xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ‘บลิงเคน’ เยือนปักกิ่งพบ ‘สี จิ้นผิง’ แต่ยังไร้วี่แววผ่าทางตัน ‘จีน-สหรัฐฯ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ให้การต้อนรับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.
การเดินทางเยือนจีนของ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ทั่วโลกเฝ้ารอคอยกันมาหลายเดือน ปิดฉากลงไปแล้วในสัปดาห์นี้ โดยทั้งวอชิงตันและปักกิ่งต่างแสดงความคาดหวังว่านี่จะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยลดความบาดหมางและทำให้ความสัมพันธ์ของสองชาติมหาอำนาจกลับคืนสู่แนวทางปกติที่ควรจะเป็น

ภารกิจของบลิงเคน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนแรกที่ไปเยือนจีนในรอบ 5 ปี ถือเป็นก้าวย่างเชิงบวกที่ช่วยให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ กลับมามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น หลังเกิดวิกฤตการทูตจากกรณี “บอลลูนสอดแนมจีน” ลอยผ่านน่านฟ้าสหรัฐฯ เมื่อเดือน ก.พ. ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายแทบมองหน้ากันไม่ติด ขณะที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ก็ออกมายกย่องชมเชยทริปเดินทางที่เฝ้ารอคอยกันมานานแล้วนี้ว่าเป็นสัญญาณของความก้าวหน้า

กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าภารกิจเยือนจีน 2 วันของบลิงเคน ยังไม่บรรลุผลที่เป็นชิ้นเป็นอันมากนัก และภายใต้สัญญาณเชิงบวกต่างๆ ยังคงมี “ช่องว่างอันตราย” ที่ทั้งสองฝ่ายยากจะหาจุดบรรจบกันได้ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาพื้นฐานอย่างการแข่งขันทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ การเคารพความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และแนวทางลดการเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจ

ทั้งสองฝ่ายต่างออกตัวกันแต่ต้นว่าคงจะไม่สามารถผ่าทางตันได้ทั้งหมด โดย บลิงเคน เองยอมรับว่าเป้าหมายสำคัญของการไปเยือนจีนคราวนี้ก็เพื่อ “รื้อฟื้นการพูดคุย” ที่หยุดชะงักไปนาน

“เรามีความคืบหน้าและกำลังก้าวไปข้างหน้า” บลิงเคน ให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ปักกิ่ง พร้อมกับเสริมว่า “คงไม่มีเรื่องไหนที่สามารถหาทางออกได้ด้วยการเยือนเพียงครั้งเดียว”

บลิงเคน ใช้เวลาในการหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนโดยรวมๆ ประมาณ 11 ชั่วโมงตลอดระยะเวลา 2 วัน โดยเริ่มจากการเข้าพบ ฉิน กัง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนนาน 7 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อคืนวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.)

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ย้ำเตือน ฉิน เกี่ยวกับความจำเป็นที่อเมริกาและจีนจะต้องลดโอกาสในการเข้าใจผิดและการคำนวณที่ผิดพลาด ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเพิ่มเติมว่าทั้งสองฝ่ายต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันมีเสถียรภาพ แม้จะยังคงมีความเห็นต่างกันอย่างมาก และยังตกลงว่า ฉิน จะเดินทางเยือนวอชิงตันเพื่อสานต่อการหารือนี้ แต่ยังไม่ได้ประกาศวันเวลาที่แน่นอน

ต่อมา ในเช้าวันจันทร์ (19) บลิงเคน ได้เข้าพบ หวัง อี้ สมาชิกกรมการเมืองและผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ณ เรือนรับรองเตี้ยวอี๋ว์ไถ โดย หวัง นั้นระบุว่าความสัมพันธ์จีน-อเมริกาอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ สืบเนื่องจากสหรัฐฯ ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับจีน และสหรัฐฯ นั้นจำเป็นต้องเลือกระหว่างการพูดคุยหรือการเผชิญหน้า และการร่วมมือหรือความขัดแย้งกัน

หวัง ยังเตือนว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างมีความรับผิดชอบต่อประชาชน ประวัติศาสตร์ และโลก ในการที่จะต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามให้กลับมามีเสถียรภาพ ตลอดจนร่วมมือกันหาหนทางที่ถูกต้องเพื่อให้สองประเทศอยู่ร่วมกันได้ ขณะเดียวกัน ก็ระบุชัดเจนว่าจีนไม่มีพื้นที่สำหรับการประนีประนอมหรืออ่อนข้อในประเด็นไต้หวัน

