xs
xsm
sm
md
lg

รู้ตัวแล้ว! รมว.คลังมะกันยอมรับมาตรการคว่ำบาตรคุกคามความเป็น 'เจ้าโลก' ของดอลลาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ กำลังผลักให้มากมายหลายประเทศเสาะทาทางเลือกอื่นๆ แทนดอลลาร์ในการชำระหนี้ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังอเมริกา กล่าวเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ระหว่างเข้าให้ปากคำประจำปีต่อคณะกรรมาธิการการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถานะของระบบการเงินระหว่างประเทศ

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลดพึ่งพิงดอลลาร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยอมรับว่าการใช้ดอลลาร์ในเศรษฐกิจโลกกำลังลดน้อยถอยลง "มันไม่น่าประหลาดใจที่ประเทศต่างๆ ที่เกรงว่าพวกเขาอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของเรา กำลังมองหาทางเลือกอื่นแทนดอลลาร์ มันเป็นบางอย่างที่ง่ายต่อการคาดการณ์" เธอเน้น

วินเซนต์ กอนซาเลซ สมาชิกสภาคองเกรสถามว่าสหรัฐฯ ควรลดใช้มาตรการคว่ำบาตรในนโยบายต่างประเทศหรือไม่ ในขณะที่มันทำให้แม้กระทั่งบรรดาประเทศพันธมิตรดั้งเดิมอย่างเช่นฝรั่งเศส ยังดำเนินธุรกรรมโดยไม่พึ่งพิงดอลลาร์

ในเรื่องนี้ เยลเลน เน้นว่าสำหรับประเทศส่วนใหญ่ "ยังไม่เห็นมีวิธีขัดตาทัพอย่างมีนัยสำคัญ" สำหรับทดแทนการใช้ดอลลาร์ เธอยอมรับมีหนทางที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้นในการลดถือครองดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่เธอเชื่อว่าดอลลาร์น่าจะยังคงสามารถรักษาสถานะสกุลเงินที่มีคนใช้มากที่สุดในโลกต่อไป

"เราสามารถคาดหมายได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป จะพบเห็นทรัพย์สินอื่นๆ มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในทุนสำรองที่ประเทศต่างๆ ถือครองอยู่ ตามธรรมชาติแห่งความปรารถนาถือครองทุนสำรองที่หลากหลาย แต่ดอลลาร์ยังคงเล่นบทบาทของมันในระบบการเงินโลก ในเหตุผลที่ดีๆ มาก นั่นคือยังไม่มีประเทศอื่นๆ ที่สามารถเลียนแบบได้" เยลเลน ระบุ

เยลเลน กล่าวต่อว่า "มันจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับประเทศไหนๆ ที่จะคิดหาหนทางหลีกเลี่ยงดอลลาร์" รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุ พร้อมเน้นว่าในบรรดาความเข้มแข็งต่างๆ ที่ดอลลาร์มีนั่นคือ "ความคล่องตัวในตลาดการเงินเสรี หลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง และปราศจากการควบคุมเงินทุน ซึ่งไม่มีประเทศไหนเลียนแบบได้"

มาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ ใช้อย่างกว้างขวาง ผลักให้มีประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเริ่มปลีกตัวเองออกห่างจากการใช้ดอลลาร์ในการชำระหนี้การค้าในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น มาตรการคว่ำบาตรกำหนดเล่นงานรัสเซียกรณีรุกรานยูเครน ซึ่งเป็นการอายัดทุนสำรองของรัสเซียราวครึ่งหนึ่งและจำกัดศักยภาพของบรรดาธนาคารรัสเซียในการทำธุรกิจกรรมผ่านระบบ SWIFT บีบให้มอสโกต้องเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินท้องถิ่นชำระหนี้ในการทำการค้ากับคู่หูต่างชาติ

จีน ซึ่งต่อสู้กับวอชิงตันเกี่ยวกับการควบคุมการส่งออก ก็เพิ่มสัดส่วนการใช้สกุลเงินหยวนชำระหนี้ทางการค้าเช่นกัน โดยเกือบทั้งหมดในด้านการค้าพลังงานระหว่างรัสเซียกับจีน ปัจจุบันชำระหนี้ด้วยรูปแบบของเงินหยวน ในขณะที่ทาง CNOOC บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีน เพิ่งทำการค้าขายก๊าซ LNG กับ TotalEnergies ของฝรั่งเศส ด้วยสกุลเงินหยวน เป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานที่ผ่านมา

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น