บรรดาผู้นำของประเทศกลุ่มบริกส์ --ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้-- ทยอยเดินทางถึงนครโจฮันเนสเบิร์ก ของแอฟริกาใต้ ในวันอังคาร (22 ส.ค.) เพื่อประชุมซัมมิตกันเป็นเวลา 3 วัน โดยที่จะมีการตัดสินใจประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการขยายกลุ่ม ซึ่งจีนและรัสเซียกำลังต้องการผลักดันแนวทางนี้เพื่อคานอำนาจของโลกตะวันตก ทว่าอินเดียดูจะไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วย ขณะที่มีกว่า 40 ประเทศทีเดียวแสดงความสนใจเข้าร่วม
สถานการณ์ความตึงเครียดทั่วโลกที่เพิ่มทวีขึ้นจากสงครามยูเครน และความเป็นปฏิปักษ์กันมากขึ้นทุกทีระหว่างจีนกับอเมริกา กลายเป็นการเพิ่มความเร่งด่วนให้แก่แรงขับดันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มที่ประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนา “หรือชาติในซีกโลกใต้” ขนาดใหญ่เหล่านี้ ซึ่งเกิดความปั่นป่วนผันผวนอยู่เป็นระยะๆ จากความแตกแยกภายใน และการขาดวิสัยทัศน์ที่จะเป็นตัวคอยเชื่อมยึดโยงกันไว้
ตั้งแต่เช้าวันอังคาร (22) ประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซา ของแอฟริกาใต้ ต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่เดินทางมาเยือนประเทศของเขาอย่างเป็นรัฐพิธี ก่อนหน้าการพบปะหารือกับผู้นำคนอื่นๆ ของกลุ่มในช่วงต่อไปของวันเดียวกัน
สำหรับประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ของอินเดีย เดินทางเข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 นี้ด้วยตนเองเช่นกัน ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย จะเข้าร่วมแบบการประชุมเสมือน พร้อมกับส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเซียร์เก ลาฟรอฟ มาเป็นตัวแทนด้วย ทั้งนี้ ปูตินถูกศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับข้อหาอาชญากรรมสงครามในยูเครน ถึงแม้ทางการแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นภาคีของศาลระหว่างประเทศแห่งนี้ ให้การรับรองว่าจะไม่มีการดำเนินการใดๆ กับตัวเขา แต่ผู้นำรัสเซียก็เลือกที่จะเข้าร่วมซัมมิตแบบออนไลน์
รามาโฟซากล่าวก่อนเปิดประชุมว่า กลุ่มบริกส์ที่มีการขยายออกไป จะสามารถเป็นตัวแทนกลุ่มประเทศที่มีความหลากหลายด้านระบบการเมืองแต่มีความต้องการร่วมกันในการสร้างระเบียบโลกที่สมดุลยิ่งขึ้น
ขณะที่ อิบราฮิม ปาเทล รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมแอฟริกาใต้ กล่าวเปิดประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ พร้อมให้การต้อนรับตัวแทนราว 1,200 คนจาก 5 ชาติสมาชิก รวมทั้งตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายสิบประเทศ และคาดว่าในการประชุม 3 วันจะมีประมุขจากกว่า 40 ประเทศเข้าร่วม
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่อยู่ในวาระการประชุมคือการใช้สกุลเงินท้องถิ่นของชาติสมาชิกในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ผู้จัดการประชุมยืนยันว่าจะไม่มีการหารือเรื่องการก่อตั้งสกุลเงินบริกส์ ซึ่งเป็นไอเดียที่บราซิลนำเสนอเมื่อต้นปีนี้เพื่อเป็นตัวเลือกแทนการพึ่งพิงดอลลาร์
นอกจากนี้ ผู้นำบริกส์ยังจะหารือกันในประเด็นกว้างๆ เช่น การเรียกร้องให้ร่วมมือกันมากขึ้นในด้านต่างๆ เช่น การเกษตร เหมืองแร่ พลังงาน การศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายสกุลเงิน และการค้า ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนารู้สึกมากขึ้นว่าไม่ได้รับการตอบสนองจากพวกสถาบันระหว่างประเทศที่นำโดยตะวันตกอย่างสหประชาชาติ ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
กระนั้น บริกส์ยังคงเป็นกลุ่มที่มีความแตกต่างกันอย่างมากไล่จากจีน ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกที่ขณะนี้กำลังเผชิญภาวะชะลอตัว จนถึงแอฟริกาใต้ เจ้าภาพซัมมิตปีนี้และเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กที่เผชิญวิกฤตพลังงานที่ทำให้ไฟดับทุกวัน
ด้านอินเดียเข้าหาตะวันตกมากขึ้น ส่วนบราซิลเพิ่งเปลี่ยนผู้นำใหม่ ขณะที่รัสเซียถูกเล่นงานหนักจากมาตรการแซงก์ชันของตะวันตกเพื่อลงโทษในการบุกยูเครน
นอกจากนั้น อินเดียและจีนที่ปะทะกันบริเวณชายแดนที่มีความขัดแย้งเป็นระยะ ยังเพิ่มความท้าทายให้แก่การตัดสินใจของบริกส์ที่อิงกับระบบฉันทมติ
การขยายกลุ่มเป็นเป้าหมายของจีนมายาวนานเนื่องจากหวังว่าจะช่วยขยายอิทธิพลของบริกส์ที่มีประชากรรวมกันถึง 40% ของประชากรโลก และ 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของโลก
รัสเซียต้องการรับสมาชิกใหม่เพื่อแก้เกมการถูกโดดเดี่ยวทางการทูตจากกรณียูเครน ส่วนแอฟริกาใต้สนับสนุนแนวคิดนี้เช่นกัน
ด้านอินเดียที่กังวลกับการครอบงำของจีนและเคยเตือนไม่ให้รีบร้อนขยายกลุ่มนั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ วิเนย์ ควาตรา กล่าวในลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้มากขึ้นเมื่อวันจันทร์ (21) ว่า อินเดียมีเจตนาที่ดีและเปิดกว้าง แต่สำหรับบราซิลกังวลว่า การเพิ่มสมาชิกจะทำให้อิทธิพลของตนลดลง
อย่างไรก็ดี แม้ประเด็นการขยายสมาชิกยังไร้ความแน่นอน แต่เจตนารมณ์ที่ชัดเจนของบริกส์ในการสนับสนุนการพัฒนาของพวกประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเวลานี้นิยมเรียกกันว่า “ซีกโลกใต้” (Global South) และเสนอตัวเลือกระเบียบโลกที่ครอบงำโดยประเทศตะวันตกที่ร่ำรวยก็ได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวาง
เจ้าหน้าที่แอฟริกาใต้เสริมว่ามีกว่า 40 ประเทศสนใจเข้าร่วมบริกส์ ในจำนวนนี้กว่า 20 ประเทศขอเข้าร่วมอย่างเป็นทางการแล้ว
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)