xs
xsm
sm
md
lg

ไม่อยู่แล้ว! โรฮิงญาในบังกลาเทศรวมตัวประท้วง ร้องขอกลับพม่าให้พ้นจากค่ายลี้ภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนในบังกลาเทศรวมตัวประท้วงวันนี้ (8) เรียกร้องขอให้ส่งตัวกลับพม่า เพื่อที่พวกเขาจะได้ออกจากค่ายลี้ภัยที่ทรุดโทรม ที่พวกเขาอาศัยอยู่ตั้งแต่หลบหนีการปราบปรามของทหารในบ้านเกิดของพวกเขาในปี 2560

ชาวโรฮิงญามากกว่า 1 ล้านคน อาศัยอยู่กันอย่างแออัดในค่ายผู้ลี้ภัยทางตอนใต้ของบังกลาเทศ โดยส่วนใหญ่หลบหนีการปราบปรามของทหารพม่าเมื่อเกือบ 6 ปีก่อน แต่มีบางส่วนอยู่ในค่ายลี้ภัยมานานกว่านั้น

ระหว่างการชุมนุมประท้วงในวันพฤหัสฯ ผู้ลี้ภัยทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ต่างโบกป้ายและร้องตะโกนคำประท้วง

“พอกันทีชีวิตแบบผู้ลี้ภัย ไม่ตรวจสอบ ไม่สัมภาษณ์ เราต้องการการส่งกลับโดยเร็วด้วยบัตรข้อมูลของ UNHCR เราต้องการกลับไปยังมาตุภูมิของเรา” ป้ายประท้วงของโรฮิงญาระบุ

“กลับพม่ากัน อย่าพยายามขวางการส่งกลับประเทศ” ป้ายประท้วงระบุ

อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น สภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย และโอกาสที่สิ้นหวังที่จะเดินทางกลับไปพม่า กำลังผลักดันให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาต้องเดินทางออกจากบังกลาเทศทางเรือเพื่อไปยังประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้ชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า มีโรฮิงญา 348 คน เสียชีวิตในทะเลเมื่อปีที่ผ่านมา

ผู้นำชุมชนชาวโรฮิงญากล่าวว่า เขากระตือรือร้นที่จะกลับพม่า แต่ต้องการให้สิทธิความเป็นพลเมืองของเขาได้รับการรับรอง

“เราเป็นพลเมืองของพม่าโดยกำเนิด เราต้องการกลับบ้านพร้อมทั้งสิทธิทั้งหมดของเรา ทั้งสัญชาติ การเคลื่อนย้ายอย่างเสรี การดำรงชีวิต ความปลอดภัย และความมั่นคง” ผู้นำชุมชนชาวโรฮิงญากล่าวกับรอยเตอร์ และระบุว่า ผู้ลี้ภัยหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากสหประชาชาติในเรื่องนี้

เมื่อไม่นานนี้ กองทัพพม่าได้แสดงท่าทีเพียงเล็กน้อยที่จะรับโรฮิงญากลับประเทศ ชนกลุ่มน้อยที่ถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุกจากต่างชาติและถูกปฏิเสธสัญชาติมานานหลายปี

ความพยายามที่จะเริ่มต้นการส่งกลับประเทศในปี 2561 และปี 2562 ล้มเหลว เนื่องจากผู้ลี้ภัยปฏิเสธที่จะเดินทางกลับ ด้วยกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี

กลุ่มชาวมุสลิมโรฮิงญา 20 คน กล่าวกับรอยเตอร์ว่าพวกเขาจะไม่เดินทางกลับพม่าเพื่อถูกกักขังอยู่ในค่ายพักอีก หลังจากเดินทางไปเยือนบ้านเกิดของพวกเขาที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องที่มีเป้าหมายส่งเสริมการกลับประเทศโดยสมัครใจ เจ้าหน้าที่บังกลาเทศกล่าวว่า โครงการนำร่องนี้คาดการณ์ว่าจะมีผู้ลี้ภัยราว 1,100 คน เดินทางกลับพม่า แต่ยังไม่มีการกำหนดวัน

บังกลาเทศระบุว่า การส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่าเป็นเพียงทางออกเดียวของวิกฤต ชุมชนท้องถิ่นรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวโรฮิงญามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเงินทุนของหน่วยงานช่วยเหลือระหว่างประเทศสำหรับผู้ลี้ภัยลดน้อยลง

โครงการอาหารโลกเพิ่งลดการจัดสรรอาหารรายเดือนเป็น 8 ดอลลาร์ต่อคน จาก 10 ดอลลาร์ก่อนหน้านี้

“สถานการณ์ของเรามีแต่จะแย่ลง อนาคตของเราที่นี่จะเป็นอย่างไร? คำว่าการพิสูจน์ตรวจสอบ พวกเขา (พม่า) แค่ฆ่าเวลาเท่านั้น” ผู้ลี้ภัยรายหนึ่งกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น