จีนได้จัดการซ้อมรบครั้งใหญ่รอบเกาะไต้หวัน 2 ครั้งแล้วนับตั้งแต่เดือน ส.ค. ปี 2022 หลังจากที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้นเดินทางไปเยือนไทเป


บลิงเคน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในเวลาต่อมาว่า สหรัฐฯ “เป็นกังวล” ต่อท่าทียั่วยุที่จีนกระทำต่อไต้หวัน แต่ยืนยันว่าอเมริกายังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่อไต้หวันแต่อย่างใด และยังคงคัดค้านหากไทเปจะประกาศเอกราชฝ่ายเดียว

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ วิตกกันมานานหลายปีแล้วว่าจีนอาจพยายามใช้กำลังทหารเข้ายึดเกาะไต้หวัน ดังนั้น จึงสนับสนุนให้วอชิงตันขายอาวุธเสริมเขี้ยวเล็บแก่ไทเปเพื่อคงไว้ถึงสถานะปัจจุบัน (status quo) ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย

แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า การหารือระหว่าง บลิงเคน กับ หวัง ที่กินเวลากว่า 3 ชั่วโมงเป็นไปอย่างจริงใจและสร้างสรรค์ โดย บลิงเคน ย้ำว่าการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนควรดำเนินไปอย่างมีความรับผิดชอบผ่านช่องทางสื่อสารที่เปิดกว้าง เพื่อให้แน่ใจว่าการแข่งขันจะไม่ลุกลามบานปลายเป็นความขัดแย้ง

ในช่วงบ่ายวันจันทร์ (19) บลิงเคน ได้เข้าพบประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งถือเป็นผู้นำทรงอิทธิพลที่สุดของจีนในรอบหลายทศวรรษ ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง โดยผู้นำจีนระบุว่าจีนมีจุดยืนที่ชัดเจน และเห็นพ้องที่จะสานต่อความเข้าใจร่วมระหว่างตนกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งได้ตั้งโต๊ะเจรจาซัมมิตกันที่เกาะบาหลี ระหว่างการประชุม G20 เมื่อปลายปีที่แล้ว

สี ยังเอ่ยถึงมุมมองของเขาเองว่า “การแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับเทรนด์ของยุคสมัย”

“จีนเคารพผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และไม่มีเจตนาที่จะท้าทายหรือเข้าไปแทนที่สหรัฐอเมริกา แต่ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็จำเป็นจะต้องเคารพจีน และอย่าได้ทำลายสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของจีน” สี กล่าว

บอนนี เกลเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของกองทุนเยอรมันมาร์แชลในสหรัฐฯ ชี้ว่า จุดยืนของ สี ที่ระบุว่า “สหรัฐฯ และจีนไม่ใช่คู่แข่ง” นับว่าแตกต่างสิ้นเชิงจากท่าทีของวอชิงตันซึ่งประกาศชัดเจนว่าสหรัฐฯ กำลังเดินเข้าสู่สนามแข่งขันที่ดุเดือดกับปักกิ่ง โดยตัวเธอเองนั้นคิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายจำเป็นต้องยอมรับว่ามีการแข่งขันกันเสียก่อน จึงจะสามารถสร้างเสถียรภาพในความสัมพันธ์ระหว่างกันได้

สหรัฐฯ ตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จนมาถึงประธานาธิบดี โจ ไบเดน ล้วนแต่ประกาศว่าจีน “ถือเป็นความท้าทายร้ายแรงในระยะยาวต่อระเบียบสากล” และด้วยเหตุนี้สหรัฐฯ จึงจำเป็นจะต้องใช้มาตรการตอบโต้สิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็นความพยายามของปักกิ่งที่จะล้มล้างระเบียบโลกที่ให้คุณค่ากับหลักสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตย

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จัดการประชุมหารือร่วมกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับบริษัทจีนหลายราย รวมถึงกดดันชาติพันธมิตรให้จำกัดการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่แดนมังกร ขณะเดียวกัน ก็พยายามโน้มน้าวประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งหลายให้ร่วมแรงร่วมใจต่อต้าน “พฤติกรรมข่มขู่ทางเศรษฐกิจ” ของจีน ขจัดความเสี่ยง (de-risk) ในห่วงโซ่อุปทานด้วยการลดพึ่งพาจีน รวมถึงลงนามข้อตกลงการค้ากับไต้หวัน เกาะประชาธิปไตยที่ปักกิ่งยืนยันว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน

