xs
xsm
sm
md
lg

สิงคโปร์เผยกรอบโครงควบคุมสเตเบิลคอยน์ ชูลดความเสี่ยง-เปิดเผยข้อมูลชัดเจนโปร่งใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สิงคโปร์เดินหน้าเตรียมความพร้อมสำหรับการยอมรับสเตเบิลคอยน์ ด้วยการเปิดเผยกรอบโครงกฎระเบียบใหม่ที่ครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมนี้ โดยเน้นย้ำทั้งด้านความมั่นคงของราคา ทุนสำรองเพื่อลดความเสี่ยงหากเกิดวิกฤต และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส

สิงคโปร์ ฮับการเงินระดับโลกที่ขึ้นชื่อเรื่องแนวทางที่สร้างสรรค์สำหรับเทคโนโลยีและการเงิน ดำเนินการขั้นตอนที่ชัดเจนในการกำหนดอนาคตสเตเบิลคอยน์ภายในประเทศ โดยเมื่อวันอังคาร (15 ส.ค.) Monetary Authority of Singapore (MAS) หรือธนาคารกลางของสิงคโปร์ ได้เปิดเผยกรอบโครงกฎระเบียบโดยละเอียดที่ร่างขึ้นมาเพื่อให้แน่ใจในเสถียรภาพและความปลอดภัยในการออกและดำเนินการสเตเบิลคอยน์ที่ผูกกับสกุลเงินเพียงสกุลเดียว single-currency stablecoins (SCS) ในสิงคโปร์

ทั้งนี้ สเตเบิลคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่ออกแบบมาเพื่อให้คงมูลค่าเมื่อเทียบกับเงินเฟียต สเตเบิลคอยน์จำนวนมากอ้างว่า มีทุนสำรองซึ่งประกอบด้วยสินทรัพย์ในโลกจริง เช่น เงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาล

ปัจจุบันตลาดสเตเบิลคอยน์มีมูลค่าราว 125,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่ USDT ของเทเทอร์ และ USDC ของเซอร์เคิล ครองมูลค่าตามราคาตลาดรวมกันถึง 90% โดยประมาณ

อย่างไรก็ตาม สเตเบิลคอยน์ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างครอบคลุมทั่วโลก

จากคำแถลงเมื่อวันอังคาร กรอบโครงกฎระเบียบใหม่นี้ออกมาหลังจากการหารือและประเมินมายาวนาน สะท้อนความมุ่งมั่นของสิงคโปร์ที่มีต่อนวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบในโลกคริปโตที่มีพัฒนาการตลอดเวลา

ภายใต้กรอบโครงนี้ สเตเบิลคอยน์จะต้องมีทุนสำรองที่เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงแต่ความเสี่ยงต่ำ และมีมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่าสเตเบิลคอยน์ที่หมุนเวียนในระบบเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงหากบริษัทผู้ออกเหรียญเผชิญปัญหา

สเตเบิลคอยน์ต้องผูกกับดอลลาร์สิงคโปร์หรือสกุลเงินอื่นในกลุ่มจี10 เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร ปอนด์ ในอัตรา 1:1 เมื่อออกภายในสิงคโปร์และอยู่ภายใต้ขอบเขตการกำกับดูแลของ MAS

อย่างไรก็ตาม MAS อธิบายว่า กฎข้อบังคับนี้ใช้กับสกุลเงินที่หมุนเวียนในระบบเกิน 5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

MAS ประกาศว่า ผู้ออกสเตเบิลคอยน์ที่มีคุณสมบัติตามแนวทางใหม่นี้เท่านั้นที่จะสามารถยื่นขอให้เหรียญของตนได้รับการพิจารณาและรับรองเป็น “สเตเบิลคอยน์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ MAS” โดยสถานะนี้จะทำให้ผู้ใช้สามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างสเตเบิลคอยน์เหล่านี้กับโทเคนดิจิตอลเพื่อการชำระเงินอื่นๆ ซึ่งรวมถึงสเตเบิลคอยน์ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบโครงกฎระเบียบของ MAS

อีกหนึ่งเงื่อนไขในแนวทางสำหรับสเตเบิลคอยน์คือความโปร่งใสอย่างสมบูรณ์ โดย MAS กำหนดให้ผู้ออกโทเคนต้องพร้อมให้ผู้ถือสเตเบิลคอยน์ถอนเงินคืนภายใน 5 วันทำการหลังจากที่ร้องขอ

นอกจากนั้น ผู้สร้างสเตเบิลคอยน์ในสิงคโปร์ยังต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างครอบคลุม ซึ่งรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับกลไกการรักษาเสถียรภาพมูลค่า สิทธิของผู้ถือสเตเบิลคอยน์ จัดให้มีการตรวจสอบเงินทุนสำรองโดยผู้ตรวจสอบอิสระเป็นประจำทุกเดือนและส่งผลการตรวจสอบให้ MAS รวมทั้งโพสต์บนเว็บไซต์บริษัท

Ho Hern Shin รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกำกับดูแลภาคการเงินของ MAS เชื่อว่า สเตเบิลคอยน์เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนระบบดิจิตอลที่เชื่อถือได้และสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างระบบนิเวศการเงินดั้งเดิมกับเศรษฐกิจอุบัติใหม่ และสำทับว่า MAS สนับสนุนให้ผู้ออก SCS ที่ต้องการให้สเตเบิลคอยน์ของตนได้รับสถานะสเตเบิลคอยน์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ MAS เตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆ ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่นี้

สิงคโปร์นั้นมีเป้าหมายในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งฮับคริปโต และพยายามดึงดูดบริษัทต่างชาติ ขณะที่อุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิตอลกำลังวิพากษ์วิจารณ์ระบบกฎระเบียบของอเมริกาอย่างหนัก

ทั้งเทเทอร์และเซอร์เคิลต่างยินดีกับกฎใหม่ของสิงคโปร์

Yam Ki Chan รองประธานฝ่ายกลยุทธ์และนโยบายประจำเอเชีย-แปซิฟิกของเซอร์เคิล ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีว่า กฎระเบียบใหม่นี้ทำให้ MAS เป็นหนึ่งในหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินระดับโลกที่มีวิสัยทัศน์ในการกำหนดกรอบโครงกฎระเบียบที่ชัดเจนและโปร่งใสสำหรับสเตเบิลคอยน์และสินทรัพย์ดิจิตอล

ขณะที่เปาโล อาร์ดูอิโน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของเทเทอร์ ยกย่อง MAS ในการประกาศกรอบโครงที่เข้มงวดสำหรับสเตเบิลคอยน์ที่รักษาสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับการปกป้องผู้ใช้ และสำทับว่า กรอบโครงนี้นำเสนอโครงสร้างที่ชัดเจน อีกทั้งยังกำหนดแนวทางที่เตรียมการมาเป็นอย่างดีสำหรับการดำเนินการสเตเบิลคอยน์ในสิงคโปร์ ควบคู่กับการรับรองความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ

ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่กำหนดกฎระเบียบนี้ โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อังกฤษได้ผ่านกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานกำกับดูแลตรวจสอบสเตเบิลคอยน์ แต่ยังไม่มีกฎที่เป็นรูปธรรมออกมา ขณะเดียวกัน ฮ่องกงกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนเกี่ยวกับสเตเบิลคอยน์และเตรียมออกกฎระเบียบในปีหน้า

 สิงคโปร์รุดหน้าอีกก้าว ประกาศกรอบโครงกฎระเบียบที่ชัดเจนสำหรับสเตเบิลคอยน์
กำลังโหลดความคิดเห็น