เอเอฟพี - ผู้แทนระดับสูงด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ในบังกลาเทศ กล่าวว่าสภาพเงื่อนไขยังคงไม่ปลอดภัยสำหรับการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับพม่า โดยวอชิงตันให้คำมั่นว่าจะเพิ่มความช่วยเหลือสำหรับวิกฤตนี้
บังกลาเทศเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาราว 1 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่หลบหนีการปราบปรามของทหารพม่าในปี 2560
“เราสนับสนุนความพยายามในการสร้างเงื่อนไขสำหรับการส่งโรฮิงญากลับประเทศอย่างปลอดภัย มีศักดิ์ศรี และสมัครใจ แต่เงื่อนไขดังกล่าวยังไม่มีอยู่ในปัจจุบัน” อุซรา เซยา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศด้านความปลอดภัยพลเรือน ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ของสหรัฐฯ กล่าวกับนักข่าวในกรุงธากา
เซยายังกล่าวชื่นชมธากาที่ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของพวกเขาในการต่อต้านการบังคับส่งโรฮิงญากลับประเทศ
บังกลาเทศและพม่าได้หารือถึงความพยายามที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับภูมิลำเนา ที่พวกเขาถูกกดขี่ข่มเหงมานานหลายทศวรรษและถูกปฏิเสธสัญชาติ
สหรัฐฯ เป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดต่อความพยายามด้านมนุษยธรรมต่อชาวโรฮิงญา โดยบริจาคเงินมากกว่า 2,100 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือโรฮิงญาและชุมชนเจ้าบ้านในบังกลาเทศ
การตัดลดงบประมาณทำให้หน่วยงานด้านอาหารของสหประชาชาติต้องลดการปันส่วนให้กับการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยถึง 2 ครั้งในปีนี้ โดยเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เตือนว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจทำให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงในค่ายผู้ลี้ภัยยิ่งแย่ลงไปอีก
เซยาประกาศเพิ่มความช่วยเหลือ 74 ล้านดอลลาร์ ที่รวมถึงสำหรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศ และในค่ายพักพิงในรัฐยะไข่ของพม่า
นอกจากนี้ นักการทูตของสหรัฐฯ ยังได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ของบังกลาเทศ และหารือถึงความจำเป็นสำหรับการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมในเดือน ม.ค.2567.