ผู้เชี่ยวชาญในบราซิลคาดผู้นำกลุ่มบริกส์จะเห็นพ้องออกเงินดิจิตอลของกลุ่มในการประชุมสุดยอดกลางสัปดาห์นี้ และอาจเปิดตัวภายใน 5-10 ปี บางคนชี้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้เป็นใจอย่างยิ่งต่อการสร้างเหรียญบริกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่อเมริกากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ และดอลลาร์ไม่ปลอดภัยเหมือนเดิมอีกต่อไป
จากรายงานของซีเอ็นเอ็น บราซิล และทาสส์ อีแวนโดร คาเซียโน หัวหน้าแผนกปริวรรตเงินตราของเทรซ ไฟแนนซ์ เชื่อว่า ที่ประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์จะตกลงจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลแนวคิดในการพัฒนาสกุลเงินดิจิตอลของกลุ่ม
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า วิธีหนึ่งที่จะทำให้สกุลเงินร่วมบริกส์แจ้งเกิดคือ การพัฒนาขึ้นมาในรูปสกุลเงินดิจิตอลคล้ายกับสกุลเงินดิจิตอลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ซึ่งคาเซียโนเห็นด้วยว่า สกุลเงินดิจิตอลของบริกส์มีโอกาสเป็นไปได้ถ้าออกและควบคุมโดยนิว ดิเวลอปเมนต์ แบงก์ หรือที่เรียกกันว่า บริกส์แบงก์ แต่ขั้นตอนในการออกอาจใช้เวลา 5-10 ปี
คาเซียโนเพิ่มเติมว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ “เอื้ออำนวยต่อการสร้างเหรียญบริกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่อเมริกากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ และถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดเรทติ้ง และย้ำว่า ดอลลาร์ไม่ปลอดภัยเหมือนเดิมอีกต่อไป
เมื่อไม่นานมานี้เลสลี มาสดอร์ป รองประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริกส์แบงก์ พูดในทำนองเดียวกันว่า การพัฒนาทางเลือกแทนดอลลาร์เป็น “เป้าหมายระยะกลางถึงระยะยาว”
มิเลนา อราอูจู นักวิเคราะห์ของบริษัทการลงทุน เน็กซ์เจน คาดหมายเช่นเดียวกันว่า ซัมมิตบริกส์ที่มีกำหนดจัดขึ้นในโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค. จะเริ่มต้นหารือเกี่ยวกับ “เหรียญดิจิตอลที่ใช้ร่วมกัน” ซึ่งจะท้าทายการครอบงำของดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเริ่มที่แผนการศึกษาความเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับข้อเสนอนี้
เดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวาของบราซิล ประกาศสนับสนุนแนวคิดในการสร้างสกุลเงินร่วมที่จะช่วยอำนวยความสะดวกการค้าขายระหว่างชาติสมาชิกบริกส์ เขายังบอกอีกว่า เหรียญดิจิตอลบริกส์อาจแทนที่ดอลลาร์ในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศต่างๆ
ว่าที่จริงกลุ่มบริกส์ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ หารือเรื่องการเปิดตัวโทเคนดิจิตอลกันมาตั้งแต่ปี 2019 และมีการทบทวนแผนการกันมาหลายครั้งขณะที่ประเทศต่างๆ จริงจังมากขึ้นในการลดการพึ่งพิงดอลลาร์
ชาติสมาชิก เช่น จีน บราซิล และรัสเซียยังมีความคืบหน้าอย่างมากในโครงการ CBDC ของตัวเอง และทั้งสามประเทศพูดถึงความเป็นไปได้ในการ “ค้าขายข้ามพรมแดน” ด้วย CBDC
นอกจากนี้รัสเซียและอิหร่านที่อาจเข้ากลุ่มบริกส์ในอนาคต ยังหารือในการร่วมกันออกสเตเบิลคอยน์ที่ผูกกับทองคำ
อย่างไรก็ตาม ลอร์ด จิม โอนีลล์ อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ที่เป็นผู้บัญญัติชื่อกลุ่มบริกส์ขึ้นมาในงานวิจัยเมื่อปี 2001 วิจารณ์แนวคิดในการตั้งสกุลเงินร่วมว่า เป็นแค่เรื่องตลก
เจ้าหน้าที่แอฟริกาใต้หลายคนยังบอกว่า ไม่มีหัวข้อสกุลเงินร่วมในวาระการประชุม กระนั้น เจ้าหน้าที่บริกส์หารือเรื่องนี้มาหลายรอบแล้วในซัมมิตครั้งก่อนๆ
นอกจากนั้นผู้นำบริกส์ยังจะคุยกันว่า จะรับชาติอื่นๆ เข้าเป็นสมาชิกหรือไม่
วอชิงตัน โพสต์รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีกว่า 20 ประเทศแสดงความสนใจเข้ากลุ่มบริกส์ อาทิ เวเนซุเอลา เวียดนาม อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อาร์เจนตินา คิวบา ไนจีเรีย และไทย