เอเอฟพี - รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนรวมตัวกันในอินโดนีเซียวันนี้ (11) ในการประชุมหารือที่วิกฤตพม่ายังคงเป็นประเด็นหลัก โดยกลุ่มภูมิภาคยังคงมีความเห็นต่างเกี่ยวกับวิธีการ หรือว่าจะกลับไปมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารของประเทศอีกครั้งหรือไม่
การประชุมของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลา 2 วัน จะตามมาด้วยการเจรจาหารือกับปักกิ่ง วอชิงตัน และมหาอำนาจอื่นๆ ที่แอนโทนี บลิงเคน นักการทูตระดับสูงของสหรัฐฯ จะพยายามผลักดันการตอบโต้การรุกรานของจีนในทะเลจีนใต้
พม่าถูกทำลายจากความรุนแรงนับตั้งแต่การรัฐประหารของกองทัพที่ขับไล่รัฐบาลของอองซานซูจีเมื่อกว่า 2 ปีก่อน และเปิดฉากการปราบปรามนองเลือดต่อผู้เห็นต่าง
อาเซียนถูกประณามมานานแล้วว่าเป็นเพียงเสือกระดาษไร้น้ำยา และยังคงแตกแยกกันเกี่ยวกับความพยายามทางการทูตในการแก้ไขวิกฤตนี้
ความแตกแยกเหล่านั้นยังปรากฏในร่างคำแถลงร่วมที่เอเอฟพีได้เห็น ที่เนื้อหาเกี่ยวกับพม่ายังถูกเว้นว่างไว้ เนื่องจากสมาชิกอาเซียนยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยนักการทูตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพีว่า ย่อหน้าดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการหารือ ประเทศสมาชิกยังคงต้องใช้เวลาในการเสนอข้อความ
ครั้งเดียวที่อาเซียนล้มเหลวที่จะออกคำแถลงร่วมคือเมื่อกว่าทศวรรษก่อนในปี 2555 จากข้อพิพาททางภาษาเกี่ยวกับทะเลจีนใต้
พม่ายังคงเป็นสมาชิกของอาเซียนแต่ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของกลุ่มจากความล้มเหลวของรัฐบาลทหารที่จะดำเนินการตามแผน 5 ข้อ ที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อ 2 ปีก่อน ที่จะยุติความรุนแรงและเริ่มการเจรจาเพื่อแก้ไขวิกฤต
แต่ความพยายามของอาเซียนที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนนั้นยังคงไร้ผล ในขณะที่รัฐบาลทหารเพิกเฉยต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติและปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม
ในขณะเดียวกัน ไทยได้เป็นเจ้าภาพการเจรจาหารืออย่างไม่เป็นทางการ ที่รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารเข้าร่วม ความเคลื่อนไหวที่ทำให้ความแตกแยกระหว่างสมาชิกอาเซียนมีมากยิ่งขึ้น
เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปที่ความแตกแยกภายในกลุ่มในคำกล่าวเปิดการประชุมในวันแรกของการหารือ
“ความแตกต่างของเราไม่ควรเป็นข้ออ้างสำหรับเราที่จะละทิ้งประเด็นสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคของเราเอง แม้จะมีความซับซ้อนในพื้นที่ แต่อาเซียนก็ต้องไม่ลังเล” มาร์ซูดี กล่าว
ความริเริ่มของกลุ่มถูกจำกัดโดยหลักการของกฎบัตรของอาเซียนว่าด้วยฉันทมิตและการไม่แทรกแซง แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า การประชุมสามารถผลักดันให้สมาชิกทำได้มากกว่านี้
“หวังว่าจะมีแผนการดำเนินการที่ชัดเจนขึ้นว่าอาเซียนจะทำอะไรต่อไป” ลีนา อเล็กซานดรา จากศูนย์ยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา ในกรุงจาการ์ตา กล่าว
การประชุมนี้จะเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มหลังการหารืออย่างไม่เป็นทางการในไทย อเล็กซานดรา กล่าว
หลังจากเปิดการประชุม ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชน ออกคำแถลงเรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนและพันธมิตรสร้างแนวร่วมรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเพื่อกดดันรัฐบาลทหารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้มากยิ่งขึ้น
ในวันพฤหัสฯ (13) การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนบวกสาม กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน จะเกิดขึ้นก่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก 18 ประเทศ ในวันศุกร์ (14) ที่รวมทั้งวอชิงตัน และปักกิ่ง
เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียคาดว่าจะเข้าร่วมการประชุมครั้งหลัง โดยเขาจะอยู่ในห้องเดียวกับบลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ อีกครั้ง หลังจากพบกันในการประชุมสั้นๆ ในเดือน มี.ค.
การกระทำของปักกิ่งในทะเลจีนใต้จะเป็นอีกวาระของการประชุมเช่นกัน เดเนียล คริเทนบริงค์ นักการทูตระดับสูงของสหรัฐฯ กล่าวกับนักข่าวเมื่อสุดสัปดาห์
จีนอ้างสิทธิอย่างกว้างขวางในน่านน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้ แม้จะมีการประท้วงจากสมาชิกอาเซียนอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ ตลอดจนชาติอื่นๆ ที่โต้แย้งเพื่อเสรีภาพในการเดินเรืออย่างไม่มีข้อจำกัด และการอ้างสิทธิดินแดนของตนได้รับการเคารพ
“สหรัฐฯ และอาเซียนจะพยายามหาทาง ตอบโต้พฤติกรรมที่สวนทางกับวิสัยทัศน์และหลักการเหล่านั้น รวมถึงการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบหลายอย่างที่เราได้เห็นจากจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” คริเทนบริงค์ กล่าว.