รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน ปิดทริปเยือนปักกิ่งนาน 4 วัน เมื่อวันอาทิตย์ (9 ก.ค.) เผยการหารือนาน 10 ชั่วโมงกับเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนอย่างตรงไปตรงมาและมีความคืบหน้าที่ดี ยันวอชิงตันไม่ต้องการตัดขาดจากเศรษฐกิจจีน และพร้อมรับฟังข้อร้องเรียนจากบริษัทจีนเกี่ยวกับมาตรการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีของสหรัฐฯ รวมทั้งอาจตอบสนองต่อผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์
เยลเลน กล่าวในการแถลงข่าวที่สถานเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำปักกิ่งว่า อเมริกาและจีนยังคงขัดแย้งในหลายประเด็น โดยเธอพาดพิงถึงความกังวลของวอชิงตันเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและการลงโทษบริษัทอเมริกันเมื่อเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ดี เยลเลนเสริมว่า ตนและประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่ได้มองความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศผ่านกรอบความขัดแย้งของมหาอำนาจ และเชื่อว่า โลกกว้างใหญ่พอที่ทั้งจีนและอเมริกาจะเติบโตไปด้วยกัน
ทั้งนี้ เยลเลน ที่ถือเป็น “สายพิราบ” ในเรื่องความสัมพันธ์กับจีนในคณะบริหารไบเดน ถูกมองว่ารับบทเป็น “ตำรวจดี” ในการเดินทางเยือนปักกิ่งคราวนี้ โดยมุ่งเน้นความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนที่ตกต่ำอย่างมากในประเด็นความมั่นคงของชาติ รวมถึงไต้หวัน หลังจากเมื่อเดือนที่แล้วแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ รับบท “ตำรวจเลว” เดินทางเยือนปักกิ่ง หลังจากนี้คาดกันว่า จอห์น เคร์รี ผู้แทนด้านสภาพภูมิอากาศของอเมริกา ซึ่งถือเป็น “สายพิราบ” อีกคนหนึ่งจะเยือนจีนในเดือนนี้
ความพยายามทางการทูตเหล่านี้ของวอชิงตันมีขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ กำลังตีข่าวว่าอาจจะมีการพบหารือกันอีกรอบระหว่างไบเดน กับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการประชุมสุดยอดกลุ่มจี20 ที่นิวเดลีเดือนกันยายน หรือในการประชุมซัมมิตกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ซานฟรานซิสโกในเดือนพฤศจิกายน
เยลเลน กล่าวในวันอาทิตย์ว่า การเยือนของตนมีเป้าหมายในการสร้างและกระชับความสัมพันธ์กับทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของจีน ลดความเสี่ยงในการเข้าใจผิด และปูทางสู่การร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาหนี้สินของพวกประเทศกำลังพัฒนา
รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เสริมว่า เจ้าหน้าที่จีนหยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับข่าวที่ว่า ไบเดน กำลังจะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารในเร็ววันนี้ ซึ่งมุ่งจำกัดการลงทุนนอกประเทศ โดยเฉพาะจีน แต่เธอให้ความมั่นใจว่า มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการอย่างโปร่งใส ทั้งยังบอกกับเจ้าหน้าที่จีนว่า สามารถแจ้งข้อกังวลได้ เพื่อให้อเมริกาอธิบายและตอบสนองผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์จากการดำเนินการที่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายอย่างรอบคอบในบางกรณี
ระหว่างการเยือน เยลเลนได้พบเจ้าหน้าที่หลายคนของจีน ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง รองนายกรัฐมนตรีเหอ ลี่เฟิง อีกทั้งยังได้หารือกับบริษัทอเมริกันที่ทำธุรกิจในจีน ผู้เชี่ยวชาญการระดมทุนด้านสภาพภูมิอากาศ และพวกนักเศรษฐศาสตร์หญิงของแดนมังกร
ระหว่างพบกับเจ้าหน้าที่จีน เยลเลนเรียกร้องเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและปัญหาสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งวิจารณ์มาตรการที่จีนลงโทษบริษัทอเมริกัน
เธอยังย้ำว่า วอชิงตันไม่ต้องการตัดขาดจากเศรษฐกิจจีน เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะทำให้เกิดหายนะต่อทั้งสองประเทศ และบ่อนทำลายเสถียรภาพโลก
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อเมริกาได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกเพื่อจำกัดการเข้าถึงไมโครชิปไฮเทค โดยอ้างเหตุผลว่ากลัวจีนจะนำไปใช้ทางการทหารและขณะนี้กำลังพิจารณาจำกัดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่อ่อนไหว นอกจากนั้นมีรายงานว่า รัฐสภาสหรัฐฯ ต้องการมาตรการที่แข็งกร้าวกว่านั้น โดยสมาชิกรัฐสภากลุ่มหนึ่งที่เป็นตัวแทนจากทั้งสองพรรคเสนอให้อำนาจรัฐบาลในการสกัดการลงทุนนับหมื่นล้านของอเมริกาในจีน อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งตอบโต้ว่าสหรัฐฯ มุ่งกดขี่ไม่ให้จีนมีการพัฒนา ด้วยจุดประสงค์เพื่อรักษาฐานะความเป็นเจ้าเหนือใครในด้านเทคโนโลยีเอาไว้ต่อไป
เยลเลนย้ำว่า การปิดกั้นการลงทุนจะมีการกำหนดเป้าหมายอย่างรอบคอบและกระทำภายในกรอบแคบๆ ต่ออุตสาหกรรมไม่กี่ประเภทที่อเมริกากังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ไม่จำเป็น
สำหรับคำถามเกี่ยวกับแผนการของบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ในการสร้างสกุลเงินร่วมสำหรับกลุ่มบริกส์นั้น เยลเลนตอบว่า เธอคาดว่าดอลลาร์จะยังคงเป็นสกุลเงินหลักในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศต่อไป
ส่วนประเด็นสงครามในยูเครนนั้น รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวกับเจ้าหน้าที่จีนว่า บริษัทจีนต้องหลีกเลี่ยงการให้การสนับสนุนรัสเซียในการทำสงครามหรือหลบเลี่ยงมาตรการแซงก์ชัน
ทั้งอเมริกาและจีนต่างไม่คาดหวังว่าการเยือนของเยลเลนจะประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม แต่ยกย่องว่า เป็นโอกาสในการเจรจาทางการทูตแบบพบปะกันจริงๆ และเยลเลนคาดหวังว่า การเดินทางครั้งนี้จะช่วยสร้างช่องทางสื่อสารที่ยืดหยุ่นและประสบความสำเร็จระหว่างสองชาติ
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)