xs
xsm
sm
md
lg

แผนร้ายมะริกัน!! ปูตินเตือนสหรัฐฯ เดินเกมรุกในเอเชีย-แปซิฟิก รวม ‘NATO’ กับ ‘AUKUS’ ขณะโสมแดงระบุโลกอยู่ห่าง ‘สงครามนุก’ แค่ก้าวเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ขณะกล่าวปราศรัยผ่านวิดีโอลิงก์ ในงานประชุมความมั่นคงระหว่างประเทศ ที่กรุงมอสโก เมื่อวันอังคาร (15 ส.ค.)
ปูตินคาดการณ์ในวันอังคาร (15 ส.ค.) สุดท้าย “นาโต” อาจรวมเข้ากับกลุ่มความร่วมมือออสเตรเลีย-สหราชอาณาจักร-สหรัฐฯ หรือ “ออคัส” ขณะที่วอชิงตันพยายามปรับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง และชะลอแนวโน้มไปสู่ “โลกหลายขั้ว” ด้วยการบ่อนทำลายเสถียรภาพและปลุกเร้าให้เกิดความตึงเครียดอย่างกว้างขวาง ทางด้านรัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีเหนือสำทับว่า สหรัฐฯ ต้องการเปลี่ยนระบอบปกครองของโสมแดง และเพิ่มการปรากฏตัวทางทหารในคาบสมุทรเกาหลี ทำให้โลกเวลานี้อยู่ห่างจาก “สงครามนิวเคลียร์” เพียงแค่ก้าวเดียวเท่านั้น

ในงานประชุมความมั่นคงระหว่างประเทศครั้งที่ 21 ที่จัดขึ้นที่มอสโกเมื่อวันอังคาร (15) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวปราศรัยโดยบอกว่า สหรัฐฯ ต้องการปรับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก และสิ่งที่วอชิงตันเรียกว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” นั้น โดยสาระสำคัญแล้วมุ่งหมายที่จะก่อตั้งสมาคมทางการทหาร-การเมือง ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้ควบคุมขึ้นมา

ประมุขทำเนียบเครมลินกล่าวต่อไปว่า รัสเซียไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดสิ่งต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การรวมกองกำลังขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เข้ากับโครงสร้างของ “ออคัส” ซึ่งเป็นกลุ่มข้อตกลงด้านความมั่นคงที่อเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลียเห็นพ้องกันเมื่อปลายปี 2021

ปูตินกล่าวถึงความเป็นไปได้ของการรวมกันนี้ ขณะเตือนเกี่ยวกับ “ฝ่ายตะวันตกที่เป็นลัทธิอาณานิคมใหม่” ที่นำโดยวอชิงตัน ซึ่งต้องการชะลอแนวโน้มของการไปสู่โลกที่มีหลายขั้วอำนาจ ด้วยการบ่อนทำลายเสถียรภาพและปลุกเร้าให้เกิดความตึงเครียดอย่างกว้างขวางในภูมิภาคต่างๆ

ผู้นำรัสเซียตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศส่วนใหญ่นั้นพร้อมปกป้องอธิปไตย ผลประโยชน์ของชาติ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของตนเอง ขณะที่พวกศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเมืองใหม่ๆ ก็มีความเข้มแข็งขึ้น ซึ่งแนวโน้มนี้จะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับพัฒนาการของโลกที่ก้าวหน้าและมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ปูตินเตือนว่า ท่ามกลางพัฒนาการเหล่านี้ ความขัดแย้งเก่าๆ จะถูกขยายผล และยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งใหม่ๆ ทั่วภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการเหล่านี้มีเป้าหมายชัดเจนในการแสวงหาผลกำไรจากโศกนาฏกรรมของมนุษยชาติ เสี้ยมให้ผู้คนแตกแยกกัน และทำให้ประเทศต่างๆ กลายเป็นบริวารที่ว่านอนสอนง่ายภายในระบบอาณานิคมใหม่ ตลอดจนแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศเหล่านั้นอย่างเลือดเย็น

ปูตินสำทับว่า ชาติสมาชิกนาโตจะยังคงสร้างและปรับปรุงสมรรถนะในการโจมตีของตนให้ทันสมัย และแม้กระทั่งพยายามขยายการเผชิญหน้าทางทหารออกไปในอวกาศ และไปสู้ปริมณฑลสารสนเทศ โดยใช้ทั้งวิธีการทางทหารและวิธีการอื่นๆ

ประธานาธิบดีรัสเซียตั้งข้อสังเกตว่า แม้ความท้าทายด้านความมั่นคงในแต่ละจุดร้อนที่สร้างความตึงเครียดทั่วโลกนั้นอาจจะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง แต่จริงๆ แล้วจุดร้อนทั้งหมดเกิดจากการผจญภัยทางภูมิรัฐศาสตร์ของฝ่ายตะวันตกลัทธิอาณานิคมใหม่ที่เห็นแก่ตัว

ปูตินบอกอีกว่า รัสเซียยังคงมุ่งมั่นที่จะลดการเผชิญหน้าในระดับโลกและระดับภูมิภาค และยังคงพยายามพัฒนาระเบียบโลกแบบมีหลายขั้วอำนาจ ที่ยึดโยงอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญของบรรทัดฐานและหลักการต่างๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนอิงอยู่กับการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์และความไว้วางใจกัน

ในงานประชุมเดียวกันนี้ คัง ซุนนัม รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีเหนือ ได้กล่าวเมื่อวันอังคาร (15) เช่นกัน เตือนว่าโลกอยู่ห่างเพียงแค่ก้าวเดียวจากการเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี สืบเนื่องจากวอชิงตันต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในเกาหลีเหนือ และเพิ่มการปรากฏตัวทางทหารในภูมิภาคนี้ โดยแค่ปีนี้ปีเดียว สหรัฐฯ ได้ส่งอาวุธทางยุทธวิธีจำนวนมากเข้ามา ในนั้นรวมถึงเรือดำน้ำศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ กองเรือบรรทุกเครื่องบิน และเครื่องบินทิ้งระเบิดศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์

ไม่เพียงเท่านั้น วิคเตอร์ เครนิน รัฐมนตรีกลาโหมของเบลารุส ก็ขึ้นพูดในเวทีนี้ โดยเตือนว่าการสู้รบขัดแย้งในยูเครนกำลังแปรสภาพเป็นการเผชิญหน้าระดับโลกระหว่างตะวันตกกับตะวันออก และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกันทางทหารโดยตรงระหว่างรัสเซียและเบลารุสกับนาโตในอนาคตอันใกล้นี้

เขาประกาศด้วยว่า การที่เบลารุสตกลงให้รัสเซียเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเข้ามายังดินแดนของเบลารุสอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า มันเป็น “ปัจจัยที่มีประสิทธิภาพในการป้องปรามทางยุทธศาสตร์"

(ที่มา : อาร์ที, เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น