ความพยายามของตะวันตกที่ต้องการธำรงไว้ซึ่งความเป็นเจ้าโลกของพวกเขา คือสาเหตุหลักของความขัดแย้งในยูเครน จากคำกล่าวอ้างของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย พร้อมระบุรัฐสมาชิกลุ่มบริกส์ (BRICS) มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ปฏิเสธแนวคิดของการมีสิทธิพิเศษเหนือประเทศอื่นๆ เช่นนี้
"เราต่อต้านการเป็นเจ้าโลกใดๆ ความคิดของการมีสิทธิพิเศษเหนือชาติอื่นถูกโปรโมตของบางประเทศ และนโยบายล่าอาณานิคมแบบใหม่ เกิดจากคำกล่าวอ้างนั้น" ผู้นำรัสเซียกล่าวในวันพุธ (23 ส.ค.) ระหว่างปราศรัยผ่านวิดีโอลิงก์กับที่ประชุมซัมมิตผู้นำกลุ่มบริกส์ ในแอฟริกาใต้
ปูติน เน้นย้ำว่ากลุ่มบริกส์ ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เชื่ออย่างหนักแน่นในรูปแบบของระเบียบโลกหลายขั้ว ความยุติธรรมอย่างแท้จริงบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ
เมื่ออธิบายของที่มาที่ไปของวิกฤตยูเครน ปูติน กล่าวหาบรรดามหาอำนาจตะวันตก อำนวยความสะดวกการก่อรัฐประหารต่อต้านรัฐธรรมนูญในเคียฟ ปี 2014 และหลังจากยึดอำนาจ พวกเจ้าหน้าที่ใหม่ของเคียฟได้ปลดปล่อยสงครามกับกลุ่มคนที่ปฏิเสธพวกเขา
"การกระทำของเราในยูเครน มีแรงจูงใจเพียงหนึ่งเดียวคือ จบสงครามนี้ ที่ตะวันตกและบริวารของพวเขาในยูเครนได้เริ่มกับประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในดอนบาส" ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าว พร้อมกับส่งสารความขอบคุณของมอสโกไปยังรัฐสมาชิกกลุ่มบริกส์ ซึ่งเขาบอกว่ากำลังทำงานเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ "ในแนวทางที่ยุติธรรม ผ่านหนทางแห่งสันติ"
รัสเซียส่งทหารบุกเข้าไปในยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยเน้นย้ำว่าเป้าหมายของพวกเขาคือหยุดยูเครนจากการโจมตีภูมิภาคดอนบาส รับประกันความเป็นกลางของกองทัพยูเครน และกำจัดกองกำลังชาตินิยมหัวรุนแรง แต่สหรัฐฯ และพันธมิตรอ้างว่าความเคลื่อนไหวด้านการทหารของมอสโก เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการยั่วยุ และให้สัญญาจะมอบอาวุธและเงินทุนสนับสนุนแก่เคียฟ ตราบนานเท่านานจนกว่าจะเอาชนะรัสเซีย
มอสโกเคยระบุการแผ่ขยายอาณาเขตในยุโรปตะวันออกของนาโต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มอิทธิพลเหนือยูเครน คือภัยคุกคามใหญ่หลวงที่มีต่อความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย ในปี 2021 รัฐบาลรัสเซียเคยหาทางเจรจากับตะวันตก เพื่อจัดการกับความกังวลเหล่านี้ แต่ความพยายามดังกล่าวถูกปฏิเสธ
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)