xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียออกลาย ไม่ขอร่วมวงสร้างเงินสกุลร่วม BRICS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทนง ขันทอง

กลุ่มพันธมิตร BRICS ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ กำลังเตรียมประกาศการสร้างสกุลเงินร่วมที่จะมีทองคำหนุนหลังเพื่อท้าทายเงินดอลลาร์สหรัฐ ในการประชุมซัมมิตในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ แต่ดูเหมือนว่าอินเดียจะเป็นประเทศเดียวที่ไม่สนใจในแผนการนี้

S. Jaishankar รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียแถลงข่าวในวันที่ 3 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมาว่า อินเดียไม่มีแผนสำหรับสกุลเงิน BRICS โดยส่งสัญญาณว่าอินเดียอาจจะขอถอนตัวจากการสร้างสกุลเงินใหม่ เพราะว่าต้องการให้ความสำคัญกับการทำให้เงินรูปีมีความมั่นคง และแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญมากที่สุด

“เรายังไม่มีความคิดเกี่ยวกับสกุลเงิน BRICS” S. Jaishankar รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียกล่าว “สิ่งที่เราจะหารือกันในการประชุม BRICS เราต้องดูเพราะมีประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย – แต่ไม่มีความคิดเกี่ยวกับสกุลเงินของ BRICS” เขากล่าวตามที่แสดงโดยวิดีโอจาก Hindustan Times

“เงินสกุลร่วมจะยังคงเป็นปัญหาระดับชาติไปอีกนาน” ไจแชนการ์ กล่าวเสริม

สำหรับข้ออ้างของอินเดียก็คือประการแรก อินเดียเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม BRICS ที่ทำได้ดีในแง่ของจีดีพี โดยมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด ด้วยเหตุนี้ ประเทศจึงไม่ต้องการการสนับสนุนจาก BRICS และสามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากสกุลเงินใหม่ของ BRICS

นอกจากนี้ อินเดียยังมีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ และยุโรปด้วยข้อตกลงการค้าและการทหารมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ อินเดียไม่ต้องการเสี่ยงทางการค้ากับมหาอำนาจตะวันตก ในขณะที่เงิน BRICS ยังไม่ได้ถือกำเนิดออกมา

จุดยืนของอินเดียจะทำให้แผนการของ BRICS ในการออกเงินสกุลร่วมที่จะมีทองคำหนุนหลังสะดุดหรือไม่ รวมทั้งการหารือแนวทางการรับสมาชิกใหม่ของ BRICS ว่าจะมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายอย่างไร ล่าสุดมีรายงานว่ากว่า 41 ประเทศแสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ BRICS

ต้องจับตาดูเวทีประชุมซัมมิตที่จะมีขึ้นมีแอฟริกาใต้ในระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคมนี้ว่า จะมีความคืบหน้าในการเปิดตัวเงินสกุลร่วม BRICS และการรับสมาชิกใหม่อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของอินเดียที่ไม่เอาเงินสกุลร่วมจะทำให้ BRICS เดินหน้าต่อไปได้หรือไม่

Leslie Maasdorp รองประธาน BRICS New Development Bank กล่าวว่า

“จะต้องใช้เวลานานมากสำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินที่จะเป็นรูปเป็นร่าง ดังนั้น การอภิปรายเกี่ยวกับสกุลเงินอื่นจึงเป็นความทะเยอทะยานในระยะกลางและระยะยาวมากกว่า”


นับตั้งแต่รัสเซียโจมตียูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทั้งปักกิ่งและมอสโกต่างก็เพิ่มความพยายามในการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และลดการใช้เงินดอลลาร์ เพื่อที่จะต้านทานอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และการเงินของสหรัฐฯ รัสเซียถูกสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกยึดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปกว่า $300,000 ล้าน และระบบธนาคารของรัสเซียถูกขับออกจากระบบ SWIFT

