เชียงราย - “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์-รอง ผบ.ตร.” บินด่วนเคลียร์ปมส่งเด็กต่างด้าว-ไร้หลักฐานทะเบียนราษฎรเข้าเรียนถึงอ่างทองกลับเมียนมา หลังส่งกลับแล้ว 59 ราย เหลืออีก 67 ราย ชี้ต้องรักษาสมดุลความมั่นคง กฎหมาย สิทธิเด็ก เผยพื้นที่ชายแดนยังมีอีกมากเกือบแสนคน NGO วอนช่วยก่อนส่งคืน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) เดินทางไปประชุมหารือเรื่องแนวทางในการส่งกลับเด็กและเยาวชนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักร เมื่อค่ำวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม ภ.จว.เชียงราย
หลังจากเกิดคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ผลักดันเด็กนักเรียนชาวต่างด้าวโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง กลับประเทศเมียนมาเพราะไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร
ที่ประชุมซึ่งมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อัยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย องค์กรเอกชน ฯลฯ เข้าร่วม ได้รายงานว่าได้จัดส่งเด็กกลับภูมิลำเนาอยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ผ่านทางจุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย จ.เชียงราย แล้วเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา 59 ราย คงหลือที่อยู่ในประเทศไทยอีก 67 ราย
เจ้าหน้าที่ระบุว่าเด็กที่ถูกส่งกลับไปก่อนนั้นยืนยันว่าเป็นไปตามที่เด็กร้องขอและมีทะเบียนบ้านอยู่ในประเทศเมียนมาจริงรวมทั้งยังมีผู้ปกครองยืนยันอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่ไม่มีผู้ปกครองมารับเพราะอาจกำลังหลบหนีการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งบางส่วนอาศัยอยู่กับญาติที่ปฏิเสธจะรับตัวเด็กคืน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า กรณีนี้ต้องมองหลายมิติ จะดูเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงถึงสิทธิเด็กเป็นสำคัญด้วย สิ่งที่เด็กต้องการคือการศึกษาและจะเป็นแรงงานสำคัญของประเทศไทยในอนาคต จึงต้องมีสมดุลว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้เข้ามาศึกษาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นจึงหารือร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อสรุปทุกมิติ
สำหรับสถานการณ์ของเด็กที่เหลืออยู่นั้น ขณะนี้พักอยู่กับบ้านพักเด็กฯ ขั้นตอนต่อไปคือประสานพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน หากเด็กยังต้องการเรียนก็ได้หารือกับเลขาธิการ สพฐ.เพื่อให้เข้าเรียนในโรงเรียนที่รองรับแต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องยินยอมด้วย เพราะในเมียนมาหลายพื้นที่มีการสู้รบและขาดโอกาสทางการเรียน ส่วนเด็กที่หาตัวพ่อแม่ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่จะจัดหาผู้ดูแลเด็กและอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็ก จ.เชียงราย ด้วย ซึ่งทั้งหมดถือเป็นมติประชุมและจะดำเนินการให้ได้ข้อสรุปภายในวันศุกร์ที่ 15 ก.ค.นี้เพื่อให้เด็กเหล่านี้รู้ถึงอนาคตตัวเอง
"เด็กในลักษณะนี้เรียนอยู่ตามโรงเรียนตามแนวชายแดน มีมากกว่า 70,000-80,000 คน การดำเนินการต่างๆ จะต้องประชุมหารือร่วมกัน โดยหน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลักว่าจะเข้ามาเรียนอย่างไรให้ถูกต้อง มีสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร ยารักษาโรค วัคซีนโควิด-19 เป็นต้น"
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า ด้านความมั่นคงนั้น กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ที่ชายขอบก็สามารถเรียนหนังสือได้ แต่ไม่ได้หมายถึงเข้ามาลึกถึงกรุงเทพฯ จ.พระนครศรีอยุธยา หรือ จ.อ่างทอง แบบนี้ เพราะโรงเรียนตามแนวชายแดนมีเพียงพออยู่แล้ว ทั้งนี้จะได้มีการรักษาสมดุลระหว่างความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมายของด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และการศึกษาของเด็กโดยยึดเรื่องสิทธิเด็กเป็นสำคัญต่อไป
ด้าน น.ส.นุชนารถ บุญคง ผู้จัดการมูลนิธิบ้านครูน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า กรณีที่ จ.อ่างทองนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำเด็กๆ ที่ยังไม่ถูกส่งกลับกระจายไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ โดยมูลนิธิบ้านครูน้ำรับเด็กมา 18 คน อายุตั้งแต่ 4-15 ปี ซึ่งล้วนไม่มีเอกสารประจำตัวและผู้ปกครองไม่กล้าติดต่อมาเพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดี ส่วนเด็กก็อยู่ในภาวะสิ้นหวังและตื่นกลัว จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการที่ประณีตและเข้าใจในความเป็นเด็ก
ทั้งนี้ เด็กๆ สมัครใจเข้ามาเรียนอยู่ในประเทศไทยได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว และกำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อสอบถามก็ทราบว่าพวกเขาไม่อยากกลับประเทศตัวเองเพราะอยากเรียนหนังสือ ดังนั้นมูลนิธิจึงไม่อยากให้มีการส่งตัวเด็กกลับไปทันที อยากให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มาร่วมมือกันสร้างมุมมองใหม่เกี่ยวกับปัญหาเด็กชายขอบ โดยให้การช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ให้ได้รับการศึกษาก่อน เมื่อพึ่งตัวเองได้จึงค่อยส่งกลับภูมิลำเนา ไม่เช่นนั้นพวกเขามีความเสี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในวงจรอาชญากรชายแดนทั้งยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ และกลับมาส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในที่สุด