เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่กู้ภัยเปิดเผยวันนี้ (10) ว่า เหตุเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ของพม่าล่มกลางทะเลในสัปดาห์นี้ มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 17 คน
ชาวโรฮิงญาหลายพันคนเสี่ยงชีวิตในแต่ละปีออกเดินทางทางทะเลที่เต็มไปด้วยอันตรายจากค่ายพักพิงในบังกลาเทศและพม่าเพื่อพยายามไปถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่มีประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นชาวมุสลิม
บะยาร์ ลา เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากมูลนิธิ Shwe Yaung Metta ในเมืองสิตตะเว ระบุคาดว่ามีคนมากกว่า 50 คน อยู่บนเรือลำดังกล่าว ที่กำลังมุ่งหน้าไปมาเลเซียขณะที่เรือประสบปัญหาในทะเลที่มีคลื่นลมแรงในคืนวันอาทิตย์
“เราพบศพแล้ว 17 ศพจนถึงเมื่อวานนี้ เราพบผู้รอดชีวิต 8 คน ตำรวจนำตัวพวกเขาไปสอบปากคำแล้ว” บะยาร์ ลา กล่าวกับเอเอฟพี
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงออกค้นหาผู้สูญหาย แม้จะไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนของผู้โดยสารบนเรือลำดังกล่าว
รัฐยะไข่ของพม่า ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เป็นที่อยู่ของชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 600,000 คน ที่ถือเป็นผู้อพยพจากบังกลาเทศและถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองและเสรีภาพในการเคลื่อนไหว
ชาวโรฮิงญามากกว่า 3,500 คนในเรือ 39 ลำ พยายามข้ามทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอลในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 700 คนในปีก่อนหน้า ตามข้อมูลเดือน ม.ค. ของหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ
และมีชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 348 คน เสียชีวิตหรือสูญหายในทะเลเมื่อปีก่อน หน่วยงานระบุ พร้อมทั้งเรียกร้องการตอบสนองในระดับภูมิภาคเพื่อยับยั้งการจมน้ำเสียชีวิตเพิ่มเติม
องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่าสภาพความเป็นอยู่ของโรฮิงญาในรัฐยะไข่นั้นมีลักษณะของการแบ่งแยกกีดกัน
การปราบปรามของกองทัพพม่าในปี 2560 บังคับให้ชาวโรฮิงญาราว 750,000 คน ต้องอพยพหลบหนีจากรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศ พร้อมกับรายงานการฆาตกรรม การวางเพลิง และการข่มขืนอย่างกว้างขวาง
พม่ากำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติหลังเกิดการอพยพครั้งใหญ่
บังกลาเทศและพม่าได้หารือเกี่ยวกับความพยายามในการเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับภูมิลำเนา
ผู้แทนระดับสูงด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ในบังกลาเทศกล่าวในเดือน ก.ค. สภาพการณ์ยังคงไม่ปลอดภัยสำหรับการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับไปพม่า
การตัดเงินทุนทำให้หน่วยงานด้านอาหารของสหประชาชาติต้องตัดการปันส่วนของค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศถึง 2 ครั้งในปีนี้
พายุไซโคลนที่พัดถล่มรัฐยะไข่ในเดือน พ.ค. และรัฐบาลทหารได้ขัดขวางความพยายามของนานาชาติที่จะจัดส่งความช่วยเหลือ
พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจีถูกโค่นล้มในการรัฐประหารในเดือน ก.พ.2564 ที่ทำให้ช่วงเวลาของระบอบประชาธิปไตยช่วงสั้นๆ ของประเทศต้องสิ้นสุดลง.