสุดยอด BRICS ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ถือเป็นการประชุมครั้งที่ 15 ครอบคลุมวาระสำคัญซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของ BRICS ในทศวรรษปัจจุบัน ได้แก่ การขยายแนวร่วม การจัดการทางการเงิน การเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การพัฒนาพื้นที่แอฟริกา ในแง่นี้การหารือมุ่งประเด็นสกุลเงินตรา การแลกเปลี่ยน การค้า ความร่วมมือทางทหาร ความร่วมมือทางเทคโนโลยีเอไอและพลังงาน ไมโครชิพ รวมถึงระบบขนส่งทางบกทางทะเล Goldman Sachs เคยทำนายไว้ว่า กลุ่ม BRICS จะทรงอิทธิพลทันทีที่ถึงทศวรรษ 2050 เพราะเต็มไปด้วยพื้นฐานความพร้อม


นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนพร้อมผู้นำชาติสมาชิกอื่นเดินทางมาร่วมประชุมครั้งนี้ด้วยตนเอง ถือเป็นการร่วมประชุมครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 ขณะที่ประธานาธิบดีรัสเซียส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ มาเป็นผู้แทนเนื่องจากติดภารกิจในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทุกฝ่ายเพ่งเล็งผลการประชุมด้วยหวังว่า มันจะเป็นจุดเริ่มสำหรับต่อยอดพลังความร่วมมือใหม่ ๆ โดย BRICS จะเน้นประเด็นวิทยาการคอมพิวเตอร์และพลังงานด้วย

ความน่าสนใจของการประชุมอยู่ที่การแสดงความมุ่งมั่นของกลุ่มในอันที่จะเติบโตไปเป็นเครือข่ายทางเศรษฐกิจสังคมแห่งใหม่เทียบเคียงกับกลุ่ม G7 อันประกอบไปด้วยสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น นักวิเคราะห์หลายคนมองสมาชิก BRICS ว่า เป็นชาติกำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อเปรียบเทียบกับสมาชิก G7 ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ถ้าพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จะพบว่า ประเด็นการพัฒนา หรือ กำลังพัฒนา ไม่ได้ส่งผลต่อศักยภาพของ BRICS ในสายตาหลายฝ่าย BRICS กำลังทะยานไปเป็นศูนย์รวมความเชื่อมั่นแห่งใหม่ของโลก เป็นความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ความสนใจจากชาติพันธมิตรคือหลักฐานความเชื่อมั่นประการแรก สื่อแอฟริกาใต้รายงานว่า มากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกสนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม ตัวอย่างประเทศผู้สนใจ ได้แก่ อิหร่าน อาร์เจนตินา อินโดนีเซีย รวมทั้งมหาอำนาจพลังงานอย่างซาอุดิอาระเบีย แทบทุกประเทศมีลักษณะร่วมกันตรงจุดเด่นในการเป็นผู้ผลิต ตลาดรับซื้อ จำนวนประชากร รวมทั้งทรัพยากรกลุ่มแร่ธาตุ พลังงาน การเกษตร เมื่อความหลากหลายมารวมตัวกันที่ BRICS พลังหมุนเวียนของสินค้า การเงิน และประชากรจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ทำให้ BRICS ทรงพลังในสายตาของชาติพันธมิตรอื่น ๆ ซึ่งมองเห็นการเติบโตของกลุ่มในทิศทางเดียวกัน


หลักฐานประการที่สองคือการเปิดกว้างของ BRICS แม้จะมีข่าวความไม่ลงรอยกันในเรื่องการขยายแนวร่วม โดยผู้นำอินเดียและบราซิลแสดงท่าทีคัดค้านเพราะเกรงการสูญเสียอิทธิพลของสมาชิกเก่า สุดท้ายผู้นำทั้งสองชาติให้คำแถลงเชิงสนับสนุน นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวระหว่างพิธีเปิดว่า ยินดีต้อนรับแนวทางขยายตัวของกลุ่ม ขณะที่นายลูอีซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิลต้องการเห็นคู่ค้าของตนอย่างอาร์เจนตินามาร่วมกลุ่มในที่สุด สำหรับผู้นำจีนและรัสเซีย การขยายตัวคือเป้าหมายหลักของ BRICS มาแต่เดิม มุมหนึ่งอาจเป็นการสร้างสมรรถนะสำหรับแข่งขันในเวทีโลก แต่ในอีกมุม การขยายตัวจะนำไปสู่ประชาคมการค้ากับความร่วมมือภายใต้ขนบของ BRICS ซึ่งเน้นความยั่งยืน โดยการเชื่อมโยงนั้นต้องปลอดจากการแทรกแซง การประชุม World Peace Forum ครั้งที่ 11 เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาคือการย้ำเตือนโลกทัศน์ที่ว่าจากฝ่ายจีน นายหาน เจิ้ง รองประธานาธิบดีจีนกล่าวว่า เป็นความปรารถนาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่ต้องการจะสร้างประชาคมแห่งความผาสุกดังระบุในข้อริเริ่ม 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาระดับโลก ความมั่นคงระดับโลก และอารยธรรมระดับโลก ข้อริเริ่มเหล่านี้จะไม่เป็นผลหากไร้ซึ่งการรวมตัว และ BRICS ก็คือโอกาสการรวมตัวอันนั้นที่ไม่เพียงจีนที่คาดหวัง แต่รวมไปถึงอีกหลายประเทศ

