xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 34.60 ติดตามผลการประชุม BOJ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (16 มิ.ย.) ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.81 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม BOJและอาจอยู่ในกรอบ 34.45-34.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นชัดเจน ทดสอบโซน 34.60 บาทต่อดอลลาร์ ตามการรีบาวนด์ขึ้นของราคาทองคำและการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์

เรามองว่าการแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง โดยเฉพาะหากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ย้ำจุดยืนใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง (หลังจากที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นเดียวกับเงินบาท) โดยต้องจับตาโซนแนวรับสำคัญของเงินบาทแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ว่าเงินบาทจะสามารถแข็งค่าหลุดระดับดังกล่าวได้หรือไม่ ทั้งนี้ บรรดาผู้นำเข้าอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้นในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ทำให้การแข็งค่าต่อของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจแข็งค่าใกล้โซนแนวรับได้ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) อีกทั้งในฝั่งตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกงเริ่มมีทิศทางที่สดใส หลังธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามคาด ทำให้เงินบาทอาจได้รับอานิสงส์แข็งค่าขึ้นตามทิศทางสกุลเงินหยวนของจีน รวมถึงหากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้ นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เพราะหากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นต่อ เราคาดว่าผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไรเพิ่มเติม และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

มุมมองของผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ต่างเชื่อว่า เฟดจะไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้อีก 2 ครั้ง ตาม Dot Plot ใหม่ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด อย่างยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ออกมาแย่กว่าคาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง โดยเน้นซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่เป็นหลัก เช่น Microsoft +3.2% Meta +3.1% ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.22%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.13% กดดันโดยการขึ้นดอกเบี้ย +25bps ล่าสุด และการส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการขายทำกำไรหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในสัปดาห์นี้ (Kering -1.3% Anglo American -0.10%)

ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่แน่ใจต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งของเฟดในปีนี้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาแย่กว่าคาดบ้าง โดยเฉพาะในส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยรอจังหวะบอนด์ยิลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการเข้าซื้อ ทำให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 3.72% หลังปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านแถวระดับ 3.85%

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงชัดเจนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) หลัง ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะย่อตัวลงหลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด แต่ทว่า การพลิกกลับมาอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงหลังตลาดรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) รีบาวนด์ขึ้นทดสอบโซน 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรทองคำ หลังจากได้เข้าซื้อทองคำในช่วงที่มีการย่อตัวลงมาและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ เรามองว่าไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเรามองว่า BOJ จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ โดยจะ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% และยังคงตรึงบอนด์ยิลด์ 10 ปี ไว้ที่ระดับ 0.00%+/-0.50% จนกว่า BOJ จะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มอยู่ใกล้ระดับ 2% ได้ในระยะยาว แม้ว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่า 3.5% ก็ตาม แต่ BOJ ยังคงกังวลว่า อัตราการเติบโตของค่าจ้างยังไม่สูงพอที่จะหนุนให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับ 2% ได้ในระยะยาว

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่าหากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงจะช่วยหนุนให้ ECB มีโอกาสเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) จนถึงระดับ 3.75% ได้เป็นอย่างน้อย

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ซึ่งในรายงานเดียวกันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อผ่าน คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น