xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยกิจการพม่า จะหมดวาระดำรงตำแหน่งเดือนนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยกิจการพม่าจะก้าวลงจากตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ตามการเปิดเผยของโฆษกเลขาธิการสหประชาชาติในวันพุธ (31) หลังดำรงตำแหน่งนาน 18 เดือน ซึ่งเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งรัฐบาลทหารและฝ่ายตรงข้าม

พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่ทหารเข้ายึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564 ยุติการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยช่วงสั้นๆ และก่อให้เกิดการปะทะกันกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร

ความพยายามทางการทูตภายใต้การนำของสหประชาชาติ และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่จะแก้ไขวิกฤตนี้ยังไม่สามารถหยุดยั้งการนองเลือดจากการรัฐประหารได้

โนลีน เฮย์เซอร์ ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้แทนโดยอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ในเดือน ต.ค.2564 จะสิ้นสุดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในวันที่ 12 มิ.ย. เมื่อสัญญาของเธอสิ้นสุดลง สเตฟาน ดูจาร์ริค กล่าว

“กูเตอร์เรสรู้สึกขอบคุณคุณเฮย์เซอร์สำหรับความพยายามอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยของเธอเพื่อสันติภาพและประชาชนชาวพม่า” โฆษกเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าว และเสริมว่าจะมีการแต่งตั้งผู้แทนคนใหม่

เฮย์เซอร์ นักสังคมวิทยาชาวสิงคโปร์ได้รับมอบหมายให้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารมีส่วนร่วมในการเจรจาทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามและยุติการปราบปรามนองเลือดที่เกิดขึ้นหลังโค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจี

เธอเดินทางเยือนพม่าเมื่อเดือน ส.ค. และได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงคนอื่นๆ ในความเคลื่อนไหวที่ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการให้ความชอบธรรมแก่เหล่านายพล

แต่เธอถูกปฏิเสธไม่ให้พบหารือกับอองซานซูจี ที่ถูกคุมขัง และต่อมายังทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าไม่พอใจที่ได้กล่าวหาเธอว่าออกคำแถลงด้านเดียวในสิ่งที่ได้หารือ

ภายหลังเฮย์เซอร์ ได้สาบานว่าเธอจะไม่เดินทางไปเยือนประเทศนี้อีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้พบกับอองซานซูจี ที่นับแต่นั้นถูกศาลรัฐบาลทหารตัดสินจำคุกเป็นเวลารวม 33 ปี

ด้วยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรและผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่อย่างรัสเซียและจีน เหล่านายพลได้ปฏิเสธความพยายามหลายครั้งที่จะเริ่มต้นการเจรจากับฝ่ายตรงข้ามการรัฐประหารของตน

คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ นักการทูตชาวสวิส และอดีตผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ ถูกรัฐบาลทหารขัดขวางไม่ให้เยือนประเทศ และยังตกเป็นเป้าโจมตีของสื่อที่รัฐให้การสนับสนุน

ปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาและผู้แทนพิเศษของอาเซียน ได้เดินทางเยือนพม่า 2 ครั้ง แต่ทั้ง 2 ครั้งนั้นกองทัพปฏิเสธไม่ให้พบกับซูจี

ประชาชนมากกว่า 3,500 คน เสียชีวิตในการปราบปรามของกองทัพนับตั้งแต่รัฐประหาร ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น ขณะที่สหประชาชาติระบุว่า มีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น