เอเอฟพี - การจัดการเลือกตั้งโดยไม่มีการเจรจาทางการเมืองอย่างครอบคลุมเสี่ยงที่จะทำให้ความรุนแรงในพม่าเลวร้ายลง ผู้แทนสหประชาชาติกล่าววานนี้ (3) หนึ่งวันหลังจากพบหารือกับผู้นำฝ่ายค้านในเจนีวา
โนลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยกิจการพม่าที่กำลังจะหมดวาระในวันที่ 12 มิ.ย. กล่าวว่า เธอได้พบหารือกับซิน มา อ่อง รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่เป็นรัฐบาลพลัดถิ่น
คำแถลงระบุว่า ในการพบหารือเมื่อวันศุกร์ (2) ผู้แทนพิเศษได้กล่าวเตือนถึงการดำเนินการของรัฐบาลทหารที่บ่อนทำลายสถาบันและกระบวนการประชาธิปไตย เช่น การยุบพรรคฝ่ายค้าน
เฮย์เซอร์เตือนว่า “การเลือกตั้งที่เสนอขึ้นโดยกองทัพเสี่ยงที่จะทำให้ความรุนแรงรุนแรงขึ้น เนื่องจากไม่มีการเจรจาทางการเมืองแบบครอบคลุมทุกฝ่าย และเงื่อนไขที่อนุญาตให้พลเมืองได้ใช้สิทธิอย่างเสรี
เฮย์เซอร์กล่าวว่า การเจรจาใดๆ ก็ตามควรมุ่งเน้นที่ผู้คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง รวมถึงผู้หญิงและเยาวชน
พม่าเผชิญกับความวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564 ที่ยุติการปกครองของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี จากข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริงเกี่ยวกับการโกงเลือกตั้ง
ตั้งแต่นั้น กองทัพได้มอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารควบคุมเข้าดูแลจัดการการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามกล่าวว่าการเลือกตั้งดังกล่าวไม่เสรีและเป็นธรรม
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ยุบพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจี โดยระบุว่าพรรคไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งใหม่ที่กองทัพเป็นผู้กำหนดขึ้น
ในช่วงการดำรงตำแหน่ง 18 เดือน เฮย์เซอร์ถูกรัฐบาลทหารและฝ่ายตรงข้ามวิพากษ์วิจารณ์
เธอเดินทางเยือนพม่าในเดือน ส.ค.2565 และได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงคนอื่นๆ ในความเคลื่อนไหวที่ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการให้ความชอบธรรมแก่เหล่านายพล
แต่เธอถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพบอองซานซูจี และต่อมายังทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารไม่พอใจที่ได้กล่าวหาเธอว่าออกคำแถลงฝ่ายเดียวถึงสิ่งที่ได้หารือ.