รอยเตอร์ - รัฐบาลรักษาการของไทยจะเป็นเจ้าภาพต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่าในการเจรจาสันติภาพระดับภูมิภาคอย่างไม่เป็นทางการในวันนี้ (18) แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนสำคัญหลายประเทศปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
จนถึงขณะนี้มีเพียงกัมพูชาที่ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าจะเข้าร่วมการหารือ
นายพลพม่าถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นเวลาเกือบ 2 ปี เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จะเริ่มเจรจากับฝ่ายตรงข้ามที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่นล้ม ที่นำโดยอองซานซูจี
แต่ไทยได้เชิญ ตาน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการหารือ พร้อมกับรัฐมนตรีต่างประเทศคนอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน แหล่งข่าว 2 คน ที่ทราบเรื่องการประชุมบอกกับรอยเตอร์
แต่อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อโฆษกรัฐบาลทหารพม่าเพื่อขอความเห็นในวันนี้ได้
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ไม่เปิดเผยว่ามีใครบ้างที่เข้าร่วมการประชุมเป็นเวลา 2 วัน ที่พัทยา ซึ่งดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลรักษาการ ได้ส่งจดหมายเชิญก่อนที่การหารือจะเริ่มขึ้นเพียง 4 วัน
ส่วนรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวในเช้าวันอาทิตย์ (18) ว่าเขาไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการประชุม
พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายและเต็มไปด้วยความรุนแรงนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 โดยทหารต่อสู้ในหลายแนวรบเพื่อพยายามบดขยี้กลุ่มต่อต้านติดอาวุธที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้การปราบปราม รัฐบาลทหารระบุว่า พวกเขากำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายที่มุ่งทำลายประเทศ
นักวิจารณ์ระบุว่า แผนริเริ่มของไทยเสี่ยงที่จะเป็นการให้ความชอบธรรมต่อรัฐบาลทหารพม่า และไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่นอกเหนือข้อตกลงสันติภาพอย่างเป็นทางการของอาเซียน หรือที่เรียกว่า ‘ฉันทมติ 5 ข้อ’ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเหตุใดไทยถึงจัดการเจรจาในตอนนี้ ด้วยคาดว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในเดือน ส.ค.
ปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา จะเข้าร่วมการประชุม ตามคำแถลงของรัฐบาลกัมพูชาเมื่อวันศุกร์ (16)
สมาชิกอาเซียนคนอื่นๆ ปฏิเสธคำเชิญของไทย รวมถึงอินโดนีเซีย ประธานอาเซียนในปีนี้ และสิงคโปร์ ที่รัฐมนตรีต่างประเทศ วิเวียน บาลากริชนัน กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า การจะกลับมามีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าอีกครั้งในระดับการประชุมสุดยอด หรือแม้แต่ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศนั้นยังเร็วเกินไป
ส่วนรัฐบาลเวียดนามกล่าวว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของตนจะไม่เข้าร่วมการหารือนี้เนื่องจากมีธุระอื่นอยู่ก่อนแล้ว
มาเลเซียก็จะไม่เข้าร่วมเช่นกัน ตามการระบุของแหล่งข่าว ขณะที่ฟิลิปปินส์ ที่ไม่ได้ตอบสนองต่อคำถามของรอยเตอร์ในเช้าวันอาทิตย์ ถูกมองว่าอยู่ฝั่งที่โดดเดี่ยวนายพลพม่าอยู่แล้ว
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารของพม่าก็แสดงความเห็นตำหนิแผนของไทย
“การเชิญรัฐบาลทหารที่ผิดกฎหมายเข้าร่วมการหารือครั้งนี้จะไม่ช่วยแก้ไขวิกฤตทางการเมืองของพม่า” คำแถลงของ NUG ระบุเมื่อวันเสาร์ (17)
กลุ่มนักเคลื่อนไหวพม่า 81 กลุ่ม ได้ออกจดหมายเปิดผนึกประณามการริเริ่มอย่างลับๆ นี้ โดยระบุว่า ‘ขัดแย้งอย่างชัดเจน’ กับนโยบายของอาเซียนที่จะไม่เชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทหารพม่าเข่าร่วมการประชุมระดับสูง
“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการของไทยยกเลิกการประชุมนี้ทันที” จดหมายของกลุ่มนักเคลื่อนไหวพม่า ระบุ.