จีนได้ขอให้คู่ค้าของตนชำระสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์โดยใช้เงินหยวนมากกว่าดอลลาร์ ขณะที่ปูตินกล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า รัสเซียพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างเงินสำรองใหม่ตามตะกร้าสกุลเงินของทั้งบราซิล เรียล รูปีอินเดีย หยวนจีน รูเบิลรัสเซีย และแรนด์แอฟริกาใต้

ผู้นำของทั้งบราซิลและแอฟริกาใต้ต่างก็ตั้งคำถามต่อการครอบงำของเงินดอลลาร์เมื่อเดือนที่แล้ว โดยประธานาธิบดี Cyril Ramaphosa ของแอฟริกาใต้กล่าวว่าสกุลเงินจะ “อยู่ในวาระการประชุม” เมื่อกลุ่ม BRICS พบกันครั้งต่อไปที่เมืองโจฮันเนสเบิร์กในเดือนสิงหาคม

จะเห็นได้ว่าประเทศอื่นๆ ของ BRICS ไม่ได้มีความแตกแยกในเรื่องการสร้างเงินสกุลร่วม เพื่อลดอิทธิพลของดอลลาร์ ยกเว้นอินเดียประเทศเดียวที่กำลังดำเนินนโยบายเหยียบเรือสองแคม เพื่อเอาใจทั้งสหรัฐฯ และยุโรป แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการกอบโกยผลประโยชน์จากกลุ่ม BRICS อย่างเต็มที่เหมือนกัน

ก่อนหน้านี้ สถานทูตรัสเซียประจำประเทศเคนยาได้ออกประกาศว่า BRICS มีแผนการที่จะออกเงินสกุลร่วม โดยจะมีทองคำหนุนหลังทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า จะเป็นการปฏิวัติระบบการเงินโลกเลยทีเดียว มีคำถามตามมามากมายว่า ดอลลาร์จะสามารถรักษาเงินสกุลหลักของโลกได้อีกนานเท่าใด ถ้าหากถูกท้าทายโดย BRICS โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากจีน รัสเซีย และประเทศอื่นๆ หันมาใช้ทองคำหนุนหลังค่าเงิน ในขณะที่เงินดอลลาร์เป็นเงินกระดาษล้วนๆ

นายRobert Kiyosaki ผู้แต่ง Rich Dad Poor Dad ได้เตือนว่าหาก BRICS ประสบความสำเร็จในการสร้างเงินสกุลร่วมที่มีทองคำหนุนหลัง ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์ตายไปเลย

Peter Reagan เขียนบทความ What Are the BRICS Planning With the August 22nd Durban Accords? ลงในเว็บ birchgold.com ว่า ในวันที่ 22 สิงหาคม นี้ อาจจะเป็นวันเริ่มต้นของจุดจบ ของระบบดอลลาร์ปัจจุบันอยู่ก็ได้

กลุ่มประเทศ BRICS เป็นกลุ่มที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ เพราะในกลุ่มนี้ มีสองในห้าของสมาชิก (รัสเซียกับจีน) ที่มีประวัติการเป็นคู่แข่งกับสหรัฐฯ ในทางภูมิรัฐศาสตร์โดยตรง

ตอนนี้ทั้งสองประเทศ มีการเซ็นสัญญาการค้าทวิภาคีระหว่างกัน ที่เป็นการค้าที่ใช้สกุลเงินของตน ไม่ใช้ดอลลาร์เป็นตัวกลาง นั่นจะเป็นการลดบทบาทของดอลลาร์ในการเป็นรีเสิร์ฟ

การประชุมที่แอฟริกาใต้ในครั้งนี้จะมีการประกาศสกุลเงินนานาชาติใหม่ที่มีการอิงค่ากับสินค้าโภคภัณฑ์ นี่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะทุกวันนี้ มีเงินสกุลไหนบ้างที่มีมูลค่า?