ทางฝ่ายจีนเรียกร้องว่าโลกไม่ควรจะถูกผูกขาดโดยมหาอำนาจเพียงรายเดียว แต่ควรมีชาติมหาอำนาจหลายๆ ประเทศที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การกดขี่ทางการเมือง หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ตาม

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ บลิงเคน ยอมรับว่ายังทำไม่สำเร็จในการเยือนจีนครั้งนี้ก็คือการเจรจาเพื่อขอรื้อฟื้นการสื่อสารระหว่างฝ่ายทหารของทั้ง 2 ประเทศ หลังจากที่ปักกิ่งได้ตัดขาดการสื่อสารกับผู้นำทหารของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ที่ เพโลซี ไปเยือนไต้หวันเมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว

“การปฏิสัมพันธ์กันโดยตรงและการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะบริหารจัดการความแตกต่างอย่างรับผิดชอบ เพื่อให้การแข่งขันไม่กลายเป็นความขัดแย้ง” บลิงเคน ให้สัมภาษณ์กับสื่อ

“ผมได้ยินเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนพูดแบบเดียวกัน เราต่างเห็นพ้องว่าจำเป็นจะต้องทำให้ความสัมพันธ์กลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง”

สหรัฐฯ และจีนเกิดการเผชิญหน้าทางทหารที่ค่อนข้างอันตรายหลายครั้งในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เรือรบ 2 ฝ่ายเกือบจะเฉี่ยวชนกันในช่องแคบไต้หวัน รวมถึงการที่เครื่องบินขับไล่จีนจงใจบินโฉบเข้าไปใกล้เครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ เหนือทะเลจีนใต้


หยาง เทา (Yang Tao) ผู้อำนวยการใหญ่กรมกิจการอเมริกาเหนือและโอเชียเนียในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศจีน ให้สัมภาษณ์เมื่อเย็นวันจันทร์ (19) ว่า สหรัฐฯ “รู้ดีว่าเพราะอะไร” ผู้นำทหารจีนจึงไม่ยอมสื่อสารด้วย และบอกให้อเมริกา “ขจัดอุปสรรคดังกล่าว” ออกไปเสียก่อน

อุปสรรคที่ หยาง ว่านั้นน่าจะหมายถึงการที่ พล.อ.หลี่ ช่างฝู รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนใหม่ของจีน ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำคว่ำบาตรมาตั้งแต่ปี 2018 เนื่องจากมีส่วนในการจัดซื้ออาวุธจากรัสเซีย

เซิน ติงลี่ (Shen Dingli) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศจีนในนครเซี่ยงไฮ้ บอกกับ CNN ว่า จีนมองประเด็นนี้เป็นเรื่องของการ “ให้เกียรติกัน”

“จีนรับไม่ได้ที่สหรัฐฯ มาเจรจาในลักษณะถือไพ่เหนือกว่า ในขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมของจีนยังถูกพวกเขาคว่ำบาตรอยู่ เราไม่ต้องการแหงนหน้ามองสหรัฐฯ อย่างน้อยๆ ก็ควรจะมองกันในระดับสายตา” เซิน อธิบาย

สหรัฐฯ และจีนรับปากจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาท้าทายระดับโลก เช่น ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการลักลอบขนยาเสพติด เป็นต้น ทว่าขอบเขตความร่วมมือที่ทั้ง 2 ฝ่ายแถลงภายหลังการประชุมในสัปดาห์นี้ต้องถือว่าแคบลงไปมากเมื่อเทียบกับการประชุมซัมมิต สี-ไบเดน ที่เกาะบาหลี ซึ่งบรรยากาศค่อนข้างอบอุ่นเป็นมิตร และมีการหารือในประเด็นที่หลากหลายมากกว่า

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เข้าพบหารือกับ หวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ณ เรือนรับรองเตี้ยวอี๋ว์ไถ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.

ฉิน กัง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน ร่วมหารือกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ณ เรือนรับรองเตี้ยวอี๋ว์ไถ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.


กำลังโหลดความคิดเห็น