xs
xsm
sm
md
lg

ต่อกรสหรัฐฯ! ปูตินย้ำธนาคารทางเลือก BRICS มีความจำเป็น รับมือวอชิงตันใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การจัดตั้งสถาบันการเงินทางเลือกเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ความพยายามดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาที่วอชิงตันใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นอาวุธ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กล่าวในวันพุธ (26 ก.ค.) ระหว่างการประชุมร่วมกับ ดิลมา รูสเซฟฟ์ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มบริกส์ (BRICS)

อดีตประธานาธิบดีหญิงของบราซิล ซึ่งเข้ารับตำแหน่งประธานอดีตธนาคารเพื่อการพัฒนาของกลุ่ม BRICS เมื่อเดือนมีนาคม เดินทางเยือนเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อพบปะกับ ปูติน ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตรัสเซีย-แอฟริกาในสัปดาห์นี้

"ผมไม่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ ด้วยประสบการณ์มากมายของคุณและความรู้ในขอบเขตนี้ คุณจะทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาสถาบันแห่งนี้ ที่ผมคิดว่ามันมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน" ปูตินบอกกับรูสเซฟฟ์ "ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน มันไม่ใช่งานที่ง่ายเลย เนื่องด้วยสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับการเงินโลก และการใช้ดอลลาร์เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง"

ปูติน เน้นย้ำว่ากลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ไม่ได้มีเป้าหมายที่ใครอย่างเฉพาะเจาะจง แต่กำลังทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ร่วม ในนั้นรวมถึงด้านการเงิน เขาชี้ว่าสมาชิกกลุ่ม BRICS ได้ยกระดับใช้สกุลเงินท้องถิ่นชำระบัญชีทางการค้าระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

รูสเซฟฟ์ เห็นด้วยว่าบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายควรทำแนวทางนี้ไปใช้ในวงกว้าง เธอยังบอกอีกว่าความท้าทายใหญ่หลวงที่มีต่อเหล่าชาติกำลังพัฒนาคือศักยภาพในการเพิ่มงบประมาณสำหรับโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ไล่ตั้งแต่การบริการสังคม ไปจนถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นนี้ เธออ้างว่าถูกละเลิกเพิกเฉย เนื่องจากทุกคนมุ่งเน้นไปยังปัญหาหนี้สิน

สหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็น 20% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจโลก แต่มากกว่า 50% ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกถือครองในสกุลเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว สัดส่วนการถือครองสกุลเงินดอลลาร์ลดลงอย่างมากในปีที่ผ่านมา หลังมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินเล่นงานรัสเซีย ต่อความขัดแย้งในยูเครน ในนั้นรวมถึงอายัดทุนสำรองระหว่างประเทศและสกัดการเข้าถึงระบบชำระเงิน SWIFT ก่อความกังววลแก่ชาติต่างๆ ว่าพวกเขาอาจตกเป็นเป้าหมายของมาตรการลักษณะเดียวกันในอนาคต

เมื่อเดือนตุลาคม ปูตินอ้างว่าสหรัฐฯ "บั่นทอนความน่าเชื่อถือสถาบันทุนสำรองระหว่างประเทศด้วยการใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธ แรกเริ่มคือปล่อยมลพิษทางการเงิน จากนั้นก็ขโมยเงินของรัสเซีย" และนับตั้งแต่นั้น เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังอเมริกา ยอมรับว่ามาตรการคว่ำบาตรต่างๆ อาจผลักบางประเทศละทิ้งดอลลาร์

"ประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งยุคสมัยการครองโลกของดอลลาร์สหรัฐกำลังมาถึงจุดจบ" อันเดรย์ คอสติน ประธานธนาคารวีทีบีแบงก์ของรัสเซีย ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้ว

ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกส่วนใหญ่ มองไม่เห็นว่าจะมีสกุลเงินอื่นใดที่มีศักยภาพพอจะก้าวมาแทนที่ดอลลาร์ แต่ ปูติน แย้มเมื่อเดือนมิถุนายน ว่า BRICS กำลังดำเนินการเกี่ยวกับสกุลเงินสำรองของตนเอง บางทีอาจอยู่บนพื้นฐานของตะกร้าสินค้าโภคภัณฑ์

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น