xs
xsm
sm
md
lg

บริกส์เห็นพ้องเงื่อนไขเปิดรับสมาชิกใหม่ ตั้งเป้าจัดระเบียบโลก-ลดอิทธิพลตะวันตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ผู้นำบริกส์เห็นพ้องรับสมาชิกเพิ่ม และรับรองเงื่อนไขสำหรับการพิจารณาสมาชิกใหม่ ภายใต้เป้าหมายในการขยายอิทธิพลและจัดระเบียบโลกใหม่เพื่อลดการครอบงำของตะวันตก

การเรียกร้องให้ขยายกลุ่มบริกส์ที่ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ครอบงำการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์กตั้งแต่วันอังคาร (22 ส.ค.) แต่ขณะเดียวกัน ก็เผยให้เห็นความขัดแย้งระหว่างชาติสมาชิก

จีนนั้นต้องการให้บริกส์เติบโตอย่างรวดเร็วท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดขึ้นกับอเมริกา แต่มหาอำนาจอีกชาติในกลุ่มคืออินเดียกังวลกับเจตนารมณ์ของปักกิง ซึ่งเป็นศัตรูด้านภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่แอฟริกาใต้ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เผยว่า มีกว่า 20 ประเทศขอเข้าร่วมบริกส์อย่างเป็นทางการแล้ว

เมื่อวันพุธ (23 ส.ค.) นาเลดี ปันดอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศแอฟริกาใต้ กล่าวว่า ผู้นำบริกส์เห็นพ้องในการขยายกลุ่ม และจะประกาศรายละเอียดก่อนปิดการประชุมในวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.)

ปันดอร์ยังเปิดเผยกับสถานีวิทยุของรัฐบาลว่า ที่ประชุมได้รับรองแนวทาง หลักการ และกระบวนการในการพิจารณาประเทศที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกบริกส์แล้ว

ในระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ของอินเดีย ประกาศสนับสนุนการเปิดรับสมาชิกใหม่ และการดำเนินการต่างๆ ตามหลักการฉันทมติ

ด้านประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซา ของแอฟริกาใต้ กล่าวว่า บริกส์มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญคือการรับสมาชิกเพิ่ม ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกนับจากที่รับแอฟริกาใต้ในปี 2010

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนที่เดินทางออกนอกประเทศครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้ กล่าวว่า การขยายกลุ่มจะช่วยให้บริกส์มีความเข้มแข็งและภูมิปัญญาเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้ระบบธรรมาภิบาลทั่วโลกยุติธรรม และเท่าเทียมมากขึ้น

ประมุขแดนมังกรที่ครอบครองผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ถึง 70% ของบริกส์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นขณะที่โลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ความแตกแยก และการสร้างกลุ่มความร่วมมือใหม่ๆ รวมทั้งยังเข้าสู่ช่วงเวลาใหม่ของความสับสนอลหม่านและการเปลี่ยนแปลง

ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ พยายามลดทอนแนวโน้มที่บริกส์จะผงาดขึ้นเป็นศัตรูทางภูมิรัฐศาสตร์ ด้วยการให้คำจำกัดความบริกส์ว่า เป็นกลุ่มประเทศที่หลากหลายมากซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นทั้งมิตรและศัตรูกัน

บริกส์เป็นการรวมตัวของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเล็ก ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและเผด็จการ แต่มีความต้องการร่วมกันคือการท้าทายระเบียบโลกที่นำโดยตะวันตกซึ่งประเทศกลุ่มนี้มองว่าไม่ตอบสนองความต้องการของตน หรือท้าทายอิทธิพลของตะวันตก

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียที่ถูกศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับคดีอาชญากรรมสงครามในยูเครน เป็นผู้นำชาติเดียวในบริกส์ที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมประชุม แต่ประชุมทางวิดีโอลิงก์และใช้โอกาสนี้ประณามการแซงก์ชัน

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ในการพิจารณารับสมาชิกใหม่ บราซิล แอฟริกาใต้ และอินเดีย จะต้องรักษาสมดุลระหว่างการต้องการรักษาสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและรัสเซีย กับความเสี่ยงในการสร้างความบาดหมางกับอเมริกาที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ

เช่นเดียวกับสมาชิกที่มีอยู่เดิมในบริกส์ ประเทศต่างๆ ที่ยื่นขอเข้าร่วมกลุ่มมีความหลากหลายอย่างมาก ตั้งแต่สมาชิกชั้นนำในจี20 อย่างอินโดนีเซียและซาอุดีอาระเบีย จนถึงประเทศที่ถูกโดดเดี่ยวอย่างอิหร่านที่ประกาศตัวเป็นศัตรูอย่างเปิดเผยกับอเมริกาและพันธมิตร ทั้งนี้ ในการประชุมที่โจฮันเนสเบิร์กมีผู้นำจาก 50 ประเทศ และรัฐบาลเข้าร่วม

ผู้นำบริกส์กล่าวว่า ระดับความสนใจของประเทศเหล่านี้พิสูจน์ว่า แนวทาง “โลกใต้” ซึ่งหมายถึงประเทศต่างๆ ที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง
กำลังโหลดความคิดเห็น