xs
xsm
sm
md
lg

คาดความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนยังย่ำแย่ต่อไปในระยะยาว แม้การเยือนปักกิ่งของรมว.ต่างปท.สหรัฐฯทำบรรยากาศดีขึ้นบ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน แถลงข่าวที่ศูนย์อเมริกันปักกิ่ง ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำจีน เมื่อวันจันทร์ (19 มิ.ย.) อันเป็นวันสุดท้ายของการเยือนปักกิ่งของเขา
จากการเยือนปักกิ่งช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาของรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน แอนโทนี บลิงเคน ดูเหมือนสหรัฐฯกับจีนสามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับมาตรการป้องกันไม่ให้ความเป็นปรปักษ์กันที่ดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ของพวกเขาเกิดบานปลายขยายตัวจนคุมไม่อยู่ อย่างไรก็ดี ทริปเดินทางครั้งนี้ยังคงเพียงแค่บรรลุคำมั่นสัญญากว้างๆ เท่านั้น แต่ไม่มีการผ่าทางตันทั้งเรื่องการจัดพูดคุยกันทางการทหาร และการคลี่คลายประเด็นปัญหาฮอตๆ โดยเฉพาะเรื่องไต้หวัน

ทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่พบหารือกับบลิงเคนเมื่อวันจันทร์ (19 มิ.ย.) ในตอนท้ายของการเจรจารวมทั้งหมด 11 ชั่วโมงภายในเวลา 2 วันที่กรุงปักกิ่งของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯผู้นี้ ตลอดจนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ต่างยกย่องชมเชยทริปเดินทางที่เฝ้ารอคอยกันมานานแล้วนี้ ว่าเป็นสัญญาณของความก้าวหน้าภายหลังระยะเวลาหลายเดือนของความตึงเครียดที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

บลิงเคนเองบอกกับพวกนักข่าวในปักกิ่งว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนเลวร้ายจนถึงจุดที่ไร้เสถียรภาพ และเวลานี้ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่าจำเป็นต้องทำงานเพื่อทำให้มันกลับมีเสถียรภาพขึ้นมา

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯนั้นพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะต้องขยายการติดต่อสื่อสารกัน และจัดตั้ง “ราวกันตก” ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง เพื่อป้องกันไม่ให้ความเข้าใจผิดขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้งกัน

ทว่า บลิงเคนยอมรับว่า อเมริกาไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญที่สุดในเรื่องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดคาดคำนวณอย่างผิดพลาดขึ้นมา อันได้แก่การฟื้นการหารือระหว่างฝ่ายทหารของสองประเทศ นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายยังคงมีความเห็นแตกแยกกันในประเด็นปัญหาไต้หวัน

บลิงเคนยืนยันว่า อเมริกาต้องการคงสถานะเดิมเอาไว้และเข้าบริหารจัดการประเด็นปัญหาไต้หวันอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมกันนั้นก็แสดงความกังวลเชิงกล่าวหาว่า จีน “ทำการยั่วยุ” ในเรื่องนี้

ทว่า หวัง อี้ นักการทูตระดับสูงสุดของจีน บอกกับบลิงเคนว่า ในเรื่องไต้หวันนั้น ปักกิ่งไม่มีวันยอมประนีประนอมหรือยอมอ่อนข้อให้โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ จีนได้จัดการซ้อมรบครั้งใหญ่รอบเกาะไต้หวันสองครั้งแล้วนับจากเดือนสิงหาคมปี 2022 ซึ่งก็รวมถึงหลังจากแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯในขณะนั้น ดึงดันเยือนไทเป

บอนนี เกรเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของกองทุนเยอรมัน มาร์แชลในอเมริกา ชี้ว่า ปักกิ่งเวลานี้ใช้ท่าทีระมัดระวังมากขึ้นในเมื่อไต้หวันกำลังจะจัดการเลือกตั้งในปีหน้า แต่การแสดงความคิดเห็นของบลิงเคนยังคงอยู่ในลักษณะพูดคล้ายๆ เดิมซ้ำๆ เท่านั้น

เกรเซอร์เสริมว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันโดยพื้นฐานที่ต้องการสำรวจความเป็นไปได้ในเรื่องการสร้างเสถียรภาพในความสัมพันธ์ กระนั้นยังไม่แน่ว่า เป้าหมายนี้จะประสบความสำเร็จ

เธอชี้ว่า ขณะที่อเมริกาพูดเรื่องการบริหารจัดการกับความเป็นปรปักษ์กันที่กำลังขยายตัวมากขึ้น แต่ สี กลับพูดอีกครั้งถึงการหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจใหญ่ๆ ตัวเธอเองนั้นคิดว่าจำเป็นต้องยอมรับว่ามีการแข่งขันกันเสียก่อน จึงจะสามารถสร้างเสถียรภาพในความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ดังนั้นจากการเยือนของบลิงเคนครั้งนี้ จึงสามารถมองเห็นได้ว่าช่องว่างระหว่างสองฝ่ายยังไม่ได้แคบลงมา และไม่ทราบว่าจะมีทางทำให้แคบลงมาหรือไม่

ทางด้าน หยุน ซุน ผู้อำนวยการโครงการจีนของสติมสัน เซ็นเตอร์ ในสหรัฐฯ ชี้ว่า อเมริกาต้องร่วมรับผิดชอบความล้มเหลวในการฟื้นการเจรจาทางทหาร ซึ่งมีแนวโน้มมากที่สุดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นวิกฤต เนื่องจากคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ปฏิเสธคำขอของจีนให้ยกเลิกการแซงก์ชันพลเอกหลี่ ช่างฝู รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ จากกรณีการซื้ออาวุธรัสเซียในอดีต

หยุนแจงว่า แม้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่า หลี่สามารถพบกับลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้โดยปราศจากปัญหาทางกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่า จีนจะไม่ถือสาเรื่องนี้ไปด้วย ทั้งนี้สำหรับตัวเธอมองว่า คำขอดังกล่าวของจีนไม่มีสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล

สำหรับ สือ อินหง อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ มหาวิทยาลัยจงกั๋วเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง มองว่าการเยือนของบลิงเคนได้ผลตรงตามความคาดหวัง และทั้งสองฝ่ายต่างเน้นย้ำในด้านบวก นอกจากนี้บรรยากาศยังดูเหมือนปูทางสู่การเยือนกรุงวอชิงตันของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งไบเดนจะให้การต้อนรับเหล่าผู้นำในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก)

อย่างไรก็ดี สือ มองว่าถึงแม้ทั้งสองฝ่ายมีการพูดจากันเรื่องการติดต่อสื่อสารเพิ่มมากขึ้นและมีความร่วมมือกันแม้ในกรอบแคบๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องบวก ทว่ายังคงมีความยากลำบากที่จะมีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่ หยุน ตั้งข้อสังเกตว่า การที่วอชิงตันยังคงออกมาตรการแซงก์ชันบริษัทจีน มากขึ้นเรื่อยๆ และเควิน แมคคาร์ธีย์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯคนปัจจุบัน แสดงท่าทีว่า ต้องการไปเยือนไต้หวัน เหล่านี้น่าจะทำให้ความพยายามฟื้นฟูปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นการชั่วคราวนี้ไปไม่รอด และความสัมพันธ์สองประเทศยังคงเสี่ยงสูงเช่นเดิมภายหลังการเยือนของบลิงเคน

(ที่มา: เอเอฟพี, เอเจนซีส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น