xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ‘ปูติน’ ร่วมประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ตอกย้ำรัสเซียยังมีเสถียรภาพ หลัง ‘วากเนอร์’ ก่อกบฏ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization - SCO) ซึ่งจัดผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันอังคาร (4 ก.ค.) นับเป็นการปรากฏตัวในเวทีประชุมนานาชาติครั้งแรกหลังเกิดกรณีที่กองกำลังทหารรับจ้างวากเนอร์ก่อกบฏทางอาวุธเมื่อปลายเดือนที่แล้ว และยังถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้บรรดาชาติพันธมิตรว่ารัสเซียยังคงเป็นปึกแผ่นมั่นคง และพร้อมที่จะยืนหยัดต่อต้านแรงกดดันจากตะวันตกทุกรูปแบบ

SCO เป็นกลุ่มความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงที่ก่อตั้งขึ้นโดยจีนและรัสเซียเมื่อปี 2001 และมีชาติสมาชิกอื่นๆ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน ปัจจุบันถือเป็นองค์การภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดตามภูมิศาสตร์และประชากร มีอาณาเขตครอบคลุมภูมิภาคยูเรเชียประมาณ 60% มีประชากรรวมกันคิดเป็น 40% ของโลก และมีมูลค่า GDP รวมกันเกือบ 1 ใน 4 ของโลก

การประชุมในครั้งนี้ยังเป็นโอกาสในการขยายกลุ่มความร่วมมือ SCO ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก โดยอิหร่านได้กลายเป็นสมาชิกน้องใหม่ล่าสุดประเทศที่ 9 ของ SCO อย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคาร (4) หลังจากที่ประธานาธิบดี เอบราฮิม ไรซี ตัดสินใจนำประเทศเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือนี้ ขณะที่เบลารุสก็ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจซึ่งจะนำไปสู่การได้รับสมาชิกภาพภายในปี 2024

มอสโกและปักกิ่งคาดหวังให้ SCO เป็นกลุ่มความร่วมมือทางเลือก นอกเหนือไปจากกลุ่มซึ่งนำโดยชาติตะวันตก และถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยต้านทานความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะเป็นผู้ร่างกฎระเบียบโลก (world order)

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมได้กล่าวในพิธีเปิดว่า “SCO ถือเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาในภูมิภาคยูเรเชียทั้งหมด”

“เราไม่ได้มองว่า SCO เป็นชุมชนขยาย หากแต่เป็นครอบครัวขยาย (extended family) ความมั่นคง การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเชื่อมต่อ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว การเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ล้วนแต่เป็นเสาหลักแห่งวิสัยทัศน์ของ SCO”

การก่อกบฏของกลุ่มวากเนอร์ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามครั้งร้ายแรงที่สุดต่อฐานอำนาจของวลาดิมีร์ ปูติน ในรอบกว่า 2 ทศวรรษ และก่อให้เกิดคำถามทั้งในหมู่มิตรและศัตรูว่าผู้นำรัสเซียรายนี้ยังคงกุมอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่หรือไม่ หลังจากที่ก่อสงครามรุกรานยูเครนเมื่อกว่า 1 ปีที่แล้ว

ปูติน ดูเหมือนจะพยายามใช้โอกาสในการประชุม SCO ไขคำตอบให้แก่ข้อข้องใจเหล่านี้

“ความเป็นปึกแผ่นและความรับผิดชอบอันสูงยิ่งต่อปิตุภูมิได้ถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจน เมื่อบุคคลในแวดวงการเมืองและสังคมรัสเซียทั้งหมดต่างผนึกกำลังกันต่อต้านความพยายามก่อกบฏทางอาวุธครั้งนี้” ปูติน แถลงต่อที่ประชุมผ่านระบบวิดีโอลิงก์

“ผมขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณเพื่อนร่วมงานในกลุ่มประเทศ SCO ที่ได้ให้การสนับสนุนต่อมาตรการตอบสนองของรัฐบาลรัสเซีย”

ผู้นำหมีขาวยังประกาศกร้าวว่ารัสเซียพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้กับ “มาตรการคว่ำบาตรและการยั่วยุ” ของชาติตะวันตก และจะยังคง “เดินหน้าพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง”

