xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าภาพอินโดนีเซียเปิดประชุมเอเชียตะวันออก วอนเหล่าผู้นำร่วมมือ-เลี่ยงการสร้างสงครามใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บรรยากาศการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit ) ที่เป็นรายการสำคัญรายการหนึ่งของการประชุมซัมมิตอาเซียน เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ก.ย.) ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย
อินโดนีเซียเรียกร้องผู้นำโลกปลดชนวนความตึงเครียด ขณะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นรายการส่งท้ายของการประชุมซัมมิตอาเซียนประจำปีนี้ ที่กรุงจาการ์ตาเมื่อวันพฤหัสฯ (7 ก.ย.) ท่ามกลางบรรยากาศการเป็นปฏิปักษ์ของเหล่ามหาอำนาจ

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดของอินโดนีเซีย กล่าวเปิดประชุมโดยเรียกร้องบรรดาผู้นำในที่ประชุมเอเชียตะวันออกใช้โอกาสนี้ส่งเสริมความร่วมมือ ไม่ใช่กระตุ้นการเป็นศัตรู และย้ำว่า ทุกประเทศมีความรับผิดชอบในการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ความตึงเครียด หรือสงครามครั้งใหม่

ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ (6) นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีน เตือนประเทศต่างๆ อย่าเริ่ม “สงครามเย็นครั้งใหม่” รวมทั้งอย่าเลือกข้างในความขัดแย้งใดๆ

ด้านรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริสของอเมริกา ที่ร่วมประชุมแทนประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวย้ำความมุ่งมั่นผูกพันของอเมริกาที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งสหรัฐฯกำลังพยายามให้เรียกใหม่ เป็น อินโด-แปซิฟิก

ขณะที่ทางทำเนียบขาวก็มีการแถลงสำทับว่า อเมริกามีผลประโยชน์ร่วมกับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในการยึดมั่นระเบียบโลกที่ยึดโยงอยู่กับกฎ ซึ่งรวมถึงในทะเลจีนใต้ที่จีนอ้างสิทธิอย่างผิดกฎหมายและมีพฤติกรรมยั่วยุ

แฮร์ริสยังย้ำว่า อเมริกาคัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานะดั้งเดิมฝ่ายเดียวในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ในระหว่างที่เธอพบหารือแบบทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่น และประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ของฟิลิปปินส์

สำหรับเวทีประชุมอีสต์เอเชียซัมมิต ซึ่งมี 18 ชาติเข้าร่วมในวันพฤหัสฯ ถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกาและรัสเซียได้นั่งประชุมร่วมกันในรอบเกือบ 2 เดือนหลังจากที่ในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และยุโรป ได้รุมกันประณามเซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เรื่องที่รัสเซียรุกรานยูเครน

ในวันพฤหัสฯ กระทรวงต่างประเทศรัสเซียแถลงว่า ลาฟรอฟซึ่งเข้าประชุมในนามของรัสเซีย ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ไม่ได้มา ได้กล่าวถึงความเสี่ยงของการที่มีความเคลื่อนไหวทางทหารในเอเชียตะวันออกเพิ่มมากขึ้น และกล่าวหาพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กำลังเข้ามาเคลื่อนไหวในภูมิภาคนี้ พร้อมระบุว่า “ออคัส” ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารระหว่างออสเตรเลีย อังกฤษ และอเมริกามีความโน้มเอียงในการจัดการสถานการณ์ด้วยความก้าวร้าว

ทั้งนี้ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก นอกจากผู้นำเหล่านี้แล้ว ยังมีนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิของอินเดีย นายกรัฐมนตรีคิชิดะของญี่ปุ่น ประธานาธิบดียุน ซอกยอนของเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดของแคนาดา นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีสของออสเตรเลีย ตลอดจนถึงเหล่าผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วม

มีรายงานว่า ประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า มหาอำนาจในภูมิภาคต้องคัดค้านการใช้หน่วยยามฝั่งและเรือของกองกำลังอาวุธท้องถิ่นทางทะเลอย่างน่ากลัวอันตรายในทะเลจีนใต้ หลังเกิดเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันระหว่างเรือฟิลิปปินส์กับเรือจีนหลายครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

กระนั้น ในคำแถลงของผู้นำที่สำนักข่าวเอเอฟพีได้รับมาล่วงหน้านั้น ไม่มีการเอ่ยถึงประเด็นทะเลจีนใต้และสงครามยูเครนแต่อย่างใด

ทางฝ่ายโมดิ ที่จะเป็นเจ้าภาพของการประชุมซัมมิตจี20 ที่อินเดียสุดสัปดาห์นี้ กล่าวกับผู้นำอาเซียนเมื่อเช้าวันพฤหัสฯ ว่า สิ่งสำคัญคือการพยายามร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่า อินโด-แปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้าง

ขณะเดียวกัน แม้การประชุมเอเชียตะวันออกมีขอบเขตด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ครอบคลุมมากกว่า ทว่า บรรดามหาอำนาจได้อาศัยการเจรจาก่อนหน้านี้ในจาการ์ตาเพื่อระดมพันธมิตรสนับสนุนและล็อบบี้อาเซียน

ตัวอย่างเช่นหลี่ที่เดินทางไปชมโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ได้ทุนจากจีนซึ่งอยู่ระหว่างกรุงจาการ์ตากับเมืองจาวันในบันดุง ร่วมกับรัฐมนตรีอาวุโสคนหนึ่งของอินโดนีเซียเมื่อวันพุธ

ส่วนแฮร์ริสแยกคุยกับวิโดโดและมาร์กอสคนละรอบ โดยยืนยันความมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งกับฟิลิปปินส์ และเน้นย้ำบทบาทร่วมกันในการทำให้อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เสรี เปิดกว้าง และมั่งคั่ง

การประชุมสุดยอดอาเซียนในช่วงต้นสัปดาห์นี้ยังถูกครอบงำด้วยวิกฤตพม่า ที่เหล่าผู้นำเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการโจมตีพลเรือน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวก่อนพบกับผู้นำอาเซียนเมื่อวันพฤหัสฯ ว่า ความหวังที่จะเห็นพม่ากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยถูกทำลายจากความรุนแรง ปัญหาความยากจนที่ยิ่งแย่ลง และการกดขี่ปราบปรามอย่างเป็นระบบ

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น