xs
xsm
sm
md
lg

ทางการไทยย้ำหารือพม่าเป็นสิ่งจำเป็น แม้ชาติอาเซียนหลักเมินเข้าร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ทางการไทยให้เหตุผลในการเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาหารือที่มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมกับทหารพม่าอีกครั้ง โดยระบุว่า การเจรจาเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปกป้องพรมแดนที่ติดกับประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แม้ว่านักการทูตระดับสูงของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่เข้าร่วมก็ตาม

นายพลของพม่าถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นับตั้งแต่พวกเขายึดอำนาจในการรัฐประหารปี 2564 และนำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้ที่ต่อต้านการยึดอำนาจของพวกเขา

แต่รัฐบาลรักษาการของไทยได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า หารือข้อเสนอสำหรับกลุ่มที่จะมีส่วนร่วมกับพม่าอย่างเต็มที่อีกครั้งในระดับผู้นำ ตามคำเชิญที่รอยเตอร์ได้เห็นและได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าว

นักวิจารณ์มองว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการบ่อนทำลายแนวทางของอาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวต่อวิกฤตพม่า ที่มีแผนสันติภาพซึ่งตกลงไว้กับรัฐบาลทหารเมื่อ 2 ปีก่อนเป็นศูนย์กลาง

แต่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่าการพูดคุยโดยตรงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปกป้องประเทศ ด้วยไทยเผชิญปัญหามากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากมีพรมแดนทางบกและทางทะเลยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร จึงเป็นเหตุผลที่การหารือมีความจำเป็น และยังย้ำว่าไม่ใช่เรื่องของการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า วิกฤตพม่ากำลังสร้างปัญหาผู้ลี้ภัยและส่งผลกระทบต่อการค้า

“เราสามารถพูดได้ว่าไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ต้องการเห็นปัญหายุติโดยเร็วที่สุด” ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

แหล่งข่าว 2 รายระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ไม่ได้เข้าร่วม แต่มีบางประเทศส่งผู้แทนระดับรองมาแทน

นอกเหนือจากพม่าและไทยที่เป็นเจ้าภาพแล้ว ลาวเป็นประเทศเดียวที่ส่งนักการทูตระดับสูงมา ตามการระบุของแหล่งข่าว

อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนได้พยายามพัฒนากระบวนการสันติภาพมาเป็นเวลาหลายเดือนด้วยการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในความขัดแย้งของพม่า

เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า อาเซียนไม่มีฉันทมติในการมีส่วนร่วมใหม่หรือพัฒนาแนวทางใหม่ต่อประเด็นพม่า ตามจดหมายที่รอยเตอร์ได้เห็นและตรวจสอบโดยแหล่งข่าว

กองทัพเข้ายึดครองพม่าในปี 2505 และปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทั้งหมดเป็นเวลาหลายทศวรรษ จนกระทั่งเปิดประเทศในปี 2554 แต่การปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่รวมถึงการเลือกตั้งที่พรรคของอองซานซูจีกวาดชัยชนะ ต้องยุติลงเมื่อกองทัพเข้าโค่นล้มรัฐบาลของเธอ และปราบปรามการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย

เมื่อพม่าเผชิญกับเสียงประณามและการคว่ำบาตรจากตะวันตกอีกครั้ง อาเซียนได้ร่างแผนสันติภาพ 5 ข้อ รวมถึงการยุติความรุนแรง การเข้าถึงด้านมนุษยธรรม และการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด แต่นายพลของพม่าไม่ได้ดำเนินการตามแผนดังกล่าว ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กลุ่ม

กระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียระบุในคำแถลงว่า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับอาเซียนที่จะต้องแสดงความสามัคคีเพื่อสนับสนุนความพยายามของอินโดนีเซีย

ขณะที่ วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์กล่าวแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ยังเร็วเกินไปที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าในระดับสูง แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่จากสิงคโปร์ได้เข้าร่วมการหารือในไทยหรือไม่.


กำลังโหลดความคิดเห็น