xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเงาส่งสาร "เสียใจ" 6 ปีเหตุปราบ "โรฮิงญา" แต่เนื้อหาดันขัดแย้งกับจุดยืนของ "อองซาน ซูจี"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อองซาน ซูจี (แฟ้มภาพ)
MGR Online - รัฐบาลเงาของพรรค NLD เผยแพร่สารแสดงความเสียใจวาระครบ 6 ปี เหตุปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาของกองทัพพม่าเมื่อปี 2560 แต่เนื้อหาสำคัญบางประเด็นขัดแย้งกับจุดยืนเรื่องโรฮิงญาของนางอองซาน ซูจี

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เว็บไซต์รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาของสมาชิกพรรค NLD เผยแพร่สารแสดงความเสียใจในวาระครบรอบ 6 ปี การส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาของกองทัพพม่า จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และชาวโรฮิงญาหลายแสนคนต้องอพยพจากรัฐยะไข่ ลี้ภัยไปอยู่ในเขตบังกลาเทศจนถึงทุกวันนี้

เนื้อหาในสารของรัฐบาลเงา นอกจากแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ พร้อมทั้งกล่าวประณาม "กองทัพพม่า" ที่กระทำการอย่างโหดร้าย ทารุณต่อชาวโรฮิงญาในครั้งนั้นแล้ว ยังมีบางประเด็นที่น่าสนใจและขัดแย้งกับจุดยืนเรื่องชาวโรฮิงญาของอองซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD ที่เคยแสดงออกไว้อย่างชัดเจน

สารของรัฐบาลเงาจากพรรค NLD แสดงความเสียใจในวาระครบรอบ 6 ปี เหตุล้อมปราบชาวโรฮิงญา
เหตุล้อมปราบชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงดังกล่าว ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ในสมัยรัฐบาลของพรรค NLD โดยอองซาน ซูจี ผู้นำพรรค ได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กองทัพพม่าได้ส่งกำลังทหารจำนวนมากลงไปในพื้นที่รัฐยะไข่ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากถูกโจมตีก่อนจากทหารของกองทัพปลอดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (Arakan Rohingya Salvation Army) หรือ ARSA จากนั้นการสู้รบได้เพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีผู้เสียชีวิต และผู้พลัดถิ่นหลายแสนคน

ตลอดเวลาหลายเดือนทั้งก่อนหน้า และหลังจากเกิดเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ อองซาน ซูจี ไม่เคยใช้คำว่า "โรฮิงญา"เรียกเหยื่อจากการล้อมปราบครั้งนั้น ทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยซูจีใช้คำว่า "ผู้อพยพชาวเบงกาลี" เพื่อเรียกคนเหล่านี้แทน เนื่องจากเธอต้องการแสดงจุดยืนให้ทั่วโลกรับรู้ว่าชาวโรฮิงญาไม่ใช่ประชากรพม่า ดังนั้นการใช้คำว่า "โรฮิงญา" เรียกคนกลุ่มนี้จึงอาจถือเป็นการยืนยันการมีตัวตนของชาว "โรฮิงญา" ว่าเป็น 1 ในประชากรพม่าโดยปริยาย

แม้แต่ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 ซึ่งอองซาน ซูจี ได้ออกมาพูดถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่เป็นครั้งแรก หลังปรากฏความรุนแรงขึ้นมาแล้วเกือบ 1 เดือน ตลอดเวลาประมาณ 30 นาทีในการแถลงข่าว ซูจีพูดคำว่า "โรฮิงญา" เพียงครั้งเดียว เมื่อเอ่ยถึงกองกำลัง ARSA ที่เริ่มโจมตีทหารพม่าก่อน

การล้อมปราบชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงของกองทัพพม่าเมื่อปี 2560 ทำให้รัฐบาลพม่าถูกฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอองซาน ซูจี ต้องเดินทางอย่างโดดเดี่ยว เพื่อไปชี้แจงและแก้ต่างข้อกล่าวหานี้กับคณะตุลาการศาลโลกที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 นอกจากนี้ ซูจียังถูกกระแสเรียกร้องจากนานาประเทศให้คณะกรรมการโนเบลยึดรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่เธอได้รับกลับคืนไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สารของรัฐบาลเงาของสมาชิกพรรค NLD ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ในเนื้อหาล้วนใช้คำว่า "ชาวโรฮิงญา" เรียกเหยื่อจากการล้อมปราบเมื่อ 6 ปีก่อนทุกครั้ง นอกจากนี้ ในย่อหน้าที่ 4 ของสารยังระบุชัดว่า รัฐบาลเงายอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นประชากรพม่า และถือเป็นประชากรกลุ่มที่มีความสำคัญของประเทศอีกด้วย (โปรดดูภาพประกอบ).




กำลังโหลดความคิดเห็น