xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ หลี่เฉียงของจีนเยือนเยอรมนี ทำเบอร์ลินว้าวุ่น ต้องรักษาสัมพันธ์ปักกิ่งที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ขณะถูกจี7 กดดันให้ ‘ลดความเสี่ยง’ คบหาแดนมังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ เยอรมนี โอลาฟ ชอลซ์ เปิดทำเนียบต้อนรับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนค่ำวันจันทร์ (19 มิ.ย.) ในภารกิจสุดท้าทายที่ผู้นำแดนดอยช์ต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนที่เป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุด กับการปฏิบัติตามคำประกาศของจี7 ในการลดความเสี่ยงจากปักกิ่ง

ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี จัดเลี้ยงต้อนรับหลี่ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนเปิดประชุมทวิภาคีรอบที่ 7 ในการหารือที่จัดขึ้นทุก 2 ปี ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่มีการพูดคุยแบบพบหน้ากันจริงๆ นับจากวิกฤตโควิด

การประชุมทวิภาคีนี้กำหนดะจัดขึ้นในวันอังคาร (20) ก่อนที่ หลี่ และรัฐมนตรีการค้าและปฏิรูปของจีนจะร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเยอรมนี-จีน

การที่หลี่เลือกเยอรมนีเป็นจุดหมายปลายทางการเยือนแห่งแรกในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สะท้อนความสัมพันธ์พิเศษระหว่างประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปและเอเชียคู่นี้ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของจีนและความต้องการรถยนต์และเครื่องจักรกลเยอรมนีช่วยส่งเสริมการเติบโตของแดนดอยช์ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่สุดของเยอรมนีในปี 2013 และยังเป็นตลาดหลักสำหรับบริษัทชั้นนำของเยอรมนี ที่รวมถึงโฟล์คสวาเกน และบีเอ็มดับเบิลยู

หวัง อี้เหวย ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการศึกษายุโรป มหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีน ชี้ว่า การหารือระหว่างรัฐบาลจีนกับเยอรมนีแตกต่างอย่างมากกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับมหาอำนาจตะวันตกชาติอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ปักกิ่ง-เบอร์ลินกำลังอยู่ภายใต้ความกดดันท่ามกลางความกังวลในโลกตะวันตกเกี่ยวกับการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนขยายการควบคุมสังคมและเศรษฐกิจ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และเป้าหมายด้านดินแดนของปักกิ่ง

เมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง ชอลซ์ และผู้นำอื่นในกลุ่มจี7 ได้ออกคำแถลงร่วมระบุว่า แม้ไม่หย่าร้างแยกขาด (decouple) จากจีน แต่พวกเขาก็จะเดินหนทางลดความเสี่ยง (de-risk) จากจีน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนิยามความหมายของ “การลดความเสี่ยง” โดยที่พวกสายเหยี่ยวต้องการลดการทำธุรกิจโดยทั่วไปกับจีน ขณะที่สายพิราบมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจง เช่น การต้องพึ่งพาจีนในด้านแร่ธาตุสำคัญ

ขณะเดียวกัน ภายในรัฐบาลผสมของชอลซ์ ก็กำลังเกิดการแตกแยก โดยที่พรรคกรีนและฟรี เดโมแครตส์ มีโน้มเอียงไปในทางเป็นสายเหยี่ยวมากขึ้น ทว่าพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ ของชอลซ์ ยังคงแนวทางแบบกลาง-ซ้าย

นักวิเคราะห์ในเบอร์ลินระบุว่า คณะผู้แทนจีนน่าจะหาทางล็อบบี้รัฐบาลเยอรมนีทั้งโดยตรง และโดยอ้อมนั่นคือผ่านพวกธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อให้ไปกดดันสหภาพยุโรป (อียู) อย่าได้กำหนดกฎระเบียบเข้มงวดเกินไปสำหรับธุรกิจที่ทำมาหากินอยู่ในจีน

แอนดรูว์ สมอลล์ นักวิชาการอาวุโสของโครงการเอเชียของกองทุนเยอรมัน มาร์แชลล์ มองว่า จีนรู้ดีว่าบริษัทเยอรมนีสามารถใช้ช่องทางโดยตรงกดดันรัฐบาลได้

มิกโก ฮูโอทาริ จากสถาบันเมอร์เคเตอร์เพื่อการศึกษาจีน (เมอริกส์) ในเบอร์ลิน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการเปิดฉากรุกอย่างฉับพลันสำหรับปักกิ่ง เพื่อมุ่งสะท้อนว่าจีนยังคงมีพันธมิตรสำคัญอยู่ในโลกตะวันตก ขณะที่เยอรมนีเองต้องการติดต่อใกล้ชิดกับจีนด้วยเหตุผลเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืนและเพื่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มั่นคง รวมทั้งไม่ต้องการทวีความตึงเครียดด้านการเมือง

การหารือนี้ยังมีขึ้นหลังจากแอนโทนี บลิงเคน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางเยือนจีนในรอบ 5 ปี ซึ่งตอกย้ำความสำคัญในการคงช่องทางการสื่อสารเพื่อลดความเสี่ยงในการคำนวณผิดพลาด

นอกจากนั้น ยังเกิดขึ้นขณะที่กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ซึ่งเจ้ากระทรวงคือหัวหน้าของพรรคกรีน เพิ่งเสร็จสิ้นการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับแนวทางวิธีการในการติดต่อกับจีน โดยมุ่งสะท้อนจุดยืนในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับแรกของประเทศที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมุ่งที่จะเข้มงวดขึงขังกับจีนมากขึ้น

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวระบุว่า จีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของโลกมากขึ้น อวดอ้างอำนาจสูงสุดในเอเชียอย่างก้าวร้าว และพยายามใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง

รัฐบาลเยอรมนีกำลังเรียกร้องให้ภาคเอกชนขยับขยายธุรกิจออกจากจีน แต่บรรดาประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) บริษัทต่างๆ เตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการตัดขาดหรือลดความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ขณะที่เศรษฐกิจเยอรมนีเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ คณะผู้แทนจีนนำโดยนายกฯ หลี่ มีกำหนดพบหารือกับซีอีโอเหล่านี้บางคนในวันจันทร์ ก่อนเดินทางไปประชุมกับพวกเจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาค และผู้บริหารธุรกิจที่มิวนิกในวันอังคาร (18 มิ.ย.) และบินต่อไปปารีสเพื่อเยือนอย่างเป็นทางการและร่วมประชุมทางการเงินในวันที่ 22 และ 23

(ที่มา : รอยเตอร์/เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น