xs
xsm
sm
md
lg

มาเลเซียร้องอาเซียนใช้มาตรการเข้มข้นกับนายพลพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - มาเลเซียเรียกร้องให้พันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำหนดมาตรการที่เข้มข้นต่อนายพลที่ปกครองพม่า โดยกล่าวว่าอุปสรรคที่พวกเขาสร้างขึ้นขัดขวางแผนสันติภาพสำหรับประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแห่งนี้

ข้อความที่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาจากมาเลเซียนี้มีขึ้นในขณะที่นักการทูตระดับสูงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบหารือกันเพื่อพิจารณาทบทวนแผนสันติภาพสำหรับพม่าของกลุ่มภูมิภาคที่หยุดชะงัก ท่ามกลางความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากความล้มเหลวของกองทัพที่จะยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นมานานกว่า 2 ปี หลังกองทัพยึดอำนาจในการรัฐประหาร

“มาเลเซียและประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้แสดงความคิดเห็นว่าเราไม่สามารถปล่อยให้เรื่องนี้ดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีการกำหนดใช้มาตรการที่เข้มข้นและมีประสิทธิภาพกับรัฐบาลเผด็จการทหาร” รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียกล่าวกับนักข่าวหลังการหารือในเมืองหลวงของอินโดนีเซีย แต่เขาไม่ได้ระบุชื่อสมาชิกคนอื่นๆ ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีความเห็นเช่นเดียวกับเขา

ผู้นำอาเซียนกำลังประชุมกันในกรุงจาการ์ตาในสัปดาห์นี้เพื่อหารือเกี่ยวกับพม่า หลักปฏิบัติสำหรับทะเลจีนใต้ เศรษฐกิจของภูมิภาค อาชญากรรมข้ามชาติ และประเด็นอื่นๆ

พม่าเป็นสมาชิกของอาเซียน แต่ผู้ปกครองทหารของประเทศถูกกีดกันจากการประชุมระดับสูงของกลุ่มนับตั้งแต่ที่พวกเขาขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในปี 2564 ที่ก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงต่อการปกครองของพวกเขา

อาเซียนได้ตกลงกันเกี่ยวกับแผนสันติภาพหรือที่เรียกว่า ฉันทมติ 5 ข้อ ที่เรียกร้องการยุติความรุนแรงและการพูดคุยระหว่างทุกฝ่าย แต่บรรดานายพลกลับตอบรับแผนดังกล่าวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียกล่าวว่าแผนสันติภาพไม่ได้รับการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลทหารพม่า

โฆษกของรัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ในทันที แต่ผู้นำทหารปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์จากภายนอก โดยกล่าวว่าพวกเขาต้องดำเนินการเพื่อป้องกันประเทศจากศัตรู ทั้งในและต่างประเทศ

หลายปีที่ผ่านมา อาเซียนส่งเสริมการเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับกองทัพพม่า ท่ามกลางแรงกดดันของตะวันตกที่ต้องการโดดเดี่ยวนายพลที่ปกครองมาอย่างนาวนาน และกดดันพวกเขาด้วยการคว่ำบาตรให้ปฏิรูป

การรัฐประหารในต้นปี 2564 ยุติการปฏิรูปเบื้องต้นที่ดำเนินมาได้เพียงทศวรรษ ที่รวมถึงการเลือกตั้ง 2 ครั้ง ที่ซูจีกวาดชัย และทำให้ความหวังที่ว่าพม่าจะก้าวสู่รัฐบาลพลเรือน การมีเสถียรภาพทางการเมือง และการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องถดถอยลง

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา ที่เปิดตัวในการประชุมระดับนานาชาติในฐานะผู้นำ ได้กล่าวถึง ‘การเจรจาอย่างสร้างสรรค์’ ที่เล่าถึงวิธีที่บิดาของเขา อดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เดินทางเยือนพม่าในปี 2565 เพื่อสนับสนุนการลดความตึงเครียดและการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุสันติภาพอย่างยั่งยืน

อาเซียนดำเนินงานภายใต้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ และบรรลุข้อตกลงด้วยฉันทมติ

ฮุน มาเนต กล่าวว่า กลุ่มจะต้องป้องกันการใช้กำลังต่อรัฐอธิปไตยในโลกที่อันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ

“เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากด้วยความไม่แน่นอน การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจที่เข้มข้นขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในเศรษฐกิจและการค้าระดับภูมิภาคและระดับโลก และสร้างแรงกดดันต่อสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนมากยิ่งขึ้น” ผู้นำกัมพูชา กล่าว

“ประชาคมอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศจะต้องแสดงความเป็นผู้นำในการต่อต้านการใช้กำลังคุกคามรัฐอธิปไตย” ฮุน มาเนต กล่าว

เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ที่กล่าวเปิดงานในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ระบุว่าการทบทวนแผนสันติภาพพม่าจะถูกนำเสนอต่อผู้นำกลุ่มในปลายสัปดาห์นี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น