ด้านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เรียกร้องให้บรรดาผู้นำ SCO กระชับความร่วมมือเพื่อต่อต้านอิทธิพลของมหาอำนาจภายนอกภูมิภาค ซึ่งเป็นสำนวนภาษาที่ปักกิ่งมักจะใช้เมื่อต้องการสื่อถึงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

“เราต้องเฝ้าระวังความพยายามจากภายนอกที่จะปลุกปั่นให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ และก่อการเผชิญหน้าแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในภูมิภาคของเรา และจะต้องต่อต้านความพยายามจากประเทศใดก็ตามที่หวังแทรกแซงกิจการภายใน หรือยั่วยุให้เกิดการปฏิวัติสี ” ประธานาธิบดี สี ระบุ

ผู้นำจีนยังขอให้รัฐสมาชิก SCO ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวของภูมิภาคเป็นที่ตั้ง

ทั้ง สี และ ปูติน เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนไปสู่ระบบการค้าขายด้วยสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ และหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่มีขึ้นหลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน


คำแถลงร่วมภายหลังการประชุมระบุว่า รัฐสมาชิก SCO คัดค้านการใช้แนวทางเผชิญหน้าแก้ไขปัญหาและประเด็นความมั่นคงต่างๆ และวิจารณ์ผลกระทบจาก “การแผ่ขยายระบบป้องกันขีปนาวุธฝ่ายเดียวแบบไร้การควบคุม โดยบางประเทศหรือกลุ่มประเทศ” โดยไม่ได้เอ่ยตรงๆ ว่าหมายถึงองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และการที่ชาติตะวันตกสนับสนุนอาวุธให้ยูเครน

ผู้นำ SCO ยังแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานหลังจากที่กลุ่มตอลิบานกลับเข้าปกครองประเทศอีกครั้งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้อง “สร้างรัฐบาลที่หลอมรวมทุกฝ่าย และเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากทุกเชื้อชาติ ศาสนา และกลุ่มการเมืองในสังคมอัฟกันได้เข้าไปมีส่วนร่วม”

ทุกชาติยกเว้นอินเดียยังประกาศสนับสนุนโครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative - BRI) ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งมีเป้าหมายในการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมเก่าเชื่อมจีนเข้ากับเอเชีย ยุโรป และภูมิภาคอื่นๆ ด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

- บริบทอันซับซ้อน

การประชุมซัมมิต SCO ครั้งนี้มีขึ้นเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังจากที่ โมดี ได้เดินทางไปเป็นแขกของประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ซึ่งหวังจะดึงนิวเดลีมาเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดุเดือดกับจีน

โมดี และ ไบเดน ได้มีถ้อยแถลงร่วมกันว่าอินเดียและสหรัฐฯ คือ “หนึ่งในหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกันที่สุดในโลก”

สงครามในยูเครนส่งผลกระทบไม่น้อยต่อบรรยากาศในการประชุม SCO โดยเฉพาะต่อจีนและอินเดียซึ่งถูกชาติตะวันตกกดดันให้ลดความร่วมมือกับมอสโก หรือแม้กระทั่งช่วยใช้อิทธิพลบีบ ปูติน ให้ยอมยุติสงคราม

คำแถลงร่วมระหว่าง โมดี และ ไบเดน เมื่อเดือนที่แล้วระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน และยังอ้างถึง “พฤติกรรมข่มขู่และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น” ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าต้องการจะสื่อถึงจีนและรัสเซีย

ในการประชุมซัมมิต SCO เมื่อปีที่แล้ว โมดี ได้กล่าวเตือน ปูติน ตรงๆ ว่า “ยุคนี้ไม่ใช่ยุคสมัยของการทำสงคราม” นอกจากนี้ยังกล่าวย้ำเรื่อง “การเจรจาและการทูต” ระหว่างที่คุยโทรศัพท์กับผู้นำรัสเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตามข้อมูลจากรัฐบาลเดลี

ในส่วนของอินเดียเองมีเรื่องกินแหนงแคลงใจกับจีนในประเด็นข้อพิพาทชายแดนแถบเทือกเขาหิมาลัย ขณะที่ปักกิ่งก็ระแวงสงสัยในวัตถุประสงค์ของกลุ่ม Quad ซึ่งเป็นกลุ่มความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิกในสหรัฐฯ เป็นโต้โผใหญ่ และมีอินเดียร่วมเป็นสมาชิกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น