สกุลเงินใหม่ของ BRICS จะทำให้ประเทศที่เกี่ยวข้องหลบหลีกจากการแซงก์ชันของสหรัฐฯ และเงินเฟ้อจากดอลลาร์ไปได้

เริ่มแรก ก็มีข่าวว่าสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะมาอิงค่าสกุลเงินของ BRICS จะเป็นสินค้าที่มีการเทรดของประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ เช่น น้ำมัน แร่ สินค้าเกษตร...หรือเป็นไปได้มากที่สุด ทองคำ

การอิงค่าด้วยทองคำจะเป็นทางที่เป็นได้มากที่สุดของ

จีนและรัสเซียเป็นประเทศที่มีปริมาณเหมืองเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก (แอฟริกาและบราซิลอยู่ในอันดับ 13 และ 14) ทั้งจีนและรัสเซียมีปริมาณทองคำรีเสิร์ฟมากเป็นอันดับ 6 และ 7 ของโลก

นั่นคือเรื่องที่จะอยู่ในที่ประชุม ที่แอฟริกาใต้ครั้งนี้

-- ทางเลือกใหม่จากระบบการเงินที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้ควบคุม

-- ทางหลีกเลี่ยงจากการใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธ

-- ทางหลีกเลี่ยงจากเงินเฟ้อที่สร้างขึ้นจากปริมาณดอลลาร์ที่พิมพ์มามากเกินไป

-- พัฒนาการค้าทวิภาคีที่มีอยู่แล้วให้ง่ายขึ้น

นี่เป็นการเริ่มกำเนิดขึ้นของทางเลือกนอกเหนือจากยูเอสดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ท่าทีของนายJaishanker หรืออินเดียต่อเงินสกุลร่วม BRICS สะท้อนให้เห็นว่าอินเดียมีความรู้สึกคลางแคลงใจต่อบทบาทของจีนในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงินและการเมือง รวมถึงความมั่นคง ทำให้ BRICS รวมทั้งองค์กร Shanghai Cooperation Organization ไม่ได้มีเอกภาพอย่างแท้จริงในท้าทายกลุ่ม G7 หรือมหาอำนาจตะวันตก

ในขณะเดียวกัน อินเดียเร่งเพิ่มบทบาทของเงินรูปีในการค้าระหว่างประเทศ ล่าสุด อินเดียลงนามในข้อตกลงกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเปิดใช้การชำระบัญชีด้วยสกุลเงินรูปีแทนที่จะเป็นดอลลาร์

ในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่อันดับสาม ที่ผ่านมา อินเดียจ่ายค่าน้ำมันของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นดอลลาร์ และอินเดียกำลังทำให้รูปีเป็นที่ยอมรับมากขึ้นกับประเทศคู่ค้า

นอกจากนี้ อินเดียยังมีการเจรจากับอินโดนีเซียในการทำธุรกรรมทวิภาคีโดยใช้สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งก็คือรูปี กับรูเปียห์ และกำลังทำงานเพื่อเชื่อมต่อระบบการชำระเงินของทั้งสองประเทศเพื่อส่งเสริมการโอนเงินข้ามพรมแดน

ในช่วงปลายปี 2565 รองผู้ว่าการธนาคารกลางของอินเดียระบุว่า การที่อินเดียจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจนั้น จะต้องรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เงินรูปีเป็นสากล

จากการที่ยุโรปแซงชั่นรัสเซีย ทำให้อินเดียได้ประโยชน์ด้วยการซื้อน้ำมันจากรัสเซียด้วยเงินรูปี แล้วขายน้ำมันนั้นให้ยุโรปทำให้มีกำไรอย่างงาม และมีรายได้เป็นยูโร

มีรายงานว่ารัสเซียไม่ต้องการรับเงินรูปีมากเกินไป ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เนื่องจากความไม่สมดุลทางการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างสองประเทศ สินค้าของอินเดียมีไม่มากพอที่รัสเซียจะใช้รูปีซื้อ

เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ยอมรับปัญหาของเงินรูปีที่รัสเซียมีอยู่มากเกินพอ “สำหรับรูปี นี่เป็นปัญหาเพราะมีเงินหลายพันล้านรูปีสะสมอยู่ในบัญชีที่ธนาคารอินเดีย และเราจำเป็นต้องใช้เงินนี้ สำหรับสิ่งนี้ ควรแปลงรูปีเป็นสกุลเงินอื่น เรื่องนี้กำลังถูกหารือ” เขากล่าว

Dr.Prashant Prabhakar Deshpande เขียนบทความ BRICS’s plan to float a common currency & India’s reaction to it ลงใน The Times of India ว่า มีรายงานว่าจีนยังคงเป็นกำลังหลักที่ขับเคลื่อนกระบวนการขยายตัวของ BRICS ด้วยความตั้งใจที่จะโค่นอำนาจเงินดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลจีนกำลังผลักดันให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมกลุ่มและยอมรับสกุลเงินที่จะออกในเร็วๆ นี้ด้วยความตั้งใจที่จะปลดดอลลาร์สหรัฐออกจากสถานะเงินรีเสิร์ฟของโลก ทั้งรัสเซียและจีนกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีระบบชำระเงิน เพื่อที่จะทำให้การทำธุรกรรมการเงินของเงินสกุลใหม่ง่าย หรือสะดวกมากขึ้น

นายPrashant Prabhakar Deshpande เขียนต่อไปว่า จีนกำลังใช้ BRICS เป็นอาวุธในภารกิจเพื่อโค่นล้มเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินสำรองของโลก โดยเชื่อว่ากลุ่ม BRICS จะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้แผนการนี้เป็นจริง อย่างไรก็ตาม อีก 3 ประเทศที่เหลือ อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ ดูเหมือนจะไม่มั่นใจในโอกาสที่จีนจะขึ้นมามีอิทธิพลเหนือโลกได้ พวกเขากลัวว่าสี จิ้นผิง อาจกำหนดวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับระเบียบโลกใหม่ เมื่อสกุลเงินใหม่ปรากฏขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

อินเดียสงสัยในเจตนาของจีนด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้:

1. อินเดียระแวดระวังอำนาจของจีน จึงต้องการตื่นตัวต่อความเป็นไปได้ของจีน ซึ่งในสายตาของนายDeshpande มองว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์และเผด็จการที่ใช้กลุ่ม BRICS เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

2. อินเดียรู้สึกว่าพันธมิตร BRICS กำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางอำนาจของจีน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ

3. อินเดียเกรงว่าสี จิ้นผิง เป็นผู้นำจีนกำลังพยายามก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารระดับโลก และ BRICS อาจเป็นบันไดให้จีนก้าวไปสู่เป้าหมาย

4. จีนกำลังกดดันให้หลายประเทศทำการค้าโดยใช้เงินหยวนของจีนเพื่อให้จีนสามารถปฏิบัติตามแผนวิสัยทัศน์ของสี จิ้นผิงเกี่ยวกับระเบียบโลกใหม่ เมื่อสกุลเงินใหม่ขึ้นมามีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ

จีนและอินเดียขัดแย้งกันมานานกว่าทศวรรษแล้ว แม้จะเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ด้วยกันก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนหน้านี้อินเดียห้ามสินค้าจีนเข้าประเทศและห้ามแอปของจีน รวมถึง TikTok บริการโฮสต์วิดีโอแบบสั้นและ Shein ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกแฟชั่นออนไลน์ของจีน

อินเดียจึงกังวลว่าปักกิ่งกำลังใช้แพลตฟอร์มของ BRICS เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเกี่ยวกับประเทศต่างๆ ในโลกด้วยการโค่นอำนาจเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารระดับโลกแทน

ไซมอน ฮันต์ ผู้ก่อตั้ง Simon Hunt Strategic Services ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Kitco News ว่า ไม่ควรประเมินอิทธิพลของกลุ่มประเทศ BRICS โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงภัยคุกคามต่อเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินสำรองของโลก

“การมีส่วนร่วมของ BRICS เป็นการเคลื่อนไหวอย่างจงใจและเชื่องช้า… ตอนนี้ผมคิดว่าพวกเขาอยู่ในฐานะที่จะก้าวขึ้นไปอีกขั้น” ฮันต์บอกกับ Michelle Makori หัวหน้าผู้ประกาศข่าวและหัวหน้าบรรณาธิการของ Kitco News “มันเป็นการโจมตีอย่างรุนแรงต่อโลกดอลลาร์นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2”

เขาบอกว่า ขั้นตอนต่อไปสำหรับกลุ่มประเทศ BRICS คือการเปิดตัวสกุลเงินใหม่ที่มีทองคำหนุนหลัง การประชุมสุดยอดในเดือนสิงหาคมของ BRICS ในแอฟริกาใต้กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดเพื่อหาเงื่อนงำใดๆ ว่าสกุลเงินใหม่นี้จะมีลักษณะอย่างไร และจะเปิดตัวได้เร็วแค่ไหน

ฮันต์ กล่าวว่า การประกาศและการเปิดตัวของเงินสกุลร่วมนั้นอาจอยู่ใกล้แค่เอื้อม “ในช่วงกลางทศวรรษที่ 2020 หรืออีกไม่กี่ปีข้างหน้า เงินบริกส์สามารถแลกเป็นทองคำทองคำได้” เขากล่าว “ผมคิดว่าในที่สุดเราจะได้เห็น (การกลับสู่ระบบมาตรฐานทองคำเต็มรูปแบบ) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นก่อนปี 2030 โดยประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของ BRICS+”


ขณะนี้มีรายงานว่ากว่า 41 ประเทศที่ต้องการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตร BRICS ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อาร์เจนตินา อียิปต์ อิหร่าน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไทย และเวเนซุเอลา

เมื่อปลายเดือนมิถุนายน เอธิโอเปียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในแอฟริกาได้ขอเข้าร่วมกลุ่มเหมือนกัน

แนวโน้มการลดการใช้เงินดอลลาร์ (de-dollarization) กำลังเกิดขึ้นเช่นกัน โดยฮันต์เตือนว่าการค้าพลังงานกำลังเปลี่ยนจากการใช้เงินดอลลาร์ และผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ก็มีความสำคัญอย่างลึกซึ้ง

“ตลาดพลังงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์อีกต่อไป ทำไมธนาคารกลางควรถือดอลลาร์ ประเทศใดก็ตามที่เป็นส่วนหนึ่งของ BRICS ไม่ต้องการสิ่งนั้น” ฮันต์ กล่าว “ธนาคารกลางอื่นๆ จะมองไปรอบๆ แล้วพูดว่า ‘เราควรถือเงินสำรองเป็นดอลลาร์เท่าไร’ เปอร์เซ็นต์มันจะไม่เท่ากัน”

เมื่อดูภาพรวมของนโยบายอินเดียแล้ว จะเห็นว่าอินเดียพยายามดำเนินนโยบายที่จะเอาใจสหรัฐที่ต้องการโดดเดี่ยวทั้งรัสเซียและจีนในเวลานี้ ในขณะเดียวกันอินเดียต้องการได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นสมาชิกของ BRICS ต้องจับตาดูว่ารัสเซียและจีนจะร่วมมือกันจัดการกับอินเดียอย่างไร เพราะว่าเวลานี้ไม่ใช่เวลามาทะเลาะเบาะแว้งกัน ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากอินเดียต้องการเหยียบเรือสองแคมอาจจะต้องจ่ายด้วยราคาแพง


กำลังโหลดความคิดเห็น