หลักฐานประการที่สามว่าด้วยความพร้อมของ BRICS เองที่มีมากกว่าระบบการเงินการธนาคาร แต่เป็นความพร้อมด้านเทคโนโลยีซึ่งนำโดยจีนและรัสเซีย รวมถึงทรัพยากร การทหาร พื้นฐานการผลิตและบริโภค ในปี 2022 กลุ่ม BRICS มีจีดีพีรวมกันที่ 26.03 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดการซื้อขายสินค้าจึงไม่ต่างจากโอกาสของหลายประเทศที่ไม่ต้องการจมปลักกับกติกาการค้าเดิม ปี 2021 สมาชิก BRICS รับรองแผนปฏิบัติที่เรียกว่า “BRICS Action Plan for Innovation Cooperation” ระยะดำเนินการ 2021-2024 เพื่อขับดันนวัตกรรมต่าง ๆ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ อวกาศ โทรคมนาคม ฯลฯ ย้อนไปอีก 1 ปีก่อนหน้า จีนประกาศก่อตั้ง BRICS Innovation Base ในมณฑลฟูเจี้ยนเพื่อเป็นฐานความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิกและรับมือคลื่นความเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิต ดังนั้นเส้นทางเดินของ BRICS จึงเต็มไปด้วยความตื่นตัวเกี่ยวกับอนาคต ทำให้ได้รับความสนใจจากชาติพันธมิตรนอกกลุ่มอยู่เนือง ๆ

หลักฐานประการสุดท้ายคือชาติแกนหลักอย่างจีน ต้องยอมรับว่าภาพของจีนคือผู้ค้ำจุน BRICS อย่างแท้จริง จีนไม่เพียงมีความพร้อมด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ ความมั่นคง ฯลฯ แต่ยังแสดงอุดมการณ์การรวมตัวเพื่อสร้างสรรค์ประชาคมแห่งอนาคต อุดมการณ์นี้สังเกตได้จากหลายเวทีประชุมที่จีนจะย้ำเน้นปรัชญามิตรภาพกับความยั่งยืน เช่น ความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้ชัย การธำรงซึ่งความสงบสุข การแก้ไขความขัดแย้งด้วยการทูต หรือ การดำเนินการค้าที่ปราศจากการทำลาย ข้อริเริ่ม 3 ด้านดังเอ่ยข้างต้นก็เป็นหลักฐานอุดมการณ์นี้ เมื่อแกนหลักอย่างจีนครบด้วยความแข็งแกร่งกับเจตจำนงที่ดี ความต้องการมีส่วนร่วมกับ BRICS จึงไม่ใช่เรื่องเกินคาดเดา

ไม่ว่าอย่างไรจีนและชาติสมาชิกอื่นให้ความสำคัญแก่การประชุมครั้งนี้ เพราะมันคือเวทีตอกย้ำความร่วมมือกับชาติกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาโดยมีแอฟริกาเป็นตัวอย่างการทำงาน ทุกฝ่ายมีเป้าหมายที่จะสร้างโอกาสให้แก่ชาติแอฟริกาด้วยกลไก เช่น การพัฒนาเขตการค้าเสรี การส่งเสริมทักษะและการศึกษา การฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมจากวิกฤตโรคระบาด เป็นต้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเปิดเผยก่อนการประชุมว่า จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรกลุ่ม BRICS เพื่อดำเนินการตามเจตนารมณ์ของ BRICS ที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้น BRICS 2023 จึงไม่ต่างจากจุดเปลี่ยนไปสู่อนาคต มันคือการประกาศก้าวย่างที่ทุกชาติสามารถมาออกแบบและแบ่งปันระบบร่วมกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น