เอพี - ในวันจันทร์ (19) นี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหารือเกี่ยวกับการชะงักงันทางการเมืองที่รุนแรงในพม่า ความคิดริเริ่มที่นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นการบ่อนทำลายความพยายามสร้างสันติภาพในภูมิภาค และดำเนินการโดยรัฐบาลรักษาการ
คำแถลงที่เผยแพร่วานนี้ (18) โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่า จุดประสงค์ของการเจรจาอย่างไม่เป็นทางกร ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเป็นครั้งที่ 3 คือเพื่อหารือในประเด็นต่างๆ เพื่อส่งเสริมความพยายามของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในการแก้ไขสถานการณ์ในพม่า
คำแถลงระบุว่า การหารือจะมีผู้แทนจากลาว กัมพูชา อินเดีย จีน บรูไน และเวียดนาม ตลอดจนพม่าเข้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมากเนื่องจากผู้นำอาเซียนได้ตกลงที่จะกีดกันนายพลพม่าออกจากการประชุมของอาเซียน
มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นหนึ่งในสมาชิกของอาเซียนที่ไม่เข้าร่วมการประชุม พวกเขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ผลักดันอย่างหนักให้กดดันรัฐบาลทหารพม่ามากขึ้นเพื่อให้ดำเนินการขั้นตอนสู่สันติภาพ
วิกฤตพม่าเริ่มขึ้นหลังกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีเมื่อเดือน ก.พ.2564 การยึดอำนาจดังกล่าวก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงของประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยกองกำลังความมั่นคงนำไปสู่การต่อต้านด้วยอาวุธที่ขยายไปทั่วประเทศในเวลานี้
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ยอมรับกับเพื่อนผู้นำของเขาในที่ประชุมสุดยอดเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการยุติความขัดแย้ง และได้เรียกร้องให้พม่ายุติความรุนแรงอีกครั้ง
เมื่อ 2 ปีก่อน อาเซียนได้ตกลงร่วมกันในแผน 5 ข้อ ที่รวมถึงการเรียกร้องการยุติการสังหารและความรุนแรงต่างๆ โดยทันที และเริ่มการเจรจาระดับชาติ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ปกครองทหารของประเทศจะยอมรับแผนในตอนแรก แต่พวกเขาพยายามที่จะดำเนินการตามแผนนั้นแค่เล็กน้อย
อาเซียนประกาศในเวลาต่อมาว่าจะไม่ต้อนรับสมาชิกระดับสูงที่รัฐบาลทหารส่งมาเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาค เนื่องจากรัฐบาลทหารไม่ร่วมมือกับแผนดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ตามคำเชิญของไทย รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมในวันนี้ (19)
คำแถลงของรัฐบาลมาเลเซียที่ออกเมื่อวันอาทิตย์ (18) ระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศไม่สามารถเข้าร่วมได้ และยังย้ำว่าแผนสันติภาพของอาเซียนยังคงเป็นหลักอ้างอิงของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาพม่า
นอกจากนี้ คำแถลงยังระบุว่า สิ่งสำคัญคืออาเซียนต้องแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันในการสนับสนุนประธานอาเซียนและกระบวนการของอาเซียนที่สอดคล้องกับอาณัติและการตัดสินใจของผู้นำอาเซียน
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันอาทิตย์ (18) ปกป้องการประชุมดังกล่าว โดยระบุว่า มีวัตถุประสงค์ที่จะให้โอกาสพม่าแจ้งข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศ และไทยไม่ได้จัดการประชุมในนามของอาเซียน และได้ส่งคำเชิญอย่างเปิดเผยไปยังทุกประเทศที่อาจสนใจรับฟังจากพม่า
“การเจรจาเป็นข้อกำหนดพื้นฐานทางการทูตในการหาทางออกอย่างสันติ ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับพม่ายาว 2,400 กิโลเมตร ไทยต้องการเห็นการยุติความรุนแรงที่จะนำไปสู่สันติภาพและเสถียรภาพภายในพม่า” คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุ
คำแถลงของกระทรวงไม่ได้ระบุว่าการประชุมจะจัดขึ้นที่ใด แต่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์อ้างว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศระบุว่าการประชุมจะจัดขึ้นที่พัทยา
ด้านกลุ่มในพม่าที่ต่อต้านการปกครองของทหารออกมาตำหนิแผนจัดการประชุมดังกล่าว
คำแถลงที่ลงนามโดยตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 300 องค์กรระบุว่า แผนการประชุมเป็นการดูหมิ่นประชาชนชาวพม่าที่สละชีวิตเพื่อต่อต้านความพยายามของทหารพม่าในการยึดอำนาจผ่านการกระทำอันโหดร้ายทารุณต่อคนทั้งประเทศมานานหลายปี
“เราเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการของไทยยกเลิกการประชุมนี้ทันที” คำแถลงระบุ และยังเรียกร้องให้ผู้แทนคนอื่นๆ งดเข้าร่วม.