เอเอฟพี - เมื่อวันอาทิตย์ (27) รัฐบาลทหารพม่ามีคำสั่งขับนักการทูตระดับสูงของติมอร์ตะวันออกที่ประจำอยู่ในประเทศ โดยอ้างเหตุผลถึงการพบหารือกันระหว่างรัฐบาลของติมอร์ตะวันออกและรัฐบาลเงาที่ถูกสั่งห้าม
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ตกอยู่ในภาวะวิกฤตตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564 ที่ยุติการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาได้เพียงไม่นานและจุดชนวนให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง
กองทัพกำหนดให้รัฐบาลเงา ที่รู้จักในชื่อรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่ตั้งขึ้นโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ลี้ภัยและกำลังทำงานอยู่ในต่างประเทศเพื่อล้มล้างการรัฐประหารว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย
เมื่อเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโฮเซ รามอส-ฮอร์ตา ของติมอร์ตะวันออกได้พบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติในกรุงดิลี
เมื่อวันอาทิตย์ (27) กระทรวงการต่างประเทศของพม่าประณามการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบของติมอร์ตะวันออก โดยสั่งให้อุปทูตของติมอร์ตะวันออกในย่างกุ้งออกจากประเทศภายในวันที่ 1 ก.ย.2566
กระทรวงระบุในโพสต์เฟซบุ๊กว่าติมอร์ตะวันออกสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายให้กระทำการละเมิดในพม่า
ด้านติมอร์ตะวันออกประณามคำสั่งขับไล่ดังกล่าว โดยย้ำในแถลงการณ์ถึงความสำคัญของการสนับสนุนทุกความพยายามเพื่อนำความสงบเรียบร้อยตามระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่พม่า
กรุงดิลียังเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเคารพสิทธิมนุษยชน และแสวงหาแนวทางแก้ไขวิกฤตอย่างสันติและสร้างสรรค์
ทั้งนี้ ติมอร์ตะวันออกมีกำหนดจะเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีซานานา กุสเมา กล่าวเมื่อต้นเดือนว่า ประเทศอาจพิจารณาข้อเสนอเข้าร่วมกลุ่มอาเซียนอีกครั้งหากกลุ่มล้มเหลวที่จะโน้มน้าวให้รัฐบาลทหารพม่ายุติความขัดแย้ง
อาเซียนมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยนับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2564 โดยกองทัพเพิกเฉยข้อตกลง 5 ข้อ ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะยุติความรุนแรง นอกจากนี้ อาเซียนยังเห็นต่างกันเกี่ยวกับวิธีที่จะมีส่วนร่วมกับกองทัพพม่า
ในขณะที่รัฐบาลทหารถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง แต่ไทย หนึ่งในสมาชิกอาเซียนได้เป็นเจ้าภาพการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า
ลิน ตัน ตัวแทนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่อยู่ในกรุงปราก ประณามการตัดสินใจของรัฐบาลทหารและกล่าวกับเอเอฟพีว่าไม่มีเหตุผลในการขับไล่นักการทูตของติมอร์ตะวันออก.