MGR Online - ชาวบ้านจังหวัดกั้นบะลู ภาคสะกาย ต้องเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤต หลังคนนับหมื่นต้องหนีภัยจากการรบหนักระหว่าง PDF กับทหารพม่า เข้าหลบอาศัยอยู่ในป่า กลับต้องเจอภัยจากงูพิษที่ชุกชุม มีคนถูกงูกัดแทบทุกวัน แต่เซรุ่มที่ใช้รักษามีไม่พอ
วันที่ 21 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา Myanmar Peace Monitor ได้รายงานสถานการณ์ภายในค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในพื้นที่จังหวัดกั้นบะลู ภาคสะกาย ซึ่งผู้อพยพกำลังเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤต เนื่องจากภายในป่าซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายให้คนเหล่านี้ได้เข้าไปพักอาศัย เป็นแหล่งที่มีงูพิษชุกชุม ส่งผลให้มีผู้อพยพถูกงูพิษกัดแทบทุกวัน
Myanmar Peace Monitor อ้างข้อมูลจากอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มกิจกรรม จูนหล่ะ-กั้นบะลู” หรือ Kyunhla-Kanbalu Activists Group ระบุว่า นับแต่ชาวบ้านเหล่านี้ต้องละทิ้งบ้านเรือน ไร่นาของตนเองหนีเข้าไปหลบภัยอยู่ในป่า มีชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 80 คน ที่ได้ถูกงูพิษกัด ในจำนวนนี้มี 6 คน เสียชีวิตไปแล้ว โดยผู้ที่ถูกงูพิษกัด มีอายุตั้งแต่ 8 ขวบ ถึง 61 ปี
ข้อมูลล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1-18 มิถุนายนที่ผ่านมา มีชาวบ้านถูกงูพิษกัดไปแล้ว 7 คน ในวันที่ 18 มิถุนายน มีชาวบ้านซึ่งเป็นหญิงอายุ 47 ปี กับชายอายุ 28 ปี ถูกงูพิษกัดเพิ่มอีก 2 คน รุ่งขึ้นวันที่ 19 มิถุนายน งูพิษได้กัดชาวบ้านที่เป็นชายอายุ 50 ปีเพิ่มอีก 1 คน และถัดมาวันที่ 20 มิถุนายน ชาวบ้านที่เป็นหญิงอายุ 30 ปี อีกคนหนึ่งก็เพิ่งถูกงูพิษกัด
เป็นที่รับรู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่าในจังหวัดกั้นบะลู ของภาคสะกาย เป็นพื้นที่ซึ่งมีงูพิษชุกชุมมาก การพบงูพิษในเขตป่าแถบนี้จึงเป็นเรื่องปกติ โดยงูพิษที่พบมาก คือ งูเห่า และงูแมวเซา
หลังเกิดการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน (PDF) ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาของสมาชิกพรรค NLD มีบ้านเรือนหรือชุมชนหลายแห่งถูกโจมตีจนได้รับความเสียหาย ชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านต้องพากันอพยพหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่า กลุ่มกิจกรรม จูนหล่ะ-กั้นบะลู ให้ข้อมูลว่าจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ลี้ภัยที่หลบไปตั้งค่ายพักอาศัยในป่าเขตจังหวัดกั้นบะลู มีมากถึงกว่า 50,000 คนแล้ว
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ชาวบ้านผู้อพยพเหล่านี้ กำลังเผชิญวิกฤตที่ซ้ำซ้อน เพราะนอกจากต้องละทิ้งบ้านเรือนเข้าไปหลบอาศัยอยู่ในป่าที่มีงูพิษชุกชุมแล้ว พวกเขายังขาดแคลนเซรุ่มแก้พิษงู และขาดแคลนหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัด เมื่อมีผู้เคราะห์ร้ายถูกงูกัดขึ้นมาแต่ละครั้ง ความช่วยเหลือที่ได้รับจึงเป็นแบบตามมีตามเกิด เซรุ่มที่มีเหลืออยู่ 1 โดส ต้องแบ่งใช้สำหรับผู้ที่ถูกงูพิษกัดเฉลี่ย 4 คน
กลุ่มกิจกรรม จูนหล่ะ-กั้นบะลู ได้เรียกร้องไปยังกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ให้เร่งส่งความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเซรุ่มแก้พิษงู หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาผู้ที่ถูกงูพิษกัด เข้ามายังค่ายที่ผู้อพยพเหล่านี้พักอาศัยอยู่โดยด่วน.